×

ค่าเงินหยวนถูกกดดันหนัก 3 เดือนเงินไหลออกไปแล้ว 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

23.10.2023
  • LOADING...
ค่าเงินหยวน

เงินทุนไหลออกจากจีนไม่หยุดและเร็วที่สุดในรอบ 7 ปี กำลังกดดันค่าเงินหยวนมากขึ้น หลังสถิติการไหลออกสะสมวันที่ 7 สิงหาคม – 9 ตุลาคม พุ่ง 2.21 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นอัตราที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของระบบ Stock Connect ที่เป็นระบบเชื่อมโยงระหว่างตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่กับตลาดหุ้นฮ่องกง

 

ปัญหาเงินทุนไหลออกจากจีนเริ่มรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และยังคงไหลออกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในประเทศยังคงซบเซา หากจีนยังคงติดกับดักนี้อาจสะเทือนถึงระบบเศรษฐกิจ แม้ว่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์จะประเมินไว้ว่า การเติบโตของ GDP ไตรมาส 3 จะพลิกกลับมาสดใสขึ้นเล็กน้อยก็ตาม

 

สำนักงานบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแห่งชาติจีน (State Administration of Foreign Exchange) ระบุว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมาธนาคารในประเทศขายสุทธิเงินหยวนออกมา 1.94 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นอัตราที่มากที่สุดหากนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนครั้งรุนแรง รวมไปถึงเงินทุนจากลูกค้าของธนาคารต่างๆ ไหลออกกว่า 5.39 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังต่างประเทศ ถือเป็นการไหลออกครั้งใหญ่เมื่อเทียบรายเดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2016 หรือในรอบ 7 ปี

 

Goldman Sachs ระบุอีกว่า การไหลออกเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายน ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2016 และเรียกได้ว่าเพิ่มขึ้นเกือบ 80% จากเดือนสิงหาคม  

 

ทั้งนี้ ปัญหาเงินทุนไหลออกจากจีนกำลังสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลงในเดือนนี้ ทั้งตลาดหลักทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งค่าเงินยังอยู่ห่างจากจุดต่ำสุดของปีไม่ถึง 1%

 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งกำลังสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของในและต่างประเทศ ที่ธนาคารกลางจีนได้คงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในอีกด้านอาจเป็นการทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรสหรัฐฯ และจีนกว้างขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่มากที่สุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ

 

รายงานข่าวยังระบุอีกว่า ในช่วงเดือนกันยายนยังพบด้วยว่า การไหลออกของเงินทุนจีนเป็นการไหลออกทั้งจากบัญชีเดินสะพัดและบัญชีเงินทุน ซึ่งมีปัจจัยทั้งจากการขาดดุลภาคบริการ การลงทุนทางตรงที่ซบเซา รวมถึงการไหลออกที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น

 

นอกจากนี้กองทุนต่างประเทศยังลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลจีนลง 1.35 หมื่นล้านหยวน (หรือ 1.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยการถือครองหนี้ทั้งหมดลดลงเหลือ 2.07 ล้านล้านหยวน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021

 

รวมไปถึงตลาดหุ้นจีนที่ซบเซาก็ส่งผลกระทบเช่นกัน โดยกองทุนทั่วโลกขายหุ้นจีน 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการซื้อ-ขายกับฮ่องกงที่มากที่สุดในรอบกว่า 2 เดือน และสะท้อนค่าดัชนี CSI 300 ที่ร่วงลงสู่ระดับต่ำที่สุดครั้งใหม่ของปีนี้ รวมถึงดัชนี Shanghai Composite ลดลงต่ำกว่า 3,000

 

อย่างไรก็ตาม Morgan Stanley ออกมาเตือนว่า ตลาดหุ้นในประเทศเข้าสู่ช่วงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และกองทุนทั่วโลกอาจเทขายไปจนกว่าจะมีการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม

 

สำหรับสถิติเงินทุนไหลออกสะสมวันที่ 7 สิงหาคม – 9 ตุลาคม รวมมูลค่า 2.21 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นอัตราที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ผ่านระบบ Stock Connect ที่เชื่อมโยงระหว่างตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่กับตลาดหุ้นฮ่องกง

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising