×

ส่องแผนกระตุ้นเศรษฐกิจแบบฉบับ ‘จีนยุคใหม่’ ในวันที่เศรษฐกิจซึม ให้นายจ้างเพิ่มวันหยุดแบบมีค่าจ้าง ลดเงื่อนไขซื้อรถ EV หนุนจัดคอนเสิร์ต

03.08.2023
  • LOADING...
จีนยุคใหม่

รัฐบาลกลางจีนเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอ กำลังซื้อลด คนหนุ่มสาวตกงาน โดยมุ่งเน้นสนับสนุนประชาชนหันมาจับจ่ายใช้สอย ดึงเม็ดเงินเข้าระบบ สนับสนุนนายจ้างให้เพิ่มวันหยุดแบบมีค่าจ้าง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและกระจายรายได้ท้องถิ่น ลดภาษีและเงื่อนไขรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ประชาชนหันมาบริโภคพลังงานสะอาด และสนับสนุนการจัดคอนเสิร์ต กิจกรรมทางวัฒนธรรมให้มากขึ้น

 

เศรษฐกิจจีนในขณะนี้กำลังเป็นที่จับตามองไปทั่วโลก เมื่อจีนกำลังเข้าสู่ยุคที่การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอลงอย่างมาก คนหนุ่มสาวตกงานต่อเนื่อง จากประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก อัตราการเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 3-4% การขับเคลื่อนนโยบายแบบฉบับจีนยุคใหม่ในวันนี้อาจไม่ราบรื่น เห็นได้ชัดจากสัญญาณการไหลออกของเม็ดเงินในประเทศ ย่อมสะท้อนว่าแม้แต่ชาวจีนเองก็มีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศไม่น้อยทีเดียว 

 

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ภายหลังภาวะเศรษฐกิจจีนซบเซาต่อเนื่อง รัฐบาลกลางออกประกาศแผนเร่งรัดกระตุ้นเศรษฐกิจ 20 มาตรการ โดยหัวใจหลักมุ่งไปที่การกระตุ้นเม็ดเงินในประเทศ เริ่มตั้งแต่กระตุ้นการท่องเที่ยวท้องถิ่น จัดกิจกรรมคอนเสิร์ต กิจกรรมกีฬา วัฒนธรรม การกระตุ้นประชาชนให้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนสนับสนุนให้ประชาชนจับจ่ายสินค้าผ่านแอปพลิเคชันแทนการแจกเป็นเงินสด 

 

เนื่องจากจีนพยายามใช้วิธีนี้กระตุ้นให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจใช้จ่ายเข้าระบบให้มากที่สุด โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ สินค้าที่ซื้อต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ซึ่งส่วนนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังมุ่งสนับสนุนซัพพลายเออร์ หรือกลุ่มผู้ผลิตหรือผู้จัดหาสินค้าและบริการด้วย 

 

Xu Hongcai รองผู้อำนวยการคณะกรรมการนโยบายเศรษฐศาสตร์ สมาคมวิทยาศาสตร์นโยบายแห่งประเทศจีน (China Association of Policy Science) ฉายภาพมาตรการเร่งรัดกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่สำคัญดังนี้ 

 

กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น

 

นับตั้งแต่จีนยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด จะเห็นว่าการท่องเที่ยวในท้องถิ่นฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และหนึ่งในมาตรการที่วางไว้คือรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการจัดคอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา และกิจกรรมทางวัฒนธรรม

 

โดยข้อมูลจากโนมูระวิเคราะห์ว่า หากดูจากเที่ยวบินภายในประเทศช่วงเดือนกรกฎาคม เริ่มฟื้นตัวมากกว่าระดับในปี 2019 ในขณะที่ยอดจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ผ่าน Box Office ก็มากกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิดอีกด้วย และยังคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นยอดค้าปลีกในเดือนกรกฎาคมให้เพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากระดับ 3.1% ในเดือนมิถุนายน

 

นอกจากนี้ยังมีอีกมาตรการใหม่ที่อยู่ภายใต้แผนกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ คือการสนับสนุนให้นายจ้างเพิ่มวันหยุดแบบที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน และเพื่อให้หยุดพักผ่อนในช่วงวันหยุดยาวและกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากที่ผ่านมาคนงานส่วนใหญ่ในจีนได้รับวันหยุดเพียงไม่กี่วันต่อปี ซึ่งตรงนี้อาจตรงกันข้ามกับแผนในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่นายจ้างเสนอวันหยุดให้มากถึง 2-4 สัปดาห์

 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน-ท้องถิ่น

 

ความท้าทายอีกประการของจีนที่กำลังเผชิญคือการพยายามให้ผู้บริโภคขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านชุมชน เมื่อที่ผ่านมานโยบายส่วนใหญ่จะสนับสนุนรูปแบบการลงทุนเป็นหลัก

 

ต่อไปนี้จีนจำเป็นต้องปรับสมดุลทางเศรษฐกิจไปสู่ผู้บริโภค เช่น การให้สินเชื่อผู้บริโภคให้มีส่วนแบ่งมากขึ้นผ่านสินเชื่อธนาคารเมื่อเทียบกับสินเชื่อธุรกิจ เพราะจะมีผลต่อยอดค้าปลีก และจากนี้ต้องส่งเสริมการบริโภคในพื้นที่ชนบท เช่น อุดหนุนการแลกเปลี่ยนการซื้อเครื่องใช้ในครัวเรือนอัจฉริยะ พลังงานสีเขียว การเข้าถึงสินค้าที่มีราคาแพงให้สามารถจับต้องได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ภูมิภาค ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวในชนบทด้วย

 

เนื่องจากต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ไม่ถึง 1 ใน 3 ของประชากรจีนทั้งหมด 1.4 พันล้านคนล้วนเป็นชนชั้นกลาง สะท้อนจากข้อมูลของ Boston Consulting Group ที่ระบุว่า ในปี 2022 ชนชั้นกลางจีนมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 9,500-29,900 หยวน หรือระหว่าง 1,325-4,172 ดอลลาร์ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในจีนมีรายได้น้อยกว่านี้อีกมาก 

 

ขณะที่รายได้ท้องถิ่นปีที่แล้วอยู่ที่ 8,920 หยวน (1,245 ดอลลาร์) โดยสรุปรายได้ชาวจีนเติบโตช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของ GDP 5.5% ในเขตเมือง ปัจจัยหลักมาจากการขาดความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประชาชนรายได้น้อย ไม่กล้าจับจ่าย เพราะความไม่แน่นอนเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตได้ส่งผลกระทบต่อยอดค้าปลีกของจีน 

 

ดังนั้นมาตรการที่จะเกิดขึ้นอาจผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นได้ หลังจากการควบคุมโควิดนาน 3 ปี

 

มาตรการหนุนประชาชนใช้ EV – ผู้ผลิตลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่

 

รายงานข่าวระบุอีกว่า จุดที่น่าสนใจเกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนในขณะนี้คือ รัฐบาลมุ่งไปให้ความสำคัญกับการลดภาษีและลดเงื่อนไขเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนซื้อรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ซึ่งรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์แบบไฮบริด

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้กระตุ้นผู้ลงทุนให้ติดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า 

 

อีกทั้งยังมีนโยบายกระตุ้นการจับจ่ายเข้าระบบดิจิทัลแทนการแจกเงินสด โดยมาตรการนี้เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะไม่ออกบัตรกำนัลเงินสดเพื่อการบริโภคทั่วประเทศ อย่างที่สหรัฐฯ และฮ่องกงทำหลังผ่านวิกฤตโรคระบาด สาเหตุหนึ่งคือรัฐบาลไม่มีเงินมากนัก ในข้อนี้นักเศรษฐศาสตร์มองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทางการจีนไม่คุ้นเคยกับการให้เงินสดแก่ผู้บริโภคโดยตรง 

 

อย่างไรก็ตาม Xu Hongcai ทิ้งท้ายว่า ส่วนมาตรการอื่นๆ มีทั้งแผนขับเคลื่อนทิศทางนโยบายเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์และการบริโภค ซึ่งทั้งหมดนี้ยอมรับว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนต้องใช้เวลาและอาจเดินไปอย่างช้าๆ และรัฐบาลเองก็หวังว่ามาตรการสนับสนุนดังกล่าวจะส่งผลให้ยอดค้าปลีกกลับมาเติบโตเป็นเลขสองหลักมากกว่าปีที่แล้วเป็นอย่างน้อย

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising