สำหรับบุคคลจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นเก่า เป้าหมายสูงสุดในชีวิตการทำงานคือการได้งาน ‘อันทรงเกียรติ’ อันมาจากการได้รับยกย่องว่ามีอิทธิพลในสังคม และที่สำคัญคือมีรายได้สูง เช่น การเงิน การให้คำปรึกษา กฎหมาย และการแพทย์
แต่ตอนนี้ Gen Z กำลังเริ่มนิยามความหมายของคำว่า ‘มีเกียรติ’ ในบริบทของการทำงานยุคใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘ดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศ’ ป่วนหนัก! ‘เครดิต สวิส’ เชื่อคน Gen Z สร้างความมั่งคั่งได้ยากขึ้นเมื่อเทียบกับ 3 Gen ก่อนหน้า
- Gen Z ‘ไม่กลัว’ ที่จะออกมาพูดต่อต้านความอยุติธรรมในที่ทำงาน แม้สุดท้ายจะ ‘ตกงาน’ ก็ตาม เทรนด์ที่กำลังเขย่าวัฒนธรรมการทำงานของจีน
- ‘เลิกบ่าย 3 โมงในวันศุกร์’ ข้อเสนอใหม่จากบริษัทในสหราชอาณาจักรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดึงดูดพนักงาน Gen Z
ตัวอย่างความคิดของคนในยุคก่อนๆ คือ Molly Johnson-Jones หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอันทรงเกียรติในปี 2015 เธอก็รู้สึกกดดันที่จะต้องเข้าสู่การทำงานที่ ‘มีหน้ามีตา’ เช่นเดียวกับเพื่อนๆ หลายคน สิ่งนี้ทำให้เธอใช้เวลา 2 ปีในธุรกิจวาณิชธนกิจ อย่างไรก็ตาม เธอค้นพบอย่างรวดเร็วว่าเส้นทางนี้ไม่เหมาะกับเธอเสียทีเดียว
Jonah Stillman ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา GenGuru ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความแตกต่างระหว่างวัยในที่ทำงาน พบว่าแนวคิดของงานที่ ‘มีเกียรติ’ ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมนั้นเป็นความรู้สึกที่ฝังแน่นในสังคมของเรามาเป็นเวลานาน
มุมมองนี้มักได้รับการส่งเสริมภายในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา และยังได้รับอิทธิพลจากแรงกดดันจากภายนอก เช่น ความคาดหวังของสมาชิกในครอบครัว หรือคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านอาชีพในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย
แต่ในขณะที่ Gen Z เริ่มเข้าสู่โลกของการทำงาน มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามุมมองของคนยุคนี้เกี่ยวกับงานอันทรงเกียรติกำลังเปลี่ยนไปอย่างมาก ในขณะที่บางคนในยุคนี้ยังคงถูกล่อลวงด้วยรายได้สูงที่เกี่ยวข้องกับงานอันทรงเกียรติแบบดั้งเดิม แต่คนอื่นๆ หลายคนมองข้ามเงินเดือน พวกเขาเริ่มให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ค่านิยมของบริษัท ความยืดหยุ่น และความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตที่ดี
Danielle Farage ซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษา ได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ในมุมมองโดยตรงในหมู่เพื่อนของเธอ เธอสังเกตเห็นว่าในขณะที่คนรุ่นราวคราวเดียวกับเธอหลายคนยังคงหลงใหลในเส้นทางสู่ความมีเกียรติแบบดั้งเดิม แต่ผู้คนจำนวนมากขึ้นกำลังนิยามความหมายใหม่สำหรับพวกเขา ผ่านการมองหางานที่ยกระดับชีวิตของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญ
แนวโน้มนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเล็กๆ ข้อมูลจากการสำรวจ LinkedIn ในปี 2023 ของพนักงานทั่วโลกมากกว่า 7,000 คนแสดงให้เห็นว่า 64% ของพนักงาน Gen Z ในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และไอร์แลนด์ เชื่อว่าการทำงานในบริษัทที่สอดคล้องกับค่านิยมของพวกเขาเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ พนักงานรุ่นใหม่เหล่านี้ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและการเติบโตในสายอาชีพ เมื่อพิจารณาถึงสถานที่ทำงานที่มีศักยภาพ
Josh Graff จาก LinkedIn กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดจากทัศนคติที่พัฒนาขึ้นเท่านั้น แต่วิธีที่เราหางานก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะเมื่อมีการโฆษณางานทางออนไลน์มากขึ้น ผู้คนมองเห็นและเข้าถึงบทบาทที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้พวกเขาเห็นตัวเลือกที่หลากหลายของอาชีพที่ไม่ได้จำกัดแต่เรื่องเดิมๆ
ที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงในมุมมองนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะ Gen Z เท่านั้น คนรุ่นมิลเลนเนียลอย่าง Molly Johnson-Jones ซึ่งครั้งหนึ่งเคยยึดถือคำนิยามของศักดิ์ศรีแบบดั้งเดิม ก็เริ่มนิยามใหม่ว่าการมีงานที่มีเกียรติหมายความว่าอย่างไร
หลังออกจากงานวาณิชธนกิจ เธอได้ก่อตั้ง Flexa Careers ซึ่งรวบรวมบริษัทที่ทำงานแบบยืดหยุ่น ตอนนี้เธอเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวที่กำลังเติบโต ซึ่งมองว่างานชั้นยอดเป็นงานที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น แทนที่จะเสนอตำแหน่งอันทรงเกียรติและค่าตอบแทนสูง
ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าปัจจุบันแต่ละคนกำลังให้ความสำคัญกับการก้าวไปสู่โลกที่ตอบสนองค่านิยมส่วนตัว ความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และความหลงใหล มากกว่าการวัดความสำเร็จแบบเดิมๆ
อ้างอิง: