×

‘เกมยาวสงครามยูเครน’ ทำไมปูตินเลือกนักเศรษฐศาสตร์เป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่?

14.05.2024
  • LOADING...
ปูติน รัสเซีย

ท่ามกลางสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี เกิดความเคลื่อนไหวที่น่าประหลาดใจ เมื่อรัฐบาลเครมลินประกาศเตรียมเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยย้าย เซอร์เก ชอยกู พันธมิตรใกล้ชิดของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2012 ไปเป็นเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคง และให้ อังเดร เบลูซอฟ ซึ่งก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 เป็นรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียคนใหม่ 

 

โดยหากมองผิวเผินจากประวัติของเบลูซอฟ ซึ่งเป็นพลเรือนและมีความเชี่ยวชาญหลักคือด้านเศรษฐศาสตร์ คงน่าสงสัยไม่น้อยว่าทำไมปูตินจึงเลือกให้เขามาทำหน้าที่ผู้กุมบังเหียนกองทัพในภาวะสงครามที่ยังคงดุเดือด และเริ่มเป็นทัพรัสเซียที่กลับมาชิงความได้เปรียบในสมรภูมิหลายจุด

 

รัสเซียพร้อม ‘เล่นเกมยาว’

 

เบลูซอฟ ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ระดับเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอสโก ไม่มีพื้นฐานหรือประสบการณ์ในงานบัญชาการทางทหารมาก่อน 

 

เขาเคยดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ และได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีลำดับที่หนึ่งของรัสเซียในปี 2020 ซึ่งมีหน้าที่หลักคือ กำกับดูแลนโยบายการเงิน สินเชื่อ ตลาดการเงิน รวมทั้งดูแลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัสเซีย ประสานความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาระดับชาติของรัสเซีย ตลอดจนสร้างความสำเร็จในโครงการระดับชาติต่างๆ 

 

ชุยเหิง นักวิชาการจาก China National Institute for SCO International Exchange and Judicial Cooperation ให้สัมภาษณ์กับ Global Times มองว่า การที่เครมลินตัดสินใจแต่งตั้งเบลูซอฟนั้นพิสูจน์ให้เห็นว่า รัสเซียกำลังเตรียมพร้อมที่จะ ‘เล่นเกมระยะยาว’ ในสงครามยูเครน เนื่องจากรัสเซียจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีอยู่อย่างจำกัดในการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับการทำสงครามที่ยืดเยื้อ ท่ามกลางการคว่ำบาตรจากนานาชาติ 

 

ชุยมองว่า การแต่งตั้งให้เบลูซอฟเป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ ด้วยเป้าหมายที่จะใช้ความเชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจและประสบการณ์ของเขา เป็นความต้องการของเครมลินเพื่อหาหลักประกันว่า การบัญชาการทางทหารที่มีค่าใช้จ่ายในระดับสูงนั้นจะได้รับการตอบสนอง และเพื่อให้แน่ใจว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซียจะไม่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการทางทหารในยูเครน

 

ขณะที่ ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกเครมลิน เผยต่อสื่อรัสเซียว่า การตัดสินใจแต่งตั้งเบลูซอฟเป็นรัฐมนตรีกลาโหมเกี่ยวโยงกับความจำเป็นในการ “ทำให้เศรษฐกิจของภาคส่วนความมั่นคงเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจประเทศ” และยืนยันว่าเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผล เนื่องจากรัสเซียกำลังเข้าใกล้สถานการณ์เช่นเดียวกับสหภาพโซเวียตในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ที่กองทัพและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายมีส่วนรับผิดชอบต่อตัวเลข GDP ของประเทศกว่า 7.4%

 

เขามั่นใจว่าการแต่งตั้งเบลูซอฟ “จะไม่เปลี่ยนแปลงระบบประสานงานของรัฐบาลรัสเซียในปัจจุบันแต่อย่างใด” โดยเฉพาะในแง่ของการป้องกันประเทศ

 

ด้าน หยางจิน นักวิจัยจากสถาบันรัสเซีย ยุโรปตะวันออก และเอเชียกลางศึกษา แห่งสถาบันสังคมศาสตร์จีน ให้สัมภาษณ์ Global Times โดยชี้ว่า ตอนนี้รัสเซียตระหนักดีว่าไม่สามารถที่จะพึ่งพามาตรการทางทหารเพียงอย่างเดียวในการเอาชนะสงครามยูเครน แต่สิ่งจำเป็นคือหลักประกันในการพัฒนาที่ยั่งยืนและสภาพสังคมภายในประเทศที่มีเสถียรภาพและความมั่นคงด้วย

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางคนยังมองว่า การที่เครมลินเลือกเบลูซอฟ เพราะเขาเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ช่วยให้รัสเซียสามารถเอาชนะความยากลำบากที่เกิดจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกได้สำเร็จ และตระหนักดีถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนับตั้งแต่ที่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

 

หวังเสี่ยวฉวน ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันรัสเซีย ยุโรปตะวันออก และเอเชียกลางศึกษา แห่งสถาบันสังคมศาสตร์จีน มองว่า ในอนาคต รัสเซียจะพยายามรวมเป้าหมายทางทหารเข้ากับความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจสนับสนุนปฏิบัติการทางทหาร และเพื่อให้ปฏิบัติการทางทหารเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาและขับเคลื่อนการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

 

“นี่อาจกลายเป็นเศรษฐกิจในช่วงสงครามแบบพิเศษสำหรับรัสเซีย ภายใต้สถานการณ์สงครามแบบลูกผสม” เขากล่าว

 

ความต้องการ ‘นวัตกรรม’

 

สถานการณ์สู้รบตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏข่าวกองทัพรัสเซียสามารถรุกคืบและยึดพื้นที่ในสมรภูมิทางตะวันออกของยูเครนได้มากขึ้น โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังมีการเปิดฉากการจู่โจมระลอกใหม่ในแคว้นคาร์คีฟ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครนด้วย

 

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นและการเร่งชิงพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เชื่อว่าเป็นความพยายามของกองทัพรัสเซียเพื่อรักษาความได้เปรียบ ก่อนที่สหรัฐฯ จะส่งมอบอาวุธและความช่วยเหลือทางทหารรอบใหม่ให้แก่ยูเครน หลังจากที่ขาดหายไปพักใหญ่

 

โดยหากพิจารณาถึงความเหมาะสมและข้อเท็จจริงของสถานการณ์ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในสงคราม ก็ค่อนข้างมีเหตุผลที่ปูติน จะเลือกเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่แทนที่ชอยกู ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีผลงานดีมากนัก

 

นักวิเคราะห์มองว่า การรุกคืบของรัสเซียในยูเครนอาจกระตุ้นให้ปูตินตัดสินใจเปลี่ยนแปลงในตอนนี้ 

 

ขณะที่เครมลินยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับตัวและการพัฒนา และมองว่าสิ่งสำคัญที่อาจเป็นตัวชี้วัดสงครามยูเครนได้คือ ‘นวัตกรรม’

 

“ในสนามรบทุกวันนี้ ผู้ชนะคือผู้ที่เปิดกว้างต่อนวัตกรรมมากกว่า ดังนั้นในสภาวะตอนนี้ ประธานาธิบดีปูตินจึงตัดสินใจให้พลเรือนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” สำนักข่าว TASS รายงานคำกล่าวของเปสคอฟ

 

ที่ผ่านมา หนึ่งในงานของเบลูซอฟที่ดูจะเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมสำหรับการทำสงครามคือ การช่วยก่อตั้งโครงการพัฒนาโดรนของประเทศ 

 

โดยตั้งแต่ปี 2022 เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลการพัฒนาเทคโนโลยีขนส่งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและระบบควบคุมอัจฉริยะ

 

ขณะที่เขายังมองเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับอนาคต โดยข้อมูลสื่อรัสเซียอย่าง RBC พบว่า ในปี 2017 เบลูซอฟเป็นหนึ่งในผู้ที่โน้มน้าวให้ปูตินมองเห็นถึงความจำเป็นของเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชน 

 

อย่างไรก็ตาม ทาเทียนา สตาโนวายา นักวิเคราะห์ของ Carnegie Russia Eurasia Center ให้ความเห็นกับ CNBC โดยเชื่อว่า เบลูซอฟน่าจะแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบัญชาการยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ทางการทหารของรัสเซียในยูเครนไม่ว่าในกรณีใดๆ

 

โดยเธอมองว่า งานดังกล่าวส่วนใหญ่จะอยู่ในความรับผิดชอบของ พล.อ.อาวุโส วาเลอรี เกราซีมอฟ เสนาธิการใหญ่กองทัพรัสเซีย 

 

“ก่อนอื่นเลยเบลูซอฟจะไม่บริหารจัดการการสู้รบทางทหาร เขาจะไม่มีส่วนร่วมในการวางแผนยุทธวิธีทางทหาร เป้าหมายหลักของเบลูซอฟคือการรักษาสิ่งจำเป็นทางทหาร ในแง่ของอาวุธ นี่เป็นแรงจูงใจหลักสำหรับปูตินในการตัดสินใจเรื่องบุคลากร” เธอกล่าว และชี้ว่า “เบลูซอฟนั้นมีความกระตือรือร้นในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการทหารในอุตสาหกรรมการทหาร ปูตินจึงคิดว่า หากเขาแต่งตั้งเบลูซอฟเป็นรัฐมนตรีกลาโหม เขาจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นในแง่ของการจัดหาอาวุธให้กับกองทัพ ในแง่นี้การแต่งตั้งจึงไม่น่าแปลกใจ”

 

ทำไมชอยกูต้องพ้นจากตำแหน่ง?

 

ตำแหน่งใหม่ของชอยกูคือ เลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งยังเป็นตำแหน่งที่มีอิทธิพล แต่จะได้รับบทบาทที่แตกต่างออกไป

 

การโยกย้ายชอยกูนั้นเชื่อว่ามีสาเหตุจากหลายปัจจัย เขาไม่มีประสบการณ์ทางทหารมาก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในปี 2012 ขณะที่ผลงานของเขาถูกทดสอบในภารกิจสงครามยูเครน ซึ่งมักตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญทางทหาร ตลอดจน เยฟเกนี ปริโกชิน หัวหน้ากลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ ที่มองว่า ยุทธศาสตร์และความเป็นผู้นำทางการทหารของชอยกูนั้นมักจะนำมาซึ่งความเสียหายและความพ่ายแพ้

 

ความไม่พอใจต่อการทำหน้าที่ของชอยกูนั้นรุนแรงถึงขั้นทำให้ปริโกซินและกลุ่มวากเนอร์นำกำลังทหารรับจ้างที่ร่วมรบในยูเครน ข้ามชายแดนกลับมาก่อกบฏเมื่อกลางปีที่แล้ว ก่อนที่ปริโกซินจะยอมยุติความบาดหมาง และท้ายที่สุดต้องเสียชีวิตเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วในอุบัติเหตุเครื่องบินตก 

 

ขณะที่สตาโนวายามองว่า ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่อาจมีอิทธิพลต่อการที่ปูตินตัดสินใจโยกย้ายชอยกูคือ ข้อเท็จจริงที่ว่าชอยกูเริ่มไม่เป็นที่นิยมในกองทัพมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับในหมู่ผู้ประกอบการของอุตสาหกรรมการทหารรัสเซีย จากการที่ให้ความเห็นออกสื่อและตำหนิบริษัทผู้ผลิตอาวุธเกี่ยวกับการผลิตที่ล่าช้า

 

“ชอยกูบ่นมากมายเกี่ยวกับวิธีที่กองทัพผลิตอาวุธ สำหรับชอยกูมันช้าเกินไปและไม่มีคุณภาพที่ดีพอ ฉันคิดว่าความจริงที่ว่ามีความไม่ลงรอยกันระหว่างกระทรวงกลาโหมกับ Rostec (กลุ่มบริษัทผลิตอาวุธที่รัฐบาลรัสเซียเป็นเจ้าของ) ทำให้ปูตินกังวล และเขาต้องการรักษาพันธมิตรที่ทำงานได้” 

 

ภาพ: Mikhail Svetlov / Getty Images

อ้างอิง:

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X