×

ทำไมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินมหาศาลสู้โควิด-19 อาจไม่ได้ผล

09.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ช่วงวิกฤตโควิด-19 หลายประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงินสูงกว่า 10% ของ GDP ในส่วนของไทยมีทั้งแจกเงิน 5,000 บาทต่อเดือน ฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องวงเงิน 1 ล้านล้านบาท
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลายประเทศออกมามีทั้งมาตรการทางการคลัง เน้นช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนและธุรกิจ รวมถึงทุกภาคส่วนมีรายได้ หลายประเทศแจกเงินให้เปล่า เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ 
  • ส่วนมาตรการการเงินจะเน้นไปที่การเสริมสภาพคล่อง ทั้งการอัดฉีดเงินเข้าระบบ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เกือบทุกประเทศอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านธนาคารกลาง

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ทั้งทั่วโลกและไทยยังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อเศรษฐกิจและรายได้ของคนในประเทศลดลง ทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางหลายประเทศออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินมหาศาลเพื่อมาบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น 

 

แต่มาตรการที่ออกมาเป็นแบบไหน และจะช่วยเศรษฐกิจโลกรวมถึงไทยได้จริงหรือ?

 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการเงิน-การคลังมีแบบไหนบ้าง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ผลกระทบของโควิด-19 ส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศชะงักงัน เริ่มที่รายได้ของภาคธุรกิจลดลงอย่างมาก กระทบต่อเนื่องไปที่การจ้างงาน รายได้ของครัวเรือนลดลง ขณะที่ภาคตลาดทุนมีความผันผวน โดยดัชนีหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงตามความเสี่ยงและความเชื่อมั่นที่ลดลง 

 

ทั้งนี้มาตรการที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมีทั้ง ‘มาตรการทางการคลัง’ ซึ่งเน้นไปที่การช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนและธุรกิจ รวมถึงการประคองให้ครัวเรือน ภาคธุรกิจยังมีรายได้ เช่น

  • มาตรการเงินอุดหนุนค่าจ้าง (Job Retention Scheme) ซึ่งรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายค่าจ้างให้บริษัทฯ เพื่อไม่ต้องปลดคนงาน จึงสามารถช่วยลดผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ครัวเรือนได้ตรงจุด 
  • มาตรการให้เงินเปล่า (Cash Handout) เป็นมาตรการที่ต้องใช้งบประมาณขนาดใหญ่ และกลุ่มเป้าหมายบางรายอาจมีความจำเป็นน้อยที่ต้องได้รับเงินแต่ก็เห็นเกือบทุกประเทศออกมาใช้ในระดับที่ต่างกัน

 

ส่วน ‘มาตรการทางการเงิน’ จะเน้นไปที่การเสริมสภาพคล่อง และเป็นมาตรการที่มักใช้ในช่วงวิกฤต โดยการอัดฉีดสภาพคล่องสู่ตลาดเงินผ่านการเช่าซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ต่างๆ รวมถึงการทำธุรกรรมซื้อคืนของธนาคารกลาง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่องที่อาจเกิดขึ้น โดยเกือบทุกประเทศมีมาตรการฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

นอกจากนี้มาตรการการเงินยังมีหลายแบบ เช่น

  • การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 
  • การผ่อนปรนภาระหนี้สิน

 

ดังนั้นหลายประเทศจะให้ความสำคัญกับ ‘มาตรการทางการคลัง’ เพราะจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้กว้างกว่า และทำได้เร็วกว่ามาตรการทางการเงิน  

 

 

ไทย-ต่างประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไหน

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 หลายประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงินสูงกว่า 10% ของ GDP 

 

ในส่วนประเทศไทยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถึง 3 ระยะ เช่น 

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องวงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยให้ธนาคารพาณิชย์เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (สินทรัพย์คุณภาพดี) และให้ธนาคารพาณิชย์สามารถนำหน่วยลงทุนเหล่านี้มาเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องกับ ธปท.
  • การสนับสนุนเงินคนละ 5,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน สำหรับแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม

 

ขณะที่ทางสหรัฐฯ มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการคลังและการเงิน ได้แก่ 

  • ธนาคารกลางสหรัฐมีการปล่อยสินเชื่อระยะสั้นแก่ธนาคารพาณิชย์ผ่านการทำ Reverse Repo Operations มูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์
  • การซื้อพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรเอกชน รวมถึง Mortgage-backed Securities กว่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์
  • การให้เงินช่วยเหลือพลเมืองชาวอเมริกันที่มีรายได้ปี 2562 ต่ำกว่า 75,000 ดอลลาร์ คนละ 1,200 ดอลลาร์ และสำหรับครอบครัวที่มีบุตรจะเพิ่มเงินให้ครอบครัวละ 500 ดอลลาร์ต่อบุตร 1 คน

 

ด้านประเทศสิงคโปร์ ให้พลเมืองชาวสิงคโปร์คนละ 300-900 ดอลลาร์สิงคโปร์ ด้านแรงงานรายได้น้อยได้เพิ่มอีกคนละ 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนแรงงานอาชีพอิสระคนละ 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็นเวลา 9 เดือน

 

ด้านเกาหลีใต้ให้เงินครอบครัวละ 1 ล้านวอน (ราว 820 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยประชาชนทุกครัวเรือน ทุกครอบครัวจะได้รับเงินช่วยเหลือก้อนนี้ ยกเว้นกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 30% ของประเทศ

 

ฝั่งธนาคารกลางอังกฤษ ปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์มูลค่า 3 แสนล้านปอนด์ และเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรเอกชนอีก 2 แสนล้านปอนด์

 

 

ทำไมวงเงินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาลอาจช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยไม่ได้

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวบรวมจากหลายประเทศยังเป็นเพียง ‘วงเงิน’ ที่ทางการระบุว่าจะใช้ แต่บางมาตรการยังไม่ได้เปิดใช้หรืออัดฉีดจริง ดังนั้นการใช้เม็ดเงินจริงอาจต่ำกว่าวงเงินที่ระบุไว้ก็ได้

 

สาเหตุเพราะส่วนหนึ่งเป็นเพียงการรับรองการปล่อยกู้ (Loan Garantees) ซึ่งอาจไม่ได้ใช้จริงทั้งหมด ขณะที่มาตรการทางการเงินมักมีวงเงินค่อนข้างสูง เพราะฐานสินทรัพย์ทางการในระบบเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถตีความผลลัพธ์ของมาตรการกระตุ้นเพียงตัวเลขได้

 

ดังนั้นจำนวนวงเงินอาจไม่ได้สะท้อนถึงประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแก้ปัญหาได้ตรงจุดและการนำออกมาใช้ทันเวลา ให้สอดคล้องกับระยะเวลาและความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมไปถึงปัจจัยพื้นฐานของแต่ละประเทศเอง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising