×

ทำไมเดโมแครตอยากทำลายขนบ ปฏิรูปปฏิทินเลือกตั้งขั้นต้นในการเฟ้นหาตัวแทนชิงชัยประธานาธิบดีสหรัฐฯ

10.02.2023
  • LOADING...
Democratic Party

HIGHLIGHTS

3 MIN READ
  • ในอดีต รัฐไอโอวาและนิวแฮมป์เชอร์จะเป็นสองมลรัฐแรกที่พรรคเดโมแครตจัดการเลือกตั้งขั้นต้น เพื่อเฟ้นหาตัวแทนพรรคลงชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดีเสมอ แต่ในสมัย โจ ไบเดน ขนบนี้อาจถูกทำลายลง และแทนที่ด้วยปฏิทินการเลือกตั้งขั้นต้นใหม่ที่จะให้เริ่มจากมลรัฐทางใต้อย่างเซาท์แคโรไลนาก่อน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มีเหตุผลอะไรน่าสนใจซ่อนอยู่

ระบบการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาน่าจะเรียกได้ว่าเป็นระบบที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในโลก เพราะประชาชนชาวอเมริกันมีสิทธิในการเลือกตั้ง ตั้งแต่การเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Election) เพื่อหาผู้แทนพรรคไปลงชิงชัยในการเลือกตั้งทั่วไป (General Election) ต่างจากประเทศส่วนใหญ่ในโลก (รวมถึงประเทศไทย) ที่ผู้มีอำนาจในพรรคหรือนายทุนของพรรคมักจะเป็นผู้มีสิทธิในการเลือกผู้สมัครของพรรคโดยไม่จำเป็นต้องฟังเสียงของประชาชน ซึ่งการเลือกตั้งขั้นต้นที่เข้มข้นที่สุดก็คือ การเสาะหาผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้แทนพรรคในการลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีนั่นเอง 

 

พัฒนาการของการเลือกตั้งขั้นต้น

ระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกานั้นมีวิวัฒนาการมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่ผ่านไป แต่เดิมนั้นสิทธิในการเลือกผู้แทนพรรคอยู่ที่การโหวตของผู้มีอำนาจในพรรค (ที่เรียกว่า Delegate) จุดเปลี่ยนของระบบการเลือกผู้แทนพรรคมาเป็นแบบการเลือกตั้งขั้นต้นถือกำเนิดขึ้นจากความขัดแย้งภายในของพรรคเดโมแครตในการสรรหาผู้แทนพรรคเพื่อลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1968

 

ในปีนั้นการเลือกผู้แทนของพรรคยังเป็นระบบเดิมอยู่ กล่าวคืออำนาจในการโหวตอยู่ที่ Delegate ของพรรคเท่านั้น ถึงแม้ว่าในตอนนั้นจะเริ่มมีการเลือกตั้งขั้นต้นในบางมลรัฐแล้วก็ตาม แต่ Delegate ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องโหวตตามผลการเลือกตั้งของประชาชนเลย

 

ในปี 1968 พรรคเดโมแครตยังครอบครองทำเนียบขาวอยู่โดยประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน แต่อย่างไรก็ดี คะแนนนิยมของจอห์นสันตกต่ำลงอย่างมากจากกรณีสงครามเวียดนามที่คร่าชีวิตชายชาวอเมริกันไปหลายหมื่นคน ทำให้เขาตัดสินใจที่จะไม่ลงเลือกตั้งอีกสมัย และหันมาให้การสนับสนุนรองประธานาธิบดีของเขาอย่าง ฮูเบิร์ต ฮัมฟรีย์ แทน โดยที่คู่แข่งคนสำคัญของฮัมฟรีย์ในการชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคก็คือ ส.ว. สายต่อต้านสงครามอย่าง ยูจีน แมคคาร์ธี

 

แมคคาร์ธีชนะการเลือกตั้งขั้นต้นในมลรัฐส่วนใหญ่ที่จัดการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายแล้วฮัมฟรีย์ก็ได้เป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตอยู่ดี เพราะ Delegate ไม่จำเป็นต้องโหวตตามเสียงของประชาชน และการที่แมคคาร์ธีไม่ได้เป็นผู้แทนของพรรคนี่เองก็ทำให้เกิดความแตกแยกอย่างหนักในพรรค เพราะฐานเสียงคนหนุ่มสาวของพรรคที่เป็นสายต่อต้านสงครามโกรธแค้นผู้มีอำนาจในพรรคอย่างมาก จนนำไปสู่การจลาจลในการประชุมใหญ่ของพรรค ณ มหานครชิคาโก และนำไปสู่การพ่ายแพ้เลือกตั้งทั่วไปต่อผู้แทนของพรรครีพับลิกันอย่าง ริชาร์ด นิกสัน ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน

 

การพ่ายแพ้เลือกตั้งต่อนิกสันและแรงกดดันจากคนหนุ่มสาวในพรรค ทำให้พรรคเดโมแครตตระหนักได้ว่า การเลือกผู้แทนพรรคโดยไม่อ้างอิงเสียงจากประชาชนจะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรค และฐานเสียงของพรรคได้อีกในอนาคต ทำให้พรรคตัดสินใจปฏิรูปตัวเองด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งขั้นต้นในทั้ง 50 มลรัฐ และบังคับ Delegate ว่าจะต้องโหวตให้ตามสัดส่วนที่ผู้สมัครแต่ละคนได้คะแนนจากการเลือกตั้งขั้นต้นในมลรัฐของตนเอง (ซึ่งพรรครีพับลิกันก็ได้นำหลักการนี้ไปใช้กับพรรคของตัวเองด้วยในเวลาถัดมา)

 

ไอโอวาและนิวแฮมป์เชอร์

หลังการปฏิรูปการเลือกตั้งขั้นต้นในปี 1968 นักการเมืองของพรรคเดโมแครตส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีใครตระหนักว่าลำดับในการเลือกตั้งจะมีความสำคัญเช่นไร และไม่ได้มีมลรัฐไหนพยายามที่จะล็อบบี้เพื่อที่ตัวเองจะได้เป็นมลรัฐต้นๆ ในปฏิทินการเลือกตั้ง และนั่นก็ทำให้สองมลรัฐเล็กๆ อย่างไอโอวาและนิวแฮมป์เชอร์ได้เป็นสองมลรัฐแรกที่ได้จัดการเลือกตั้งก่อนใคร

 

บุคคลที่เห็นถึงความสำคัญของไอโอวาเป็นคนแรกๆ คือ จิมมี คาร์เตอร์ ซึ่งในขณะนั้นเขาเป็นเพียงผู้ว่าการรัฐโนเนมที่ไม่มีใครรู้จักเลย นอกจากในมลรัฐจอร์เจียของตัวเอง

 

คาร์เตอร์อ่านเกมออกว่า ถ้าเขาสามารถเอาชนะที่สนามเลือกตั้งแรกอย่างไอโอวาได้ สื่อมวลชนก็จะหันมาให้ความสนใจเขา และเขาจะกลายเป็นดาวดังในระดับประเทศได้โดยที่ไม่ต้องเสียเงินค่าโฆษณาแพงๆ ซึ่งแผนที่คาร์เตอร์วางไว้นั้นได้ผล เขาชนะอย่างเด็ดขาดที่ไอโอวา และชนะต่อเนื่องที่นิวแฮมป์เชอร์ในเวลาต่อมา ทำให้คาร์เตอร์กลายเป็นดาวดังของพรรค กลายเป็นตัวเต็งในสายตาสื่อมวลชน จนเขาชนะการเลือกตั้งในอีก 28 มลรัฐ จนได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในเวลาต่อมา

 

ความสำเร็จของคาร์เตอร์ทำให้ไอโอวาและนิวแฮมป์เชอร์กลายเป็นสองสนามเลือกตั้งสุดสำคัญในเวลาต่อมา ที่กลายเป็นเหมือนเครื่องสกรีนว่านักการเมืองคนไหนจะได้ไปต่อในการเลือกตั้งอีก 48 มลรัฐที่เหลือ กล่าวคือผู้สมัครที่ได้คะแนนนิยมน้อยนิดในสองมลรัฐนี้ก็มักจะถูกกดดันให้ถอนตัวก่อนการเลือกตั้งในมลรัฐถัดไป และในทางตรงข้าม นักการเมืองที่ชนะที่ไอโอวาหรือนิวแฮมป์เชอร์ก็มักจะได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘ของจริง’ ที่มีโอกาสจะได้เป็นผู้แทนพรรคจริงๆ ไม่ใช่แค่ไม้ประดับ

 

ตัวอย่างของความสำคัญของไอโอวาในยุคปัจจุบันหน่อยก็คือชัยชนะของ บารัก โอบามา ในปี 2008 ในการเลือกตั้งขั้นต้นในปีนั้น แต่เดิมเลยสื่อมวลชนมองว่าโอบามาเป็นแค่ไม้ประดับ เพราะทุกคนมองว่า ฮิลลารี คลินตัน นั้นแข็งแกร่งเกินกว่าที่ใครในพรรคจะมาแข่งกับเธอได้ แต่โอบามาก็พิสูจน์ตัวเองด้วยการเอาชนะคลินตันที่ไอโอวา ทำให้สื่อมวลชนมองว่าเขาคือของจริง ผู้คนหันมาให้ความสนใจตัวเขาอย่างจริงจัง จนทำให้เขาสามารถเอาชนะคลินตันได้ที่มลรัฐอื่นๆ อีกกว่า 30 มลรัฐ และได้เป็นผู้แทนพรรคในเวลาต่อมา

 

ขาวเกินไป

ด้วยความที่ผลการเลือกตั้งที่ไอโอวาและนิวแฮมป์เชอร์นั้นมีความสำคัญต่อการเลือกผู้แทนของพรรคในการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างมาก ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นของทั้งสองมลรัฐได้รับความสนใจ และได้รับผลประโยชน์จากการที่ผู้สมัครคนต่างๆ พยายามจะขอการสนับสนุนจากพวกเขาในการรณรงค์หาเสียง นั่นก็ทำให้นักการเมืองของทั้งสองมลรัฐพยายามจะทำทุกวิถีทางที่จะรักษาสถานะของตัวเองไว้ (มลรัฐนิวแฮมป์เชอร์ถึงกับระบุสถานะนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญของมลรัฐ)

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีเสียงวิจารณ์อย่างหนักจากสมาชิกพรรคเดโมแครตว่า การให้ไอโอวาและนิวแฮมป์เชอร์เป็นสองมลรัฐแรกนั้นเป็นเรื่องที่ไม่แฟร์ เพราะทั้งสองมลรัฐเป็นมลรัฐที่เต็มไปด้วยคนขาว (เกิน 95% เป็นคนขาว) ซึ่งนั่นก็แปลว่าผู้สมัครจำนวนมากจะถูกคัดเลือกออกไปก่อนที่คนดำ (ผู้ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของพรรคเดโมแครต) จะมีโอกาสได้โหวต 

 

ซึ่งในที่สุดประธานาธิบดีคนปัจจุบันของพรรคเดโมแครตอย่าง โจ ไบเดน และผู้นำพรรคอย่าง เจมี แฮร์ริสัน ก็ได้ร่วมกันปฏิรูปปฏิทินการเลือกตั้งเสียใหม่ โดยเริ่มการเลือกตั้งขั้นต้นที่มลรัฐทางภาคใต้ที่มีประชากรผิวดำจำนวนมากอย่างเซาท์แคโรไลนาก่อน ตามมาด้วย เนวาดา, นิวแฮมป์เชอร์, จอร์เจีย และมิชิแกนตามลำดับ

 

อุปสรรคต่อการปฏิรูปยังมีอีกมาก

แน่นอนว่านักการเมืองของพรรคเดโมแครตจากไอโอวาและนิวแฮมป์เชอร์ย่อมไม่พอใจต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ โดยเฉพาะที่นิวแฮมป์เชอร์ที่รัฐธรรมนูญของมลรัฐระบุไว้ว่า พวกเขาต้องเลือกตั้งแบบไพรมารีก่อนใคร (แต่เลือกตั้งหลังไอโอวาได้ เพราะการเลือกตั้งขั้นต้นที่ไอโอวาเป็นการเลือกตั้งแบบการมาประชุมกัน หรือที่เรียกว่า ‘คอคัส’) นักการเมืองท้องถิ่นของพรรคเดโมแครตที่นิวแฮมป์เชอร์ถึงกับขู่ว่า การเปลี่ยนแปลงปฏิทินแบบพลการแบบนี้อาจจะทำให้ประชาชนในมลรัฐโกรธพรรค และคิดว่าพรรคไม่สนใจพวกเขา และอาจทำให้ไบเดนแพ้ที่มลรัฐนี้ในปี 2024

 

อีกอุปสรรคก็คือมลรัฐจอร์เจีย ที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาท้องถิ่นอยู่นั้น ผู้นำของพรรคก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาจะไม่อำนวยความสะดวกให้พรรคเดโมแครตด้วยการเลื่อนปฏิทินการเลือกตั้งตามที่ไบเดนร้องขอ 

 

ผลสรุปจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป

 

ภาพ: Paul Hennessy / Anadolu Agency via Getty Images

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising