×

ทำไมชาวเมืองลิเวอร์พูลจึงเตรียมโห่ใส่เพลงชาติ ‘God Save the King’ ในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

06.05.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ตามประวัติศาสตร์แล้ว จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างชาวเมืองลิเวอร์พูลกับ ‘ส่วนกลาง’ นั้นมีมาตั้งแต่ช่วง ‘ทุพภิกขภัยมันฝรั่ง’ (Potato Famine) โศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นบนโลกมนุษย์
  • ความตกต่ำของอุตสาหกรรมการต่อเรือที่เคยเป็นหัวใจหล่อเลี้ยงชาวเมืองลิเวอร์พูลทำให้พวกเขามีชีวิตที่เลวร้ายอยู่แล้ว แต่รัฐบาลอังกฤษของแทตเชอร์ก็ซ้ำเติมทุกอย่างให้เลวร้ายมากขึ้นไปอีกด้วยการตัดความช่วยเหลือในหลายด้าน
  • ‘Scouse not English’ จึงไม่ได้เป็นแค่วาทกรรมคำประดิษฐ์เท่ๆ แต่เป็นความรู้สึกจากใจของพวกเขาจริงๆ ว่ารัฐบาลหรือสถาบันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเมืองแห่งนี้

เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทำให้พรีเมียร์ลีกได้ส่ง ‘คำร้องขอ’ ไปยังสโมสรฟุตบอลทุกแห่งเพื่อให้เปิดเพลงชาติอังกฤษ God Save the King ขึ้นในช่วงก่อนที่จะเริ่มการแข่งขัน

 

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นปัญหาทันทีเมื่อหนึ่งในสโมสรที่มีโปรแกรมการแข่งขันในบ้าน (Home Game) คือสโมสรลิเวอร์พูล สโมสรฟุตบอลในเมืองเดียวที่จะไม่ยอมร้องเพลงชาติอังกฤษเป็นอันขาด

 

ทำไมชาวเมืองลิเวอร์พูล หรือที่เรียกกันว่าชาว ‘สเกาเซอร์’ (Scouser) จึงมีปัญหากับเพลงนี้ และปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหนกันแน่?

 

Scouse not English

 

ย้อนกลับไปในเกมเอฟเอ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ เมื่อเดือนสิงหาคมปีกลาย ซึ่งสโมสรลิเวอร์พูลในฐานะแชมป์เอฟเอคัพ มีโปรแกรมพบกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แชมป์พรีเมียร์ลีก ในช่วงก่อนที่จะเริ่มการแข่งขันได้มีการเปิดเพลงชาติ God Save the Queen ตามธรรมเนียม

 

ทันใดนั้นก็มีเสียงโห่ดังขึ้นในระหว่างเพลง โดยเสียงนั้นมาจากแฟนบอลฝั่ง ‘สีแดง’

 

เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามในหมู่แฟนบอลบางส่วน โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดียที่ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น บางส่วนมองว่าแฟนลิเวอร์พูลนั้นไม่ให้เกียรติต่อเพลงชาติของตัวเอง

 

แต่เรื่องนี้สำหรับแฟนบอลลิเวอร์พูลในความหมายถึงชาวเมืองลิเวอร์พูลที่เรียกว่าสเกาเซอร์ที่พูดภาษาสเกาส์ (Scouse) ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ (English) นั้น เพลงชาติอังกฤษไม่ใช่เพลงชาติของพวกเขา

           

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้มีหลากหลาย แต่หลักใหญ่ใจความคือการที่ชาวสเกาส์ไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ พวกเขาเป็น ‘คนอื่น’​ บนแผ่นดินนี้

 

สาเหตุของความรู้สึกนี้ต้องย้อนกลับไปไกลเกือบ 200 ปีเลยทีเดียว

 

170 ปีแห่งความเจ็บปวด

 

ตามประวัติศาสตร์แล้ว จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างชาวเมืองลิเวอร์พูลกับ ‘ส่วนกลาง’ นั้นมีมาตั้งแต่ช่วง ‘ทุพภิกขภัยมันฝรั่ง’ (Potato Famine) โศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นบนโลกมนุษย์

 

เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นที่ประเทศไอร์แลนด์ในระหว่างปี 1845-1852 โดยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้นไอร์แลนด์มีอาหารหลักคือมันฝรั่ง ซึ่งมาจากการที่มีคนนำมันฝรั่งสายพันธุ์หนึ่งเข้ามาปลูก และกลายเป็นผลผลิตหลัก เป็นอาหารหลักของชาวไอริช (จนได้รับชื่อสายพันธุ์ว่า Irish Lumper)

 

แต่ในช่วงปี 1845 ได้เกิดโรคระบาดของพืชขึ้น และความเลวร้ายเกิดขึ้นเพราะคนไอริชปลูกมันฝรั่งอยู่สายพันธุ์เดียว ทำให้ผลผลิตล้มเหลวเกือบทั้งหมด ชาวไอร์แลนด์ขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงถึงขั้นมีคนอดตาย 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

 

เพื่อหนีความอดอยากทำให้ชาวไอริชจำนวนมากอพยพย้ายข้ามฝั่งมาอยู่ในเมืองลิเวอร์พูล เมืองแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยผู้อพยพชาวไอริช และสายตาของชาวอังกฤษที่มองเมืองแห่งนี้ก็เปลี่ยนไป มีการตั้งสมญาว่าเป็นเมือง ‘Tory Town’ สื่อมวลชนร่วมตอกย้ำภาพว่าลิเวอร์พูลกลายเป็นเมืองหลวงของไอร์แลนด์

 

แม้แต่คำว่าสเกาเซอร์ที่เรียกชาวเมือง แท้จริงก็เป็นคำดูถูกที่ใช้เรียกชาวไอริชที่ยากจน

 

อย่างไรก็ดี ชาวไอริชที่อพยพมาอยู่ที่ลิเวอร์พูลนั้นแม้จะมีชีวิตที่ยากลำบากแต่ก็ยังยืนหยัดได้ รักษาสายสัมพันธ์กับคนในบ้านเกิดเพื่อรักษา ‘ตัวตน’ ดั้งเดิมของพวกเขาไว้

 

โดยที่ตลอดมาพวกเขาแทบไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรเลยจากทางการ ชาวสเกาเซอร์รู้สึกมาตลอดว่าพวกเขาไม่เคยได้รับการดูดำดูดีอะไร ไม่เคยมีการสนับสนุนใดๆ ให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

พวกเขาไม่ได้พูดอะไรมากนัก

 

แต่ทดไว้ในใจ

 

ยุคมืดของหญิงเหล็ก

 

จุดเปลี่ยนทางความรู้สึกที่ทำให้ชาวสเกาเซอร์ไม่เอาด้วยกับส่วนกลางอังกฤษอีกต่อไปเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980

 

ช่วงเวลาที่เราอาจเรียกได้ว่าเป็นโมงยามของความมืดมิดในเมืองลิเวอร์พูล

 

การเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกครั้งใหญ่เกิดขึ้นในยุคที่พรรคอนุรักษนิยมเป็นรัฐบาล โดยมี มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘หญิงเหล็ก’ (The Iron Lady) เป็นผู้นำ

 

ในช่วงเวลานั้นลำพังชีวิตของชาวเมืองลิเวอร์พูลก็ประสบปัญหาหนักมากพออยู่แล้ว จากความตกต่ำของอุตสาหกรรมการต่อเรือที่เคยเป็นหัวใจหล่อเลี้ยงชาวเมือง แต่รัฐบาลอังกฤษของแทตเชอร์ก็ซ้ำเติมทุกอย่างให้เลวร้ายมากขึ้นไปอีกด้วยการตัดความช่วยเหลือในหลายด้าน หลังจากที่รัฐบาลอังกฤษชุดก่อนๆ ได้พยายามประคองให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตแต่ไม่มีอะไรที่ดีขึ้น

 

รัฐบาลของแทตเชอร์ทำตั้งแต่การหยุดอัดฉีดเงิน ออกกฎหมายลดอำนาจสหภาพแรงงาน และประกาศลดภาษีเพื่อเอื้อต่อนายทุน ไปจนถึงการตัดโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่ไม่ทำกำไรให้เป็นของเอกชนเสีย และมันนำไปสู่การล่มสลายของเมืองเมื่อธุรกิจจำนวนมากไม่สามารถไปต่อได้

 

ผลคือชาวเมืองตกงานเป็นจำนวนมาก ชาวเมืองถูกตัดความช่วยเหลือจากรัฐที่ลดรัฐสวัสดิการ ผู้คนอดอยาก ลิเวอร์พูล (ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองตอนเหนือที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังมีแมนเชสเตอร์ด้วย)​ กลายเป็นเมืองเสื่อมโทรมที่เต็มไปด้วยความสิ้นหวัง

 

ความโกรธแค้นนั้นนำไปสู่การประท้วงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์อันน่าเศร้าที่ท็อกซ์เทธ (Toxteth) ที่มีการจลาจลยาวนานถึง 9 วัน มีการจับกุมผู้ประท้วงมากถึง 500 คน มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ 1 นาย

 

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว หญิงเหล็กของชาวอังกฤษมีคำสั่งลอยแพเมืองลิเวอร์พูลทันที ท่ามกลางการคัดค้านของคณะรัฐมนตรีบางส่วน แต่ก็ไม่สามารถขัดได้

 

เมืองแห่งนี้จึงกลายเป็นเมืองที่ตายทั้งเป็น

 

ผู้คนบางส่วนไม่สามารถอยู่ในเมืองแห่งนี้ได้ไหวก็ต้องอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ไป ซึ่งก็เป็นไปตามแผนที่แทตเชอร์ต้องการ

 

จะไม่ทนอีกต่อไป

 

แต่ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวเมืองลิเวอร์พูลยังไม่หมดแค่นี้

 

สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นและเป็นสิ่งที่ชาวเมืองจะไม่มีวันให้อภัยอย่างเด็ดขาดคือ เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่สนามฮิลส์โบโรห์ ในเกมเอฟเอคัพ รอบรองชนะเลิศระหว่างลิเวอร์พูลกับน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ซึ่งเกิดการ ‘เหยียบกันตาย’​ จนทำให้มีแฟนบอลลิเวอร์พูลเสียชีวิตรวมกันถึงปัจจุบัน 97 คน

 

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นในสนามกีฬา

 

แต่สิ่งที่ชาวเมืองลิเวอร์พูลผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักได้รับคือการเหยียบซ้ำและย่ำยีน้ำใจจากทุกฝ่าย

 

ทั้งจากสื่อแท็บลอยด์อย่าง The Sun หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ได้ย่ำยีหัวใจของพวกเขาด้วยการป้ายสีแฟนลิเวอร์พูลด้วยการกล่าวหาทั้ง ‘ขโมยกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียชีวิต’ ‘ปัสสาวะรดศพของตำรวจ’ และ ‘เปลื้องผ้าศพผู้เสียชีวิต’

 

นั่นทำให้ The Sun ไม่มีที่ยืนในเมืองลิเวอร์พูลอีกต่อไป

 

และฝ่ายนักการเมืองที่มีการกล่าวหาว่าต้นเหตุของโศกนาฏกรรมเกิดจากแฟนบอลลิเวอร์พูลที่ดื่มจนมึนเมา และมีแฟนบอลที่ไม่มีตั๋วพยายามหาทางอัดกันเข้าไปในสนามจนทำให้เกิดเหตุสลดดังกล่าว

 

สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวสเกาเซอร์รู้สึกว่าพวกเขาถูก ‘หักหลัง’ จากทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล สื่อ ไปจนถึงมาตุภูมิที่พวกเขาเกิดขึ้นมา

 

มันมากกว่าความรู้สึกของคำว่าเป็น ‘คนอื่น’

 

‘Scouse not English’ จึงไม่ได้เป็นแค่วาทกรรมคำประดิษฐ์เท่ๆ แต่เป็นความรู้สึกจากใจของพวกเขาจริงๆ ว่ารัฐบาลหรือสถาบันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเมืองแห่งนี้

 

ดังนั้นกับสิ่งที่สะท้อนความเป็นอังกฤษมากที่สุดอย่างเพลงชาติ จะ God Save the Queen หรือ God Save the King ก็ไม่ได้มีความหมายอะไรกับพวกเขาอีกต่อไป

 

นี่คือเหตุผลที่ทำให้หากเปิดเพลงชาติอังกฤษในเมืองลิเวอร์พูล เสียงโห่จะดังขึ้นทุกครั้ง

 

เพราะในความรู้สึกของพวกเขา นี่ไม่ใช่เป็นการไม่ให้เกียรติต่อเพลงชาติ แต่เป็นเพราะการมาเปิดเพลงชาติอังกฤษในเมืองที่ไม่ได้รับการปฏิบัติว่าเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ (แม้ว่าหลังจากเหตุโศกนาฏกรรมก็มีการช่วยเหลือเมืองจนเริ่มกลับมาเป็นเมืองที่ดีอีกครั้ง) นี่ต่างหากคือการที่ไม่ให้เกียรติพวกเขา

 

เพลงชาติที่แอนฟิลด์

 

คำร้องขอความร่วมมือจากพรีเมียร์ลีกที่ส่งถึงสโมสรทุกแห่งให้เปิดเพลง God Save the King ก่อนเกมจะเริ่มในสุดสัปดาห์นี้จึงกลายเป็นประเด็นใหญ่พอสมควรที่ไม่ได้จำกัดแค่ในวงการกีฬา แต่ขยายออกมาถึงความรู้สึกของชาวเมือง

 

ตามแถลงการณ์ของสโมสรลิเวอร์พูล พวกเขาบอกชัดว่า “พรีเมียร์ลีกแจ้งสโมสรที่เป็นทีมเจ้าบ้านทุกแห่งให้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในสุดสัปดาห์นี้

 

“ก่อนเริ่มการแข่งขันเพื่อเป็นการร่วมฉลองพิธีพระบรมราชาภิเษก ขอให้นักฟุตบอลและผู้ตัดสินยืนรวมกันเป็นวงกลมกลางสนามในระหว่างที่เพลงชาติบรรเลงขึ้น”

 

อย่างไรก็ดี สโมสรลิเวอร์พูลซึ่งรู้ดีถึงความรู้สึกของแฟนฟุตบอลตัวเองได้แสดงจุดยืนอย่างอ้อมๆ ของพวกเขาว่า “เป็นสิทธิในการเลือกของคนที่อยู่ในแอนฟิลด์ว่าจะทำอย่างไรต่อวาระโอกาสนี้ และเรารู้ดีว่าแฟนบอลของพวกเรามีมุมมองที่เข้มแข็งต่อเรื่องนี้อย่างไร”

 

และมุมมองกับจุดยืนของสเกาเซอร์ก็ชัดเจนไม่เคยเปลี่ยน

 

ย้อนกลับไปในเกมพรีเมียร์ลีกนัดกลางสัปดาห์ ซึ่งลิเวอร์พูลเฉือนเอาชนะฟูแลมได้ 1-0 แฟนบอล The Kop ได้ร้องเพลงในสนามว่า “you can stick your coronation up your a***”

 

จริงอยู่ที่พวกเขาส่วนใหญ่ให้เกียรติต่อการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ด้วยการสงบนิ่งไว้อาลัยก่อนเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกกับ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม เมื่อเดือนกันยายนปีกลาย แต่ครั้งนี้กับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เป็นเรื่องที่แตกต่างออกไป

 

ไม่มีเหตุผลที่พวกเขาจะต้องยินดีหรือยินร้ายกับพระราชพิธีครั้งนี้ มาเปิดเพลงที่พวกเขาไม่ได้อยากฟังก็อย่าคาดหวังจะได้เสียงเฮ

 

และสำหรับชาวสเกาเซอร์แล้ว เพลงชาติหรือ Anthem ที่แอนฟิลด์มีเพลงเดียว

 

You’ll Never Walk Alone เวอร์ชันของ Gerry and the Pacemakers

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X