×

ทำไม Bond Yield ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น? สหรัฐฯ สูงสุดรอบ 16 ปี ไทยสูงสุดรอบ 9 ปี ผลกระทบที่อาจตามมาคืออะไร?

04.10.2023
  • LOADING...

ตลาดบอนด์สหรัฐฯ และทั่วโลกกำลังตกอยู่ในภาวะยากลำบากอีกครั้ง ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า ยุคอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและนานขึ้น (Higher for Longer) กำลังมาถึง

 

โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) รัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ได้พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 16 ปี ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีก็แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตหนี้ยูโรโซนเมื่อปี 2011 แม้แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเป็นทางการยังคงอยู่ต่ำกว่า 0%) ก็พุ่งสูงสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี หรือตั้งแต่ปี 2013

 

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี วันนี้ (4 ตุลาคม) ก็เพิ่มขึ้นแตะ 3.367% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2014 หรือในรอบ 9 ปี

 

ทำไมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกจึงพุ่งสูงขึ้น?

 

  1. เศรษฐกิจ-เงินเฟ้อสหรัฐฯ ฟื้น หนุน Fed ขึ้นดอกเบี้ยสูงขึ้นและนานขึ้น

 

โดยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ Real GDP ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.2% (Annualized) ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ก็ยังเพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม ทำให้หลายฝ่ายเดิมพันว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจต้องปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นและนานขึ้น (Higher for Longer)

 

  1. สหรัฐฯ จ่อขาดดุลเพิ่ม หมายถึงจะขายบอนด์มากขึ้น

 

ความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการคลังของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจาก Fitch Ratings ปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคม โดยอ้างถึงระดับการขาดดุลที่สูง

 

โดยการขาดดุลที่สูงขึ้นก็หมายถึงการขายพันธบัตรเพิ่มมากขึ้น และอุปทาน (Supply) ที่สูงขึ้น ท่ามกลางการลดขนาดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลของ Fed จึงทำให้อัตราผลตอบแทน (Bond Yield) พันธบัตรอายุยาวๆ เพิ่มขึ้น

 

การเทขายครั้งนี้จะดำเนินต่อไปอีกนานแค่ไหน?

 

ข้อมูลของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจยังคงมีความยืดหยุ่น (Resilient) โดยการสำรวจภาคการผลิตเมื่อวันจันทร์ (2 ตุลาคม) ผลออกมาสดใส ก็ส่งผลให้ Bond Yield สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีกครั้ง นี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปีจะเพิ่มขึ้นแตะ 5%

 

ดังนั้น ตลาดพันธบัตรจึงจะดีขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณอ่อนแอ หรือธนาคารกลางจากประเทศใหญ่ๆ ส่วนใหญ่เริ่มส่งสัญญาณว่าจะจบรอบขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว

 

Bond Yield สำคัญอย่างไร? และทำไมควรกังวล?

 

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลถือเป็นตัวกำหนดต้นทุนทางการเงินของรัฐบาล ดังนั้น ยิ่ง Bond Yield อยู่ในระดับสูงนานเท่าใด ต้นทุนทางการเงินและต้นทุนการออกพันธบัตรใหม่ของประเทศก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น เนื่องจากนักลงทุนที่ต้องการซื้อพันธบัตรชุดใหม่ย่อมต้องการดอกเบี้ยที่สูงเทียบเคียงกับระดับที่สูงในปัจจุบัน

 

ดังนั้น เหตุการณ์นี้จึงถือเป็นข่าวร้าย เนื่องจากความต้องการเงินทุนของรัฐบาลยังคงอยู่ในระดับสูง

 

นอกจากนี้ Bond Yield รัฐบาลยังถือเป็นเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ของบอนด์เอกชน ดังนั้น หาก Bond Yield รัฐบาลเพิ่มขึ้น ก็ย่อมทำให้ต้นทุนการออกบอนด์ของเอกชนเพิ่มขึ้นทั้งระบบด้วย

 

จับตาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

 

  1. นักลงทุนระยะยาวขาดทุนหนัก อัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นทำให้ตลาดพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกขาดทุนเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน กระทบต่อนักลงทุนที่เดิมพันระยะยาว

 

  1. เงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้น

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นกำลังเริ่มดูดเงินลงทุนออกไปจากตลาดหุ้น โดยเมื่อวันอังคาร (4 ตุลาคม) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงกว่า 400 จุด ขณะที่ S&P 500 ก็ลดลงประมาณ 7.5% จากจุดสูงสุดในรอบกว่า 1 ปีในเดือนกรกฎาคม

 

  1. ธนาคารบางแห่งเสี่ยงซ้ำรอย SVB

ธนาคารต่างๆ เริ่มมีความเสี่ยง เนื่องจากธนาคารหลายแห่งที่เป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลรายใหญ่อาจกำลังขาดทุน (ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง) ซึ่งนับเป็นอีกความเสี่ยงที่ถูกจับตามอง หลังจากการล่มสลายของ Silicon Valley Bank เมื่อเดือนมีนาคม

 

Mahmood Pradhan หัวหน้าฝ่ายมหภาคของ Amundi Investment Institute กล่าวว่า “(การเทขายพันธบัตรรัฐบาล) จะมีผลกระทบอย่างมากต่อธนาคารที่ถือครองระยะยาว ยิ่ง (การเทขายพันธบัตรรัฐบาล) คงอยู่นานเท่าไร ก็จะยิ่งกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น”

 

  1. ดอลลาร์แข็ง ฉุดสกุลเงินอื่นอ่อน

อัตราผลตอบแทนของสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นยังทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อสกุลเงินอื่นๆ รวมไปถึงเงินเยนของญี่ปุ่น และเงินบาทของไทย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X