×

สรุป #ทําไมครูไทยอยากลาออก เมื่อ ‘ครู’ แบกภาระเกินหน้าที่ ‘นักเรียน’ คือผู้เสียประโยชน์

15.11.2021
  • LOADING...
ทําไมครูไทยอยากลาออก

จากกรณีครูสาวของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ออกมาโพสต์ภาพและข้อความผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัว ระบุถึงเหตุผลของการขอลาออกจากการทำหน้าที่ครู ซึ่งเหตุผลที่เธอเล่าถึง กลายเป็นประเด็นใหญ่ให้ถกเถียงเป็นวงกว้างบนสังคมออนไลน์ เป็นที่มาของแฮชแท็ก #ทําไมครูไทยอยากลาออก ในทวิตเตอร์ที่มีผู้ร่วมทวีตความเห็นกับประเด็นนี้ไม่น้อยกว่า 1 แสนครั้ง

 

THE STANDARD สรุปกรณี #ทําไมครูไทยอยากลาออก และรวบรวมหลากหลายความเห็นจากบุคลากรทางการศึกษา ที่สะท้อนเหตุผลอันเป็นต้นตอของแฮชแท็ก และผลกระทบจากหลายมุมมอง

 

‘หนังสือลาออก’ ของครูหนึ่งคน สู่แรงกระเพื่อม #ทําไมครูไทยอยากลาออก

 

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บนสื่อโซเชียลมีการแชร์ภาพและข้อความของครูท่านหนึ่ง โดยโพสต์ดังกล่าวเป็นภาพ ‘หนังสือลาออก’ จากการเป็นข้าราชการครู พร้อมแนบข้อความที่เป็นเหตุผลในการยื่นลาออก

 

และเหตุผลของการลาออกนี้เอง กลายเป็นจุดสนใจของผู้ที่พบเห็นไม่น้อย จากข้อความทั้งหมดพอสรุปเหตุผลแบบจับใจความได้ว่า ครูที่เป็นเจ้าของโพสต์ (ทราบภายหลังชื่อ กรวรรณ บุญทันเสน ‘ครูเก่ง’ ตำแหน่งครู คส.1 สังกัด สพป.นครสวรรค์ เขต 2) ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการให้ครูทำเอกสารประเมิน ประกัน ประกวด สำรวจข้อมูลที่มากเกินความจำเป็นและไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนการสอนเท่าที่ควร

 

ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองแรงกาย แรงใจ ทรัพยากร เปลืองเวลา และงบประมาณโดยไม่มีเหตุจำเป็น หลายครั้งกระทบเวลาที่ควรเตรียมการสอน ตลอดจนเวลาส่วนตัวที่ควรมีให้ครอบครัว เพราะครูก็มีลูกที่ต้องกลับไปอบรม ดูแล สั่งสอนเช่นเดียวกัน

 

และในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา การสอนออนไลน์ที่ต้องอาศัยทั้งความพร้อมและความร่วมมือจากเด็กและผู้ปกครองเป็นเรื่องยาก “ข้าพเจ้าไม่สามารถปฏิบัติการสอนให้ได้ผลสำเร็จ คุ้มค่ากับเงินภาษีที่จ่ายเป็นเงินเดือนได้ ทั้งไม่มีความหวังที่แน่นอนว่าจะสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ ได้อย่างต่อเนื่องแท้จริงเมื่อใด จึงขอลาออก เพื่อให้คนที่มีความรู้ ความสามารถที่เหมาะสมกว่า เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน”

 

โดยทันทีที่ข้อความถูกเผยแพร่บนสื่อออนไลน์เป็นวงกว้าง การพูดคุย-ถกเถียงเริ่มปรากฏขึ้นให้เห็นจากบุคคลหลายภาคส่วน จนเกิดแฮชแท็ก #ทําไมครูไทยอยากลาออก ที่เปิดให้ผู้คนได้เข้ามาแชร์ความเห็น ประสบการณ์ และเหตุผลของปัญหาที่ทำให้ครูในยุคปัจจุบันไม่อยากทำหน้าที่เป็นเรือจ้างอีกต่อไป

 

หลากเหตุผลที่ทำให้ครูอยากลาออก

 

จากข้อความบนทวิตเตอร์มากกว่า 1 แสนทวีตข้อความ รวมถึงพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านแอปพลิเคชัน Clubhouse ที่พูดคุยถึงกระแส ‘ทำไมครูไทย (อยาก) ลาออก’ ที่มีผู้ร่วมฟังมากกว่า 4 พันคน ในภาพรวมพบหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ครูอยากลาออกมากที่สุดคือ ‘ครูแบกรับภาระเกินหน้าที่สอนหนังสือ’

 

ในส่วนของเหตุผลนี้ ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ในฐานะครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษา และแอดมินเพจ ครูขอสอน ได้อธิบายกับ THE STANDARD ว่า นอกจากการจัดแผนการสอนหรือแผนสนับสนุนการสอนเป็นหน้าที่หลักที่ครูต้องทำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ แต่ในความเป็นจริง มีครูในประเทศนี้อีกไม่น้อยที่ต้องแบกรับหน้าที่เกินกำลังหรือขอบเขตที่ควรจะเป็น เช่น งานธุรการ, งานสารบัญ, การเงิน, พัสดุ, การจัดซื้อ-จัดจ้าง หรือแม้แต่เอกสารต่างๆ นอกเหนือจากนี้อีกจำนวนมาก

 

ซึ่งมิติของภาระหน้าที่ทำนองนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากร สามารถจ้างบุคลากรมาทำหน้าที่ธุรการอื่นๆ แทนครูได้ แต่สิ่งนี้เหมือนปัญหาใต้พรมในโรงเรียนขนาดกลางหรือเล็กกว่านั้น 

 

“ลองนึกภาพเกือบทุกโรงเรียนในประเทศไทยมีกลไกการดำเนินงานในระดับที่เท่ากัน แต่จำนวนทรัพยากรหรือกำลังการจ้างงานเจ้าหน้าที่มารับงานธุรการ รับงานสนับสนุนแทนครูของโรงเรียนขนาดกลางจนถึงเล็กมีไม่มากพอ นั่นหมายความว่า บุคลากรครูที่มีอยู่คือคนที่ต้องรับหน้าที่รับผิดชอบงานหรือโครงการที่ได้รับมอบหมายที่มากกว่าการสอนหนังสือและให้ความรู้เด็กในห้องเรียน” ธนวรรธน์กล่าว

 

ขณะที่เหตุผลต่อมาคือเรื่องของการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคมในรั้วโรงเรียน ยกตัวอย่าง การตั้งคำถามหรือแสดงความคิดเห็นในสิ่งต่างๆ ที่ครูบางคนอาจคิดว่าไม่ชอบมาพากลในโรงเรียน มักจะถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอิทธิพลในโรงเรียนเป็นผลตามมา นับเป็นอีกสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน

 

นอกเหนือจากเหตุผลข้างต้น เหตุผลที่ทำให้ครูอยากลาออกมีอีกไม่น้อย เช่น เรื่องของการถูกประเมินอย่างไม่ชอบธรรม, เรื่องวัฒนธรรม-อำนาจนิยมในโรงเรียน มีการริดรอนสิทธิเสรีภาพของครู หรือการที่ครูถูกเรียกไปทำงานส่วนตัวให้ผู้มีอิทธิพลก็ถูกกล่าวถึง รวมถึงสภาพจิตใจที่ถูกกดทับแบบไม่มีกลไกช่วยเหลือมาซัพพอร์ตครู เรื่องเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเหตุผลที่ไม่อยากให้ครูทำหน้าที่นี้ต่อไป

 

นักเรียนคือผู้รับลูกหลงจากปัญหา

 

จาก #ทําไมครูไทยอยากลาออก ที่นอกจากการสะท้อนปัญหาที่คนเป็นครูต้องเผชิญในยุคปัจจุบัน ยังกลายเป็นกระจกอีกด้านที่สะท้อนถึงผู้ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่ากันนั่นคือกลุ่มนักเรียน

 

นักเรียนคือหนึ่งในกลุ่มที่ผู้แสดงความคิดเห็นผ่านแฮชแท็กดังกล่าวให้ความเป็นกังวลมากที่สุด เพราะโดยรวมต่างมองว่าหากครูไม่สามารถเป็นผู้ทุ่มเทกับงานสอนได้เต็มที่จากเหตุผลด้านภาระงานอันล้นตัว นักเรียนจะกลายเป็นผู้เสียผลประโยชน์จากกรณีนี้ทันที 

 

และวิธีแก้ไขปัญหานี้จะตกอยู่กับผู้ปกครองที่อาจต้องเสียเงินเพิ่มส่งบุตร-หลานของตัวเองเข้าคอร์สเรียนพิเศษเพื่อเสริมความรู้ แม้บางส่วนอาจจะเต็มใจจ่ายค่าเล่าเรียน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้รับการเรียนการสอนที่ดีควรเกิดขึ้นตั้งแต่ห้องเรียนให้มากที่สุด

 

ธนวรรธน์ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงผลกระทบที่นักเรียนได้รับว่า ถัดจากเรื่องความรู้ในห้องเรียนที่เป็นผลกระทบหลักแล้ว ในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันในรั้วโรงเรียนที่เด็กต้องอาศัยอยู่ในโรงเรียนนานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ควรได้รับการโฟกัสและได้รับคำแนะนำที่ดีของครูด้วย

 

“อย่างที่ทราบว่านักเรียนไม่ได้มาโรงเรียนเพียงเพื่อเรียน แต่พวกเขามาเพื่อใช้ชีวิต มาเรียนรู้ชีวิตในหลากมิติ เพราะพวกเขาอยู่ในวัยเรียนรู้ ฉะนั้นในฐานะครูที่ต้องคอยเป็นที่ปรึกษาหรือโฟกัสกับชีวิตของพวกเขา ถ้าไม่สามารถเต็มที่กับส่วนนี้ได้ เด็กนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนนับสิบหรือร้อยชีวิต ก็จะไม่ได้รับคำปรึกษาที่ควรจะได้รับ เพราะเด็กทุกคนต่างมีปัญหาไม่เหมือนกัน

 

“ดังนั้นเรื่องนี้ก็จะหนีไม่พ้นปัญหาต้นทางที่ทุกอย่างถูกเริ่มจากระบบ-โครงสร้างการทำงานในแบบเดิมๆ ที่ขาดความเข้าใจหรือละเลยในปัญหาของผู้ใหญ่ในระดับกระทรวงฯ เพราะถ้าเรื่องนี้ยังถูกขัดขวางจากปัญหาทั้งหมดที่เรารับรู้ผ่าน #ทําไมครูไทยอยากลาออก ไม่ใช่เพียงแค่ครูจะทำงานกันอย่างไม่มีความสุข สิ่งที่นักเรียนได้รับก็จะไร้ประสิทธิภาพไปด้วย” ธนวรรธน์กล่าวในท้ายที่สุด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising