×

#แกแมสก์แล้วว่ะ ทำไมรัฐต้องบังคับสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่อออกจากบ้าน

26.04.2021
  • LOADING...
ทำไมรัฐต้องบังคับสวมหน้ากากอนามัย

HIGHLIGHTS

  • ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) วันที่ 25 เมษายน 2564 มีจังหวัดที่มีบทลงโทษกรณีประชาชนไม่ใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหสถานหรือสถานที่สาธารณะทั้งสิ้น 48 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร
  • กรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดหน้ากากอนามัยขณะประชุมที่ปรึกษาเกี่ยวกับการจัดหาและกระจายวัคซีน ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงสายของวันที่ 26 เมษายน ก็ถูกเปรียบเทียบปรับตามคำสั่งดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท แต่ความจริงแล้วการสวมหน้ากากอนามัยช่วยป้องกันการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างไร 
  • โควิด-19 ติดต่อจาก ‘ผู้ติดเชื้อ’ ไปยังอีก ‘ผู้สัมผัส’ ผ่านละอองน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ซึ่งจะกระเด็นออกไปในระยะ 1-2 เมตร จึงเป็นที่มาของการเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร ส่วนการสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า จะป้องกันทั้ง ‘ขาออก’ คือการกระเด็นของละอองระหว่างการพูด ไอ จาม และ ‘ขาเข้า’ คือการสูดหายใจเอาละอองเหล่านี้เข้าไป

#แกแมสก์แล้วว่ะ ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) วันที่ 25 เมษายน 2564 มีจังหวัดที่มีบทลงโทษกรณีประชาชนไม่ใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหสถานหรือสถานที่สาธารณะทั้งสิ้น 48 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร

 

โดยเมื่อวันที่ 25 เมษายน พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ออกคำสั่งให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า อย่างถูกต้องหรือถูกวิธีทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถานหรือสถานที่พำนัก 

 

หากฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งเป็นบทลงโทษของมาตรา 34(6) เจ้าพนักงานฯ มีอำนาจห้ามผู้ใดกระทําการหรือดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป

 

ล่าสุด วันที่ 26 เมษายน ปลัดกรุงเทพฯ ชี้แจงความสงสัยของประชาชนว่ากรณีที่อยู่ในรถ เมื่อมีบุคคลอื่นร่วมอยู่ในรถด้วยต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ไม่ยกเว้นแม้เป็นครอบครัวเดียวกัน แต่กรณีนั่งคนเดียวอนุโลมได้ว่าไม่ต้องใส่หน้ากาก หรือกรณีของผู้ประกาศข่าว/จัดรายการในสตูดิโอ ก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยด้วย

 

ยิ่งไปกว่านั้น กรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดหน้ากากอนามัยขณะประชุมที่ปรึกษาเกี่ยวกับการจัดหาและกระจายวัคซีน ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงสายของวันที่ 26 เมษายน ก็ถูกเปรียบเทียบปรับตามคำสั่งดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท แต่ความจริงแล้วการสวมหน้ากากอนามัยช่วยป้องกันการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างไร 

 

และเมื่อใดที่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย

 

ประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า

โควิด-19 ติดต่อจาก ‘ผู้ติดเชื้อ’ ไปยังอีก ‘ผู้สัมผัส’ ผ่านละอองน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ซึ่งจะกระเด็นออกไปในระยะ 1-2 เมตร จึงเป็นที่มาของการเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร ส่วนการสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า จะป้องกันทั้ง ‘ขาออก’ คือการกระเด็นของละอองระหว่างการพูด ไอ จาม และ ‘ขาเข้า’ คือการสูดหายใจเอาละอองเหล่านี้เข้าไป 

 

จากการศึกษาประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยในห้องทดลอง พบว่า

 

  • หน้ากากอนามัยสามารถป้องกัน ‘ขาออก’ ได้ 56.1% ส่วนหน้ากากผ้าป้องกันได้ 51.4% ต่ำกว่าเล็กน้อย 
  • แต่ถ้าสวมหน้ากากอนามัยทั้งคู่ คือป้องกันทั้งขาเข้าและขาออก จะสามารถป้องกันได้ 84.3%
  • ในขณะที่ถ้าสวม ‘หน้ากาก 2 ชั้น’ คือหน้ากากผ้าทับหน้ากากอนามัยจะสามารถป้องกันขาออกได้ถึง 85.4% และเมื่อสวมเช่นนี้ทั้งคู่จะป้องกันได้ 96.4%

 

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาประสิทธิภาพของการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาในสถานการณ์จริง พบว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อประมาณ 70-80% เพราะฉะนั้นทุกคนจึงควรสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่อใกล้ชิดกับผู้อื่นในระยะ 1-2 เมตร และเมื่อเข้าไปในสถานที่ปิด (หรือถอดหน้ากากอนามัยให้น้อยที่สุด) เพื่อป้องกันตนเองและผู้อื่น

 

อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ยังสามารถแพร่ผ่านทางอากาศ (Airborne) ได้ในบางกรณี เช่น ‘กิจกรรม’ ที่ทำให้เกิดละอองขนาดเล็ก เช่น การตะโกน การร้องเพลง ใน ‘สถานที่ปิด’ ซึ่งทำให้ทั้งละอองขนาดเล็กลอยอยู่ในอากาศได้นานกว่าปกติ จึงทำให้เกิดการระบาดเป็นคลัสเตอร์ เช่น สนามมวย สถานบันเทิง หรือโบสถ์ในต่างประเทศ ฯลฯ

 

คำแนะนำการสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยร่วมกับการเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 6 ฟุต (ประมาณ 2 เมตร) โดยเฉพาะภายในอาคารและใกล้ชิดกับผู้อื่นที่ไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน (สังเกตว่าจะเน้นบุคคลที่ไม่ได้อยู่ภายในครอบครัวตนเอง และสถานที่ปิดซึ่งอากาศถ่ายเทไม่สะดวก)

 

และตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา ออกคำสั่งให้ผู้โดยสารบนเครื่องบิน รถบัส รถไฟ และยานพาหนะสาธารณะอื่นๆ รวมถึงสถานีขนส่งสาธารณะ ต้องสวมหน้ากากอนามัย โดยจะต้องสวมหน้ากากอนามัยให้คลุมทั้งจมูกและปาก และจะช่วยป้องกัน ‘ขาเข้า’ ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการหรือยังไม่แสดงอาการ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน

 

และไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยในกรณีต่อไปนี้

 

  • ขณะรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือรับประทานยา เป็นระยะเวลาไม่นาน
  • สนทนากับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินและจำเป็นต้องสังเกตปากในการสื่อสารเป็นระยะเวลาไม่นาน
  • บนเครื่องบิน หากมีความจำเป็นต้องสวมหน้ากากออกซิเจน

 

ส่วนผู้ที่เป็นข้อยกเว้นในการสวมหน้ากากอนามัย ได้แก่

 

  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ
  • ผู้พิการที่ไม่สามารถสวมหน้ากากหรือสวมหน้ากากได้อย่างปลอดภัย

 

สำหรับการออกกำลังกายในยิมหรือฟิตเนสร่วมกับผู้อื่น CDC แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยในการออกกำลังที่มีระดับการออกแรงต่ำ (Low Intensity) เช่น การเดิน โยคะ ฯลฯ 

 

ส่วนการออกกำลังกายที่มีระดับการออกแรงสูง (High Intensity) เช่น การเต้น การวิ่ง ฯลฯ ควรเลี่ยงไปจัดนอกอาคาร หรือถ้าจัดในอาคารควรจำกัดจำนวนคนและเว้นระยะห่างมากขึ้น

 

ในขณะที่สวนสาธารณะซึ่งเป็นสถานที่เปิด มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่ำ CDC แนะนำให้เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร หลีกเลี่ยงการรวมตัวกันกับผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน และหลีกเลี่ยงสวนที่มีความแออัด สำหรับการสวมหน้ากากอนามัยให้สวมเท่าที่สามารถทำได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างจากผู้อื่นได้

 

การบังคับสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน

สำหรับไทย จังหวัดสมุทรสาครน่าจะเป็นจังหวัดแรกที่ประกาศให้ประชาชนทุกคนภายในจังหวัด เมื่อออกจากบ้านต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ปฏิบัติงานในร้านค้า ร้านอาหาร ตลาด สถานประกอบการ ฯลฯ ตั้งแต่วันที่ 3-30 เมษายน พ.ศ. 2563 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 34(6) พ.ร.บ. โรคติดต่อ

 

จนกระทั่งการระบาดระลอกใหม่เดือนเมษายน 2564 หลายจังหวัดทยอยประกาศมาตรการสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกบ้าน และศาลแขวงสุราษฎร์ธานีได้พิพากษาผู้ฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัยเป็นรายแรกเมื่อวันที่ 21 เมษายน โดยปรับ 4,000 บาท แต่จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 2,000 บาท

 

เมื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย ทุกคนจึงต้องเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย แต่เจตนาของกฎหมายนี้น่าจะเพื่อป้องปรามให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในสถานที่แออัด เช่น ตลาด เพราะมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น และสถานที่ปิด เช่น ขนส่งสาธารณะ เพราะอากาศถ่ายเทไม่สะดวก มากกว่าลงโทษทุกคนที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยออกจากบ้าน

 

และสังเกตว่าคำแนะนำของ CDC จำกัดพื้นที่บังคับการสวมหน้ากากอนามัยที่จำเพาะเจาะจงมากกว่า

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X