×

เมื่อการมีครอบครัวไม่ใช่ตัววัดความสำเร็จ ‘ชาว Gen Z’ โดยเฉพาะ ‘ผู้หญิง’ ในแดนมังกร จึงไม่อยาก ‘แต่งงานและมีลูก’ มากขึ้น

17.05.2022
  • LOADING...
Gen Z

สำหรับกลุ่มคน Gen Z ในแดนมังกร ชัยชนะในชีวิตไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการแต่งงานหรือการมีลูก ไม่ว่าพ่อแม่และรัฐบาลจะต้องการให้พวกเขาทำมากแค่ไหนก็ตาม

 

“เราทุกคนรู้สึกว่าชีวิตในเมืองสมัยใหม่กำลังสะดวกและยินดีต้อนรับคนโสด ในขณะที่การแต่งงานและมีลูกกลายเป็นความเครียดในชีวิตของคนหนุ่มสาวอย่างเรา” เจเน็ตซอง วัย 25 ปี ซึ่งทำงานในร้านคาเฟ่สัตว์เลี้ยงในกว่างโจว กล่าวกับ South China Morning Post

 

หญิงสาวชาวจีนโดยเฉพาะคน Gen Z ที่เกิดในช่วงปี 1995-2010 กำลังแสวงหาความหลากหลายและความเป็นเอกเทศในชีวิตมากขึ้น การแต่งงานไม่ใช่สิ่งสำคัญของพวกเขาอีกต่อไป แล้วนับประสาอะไรกับการมี ‘ลูก’

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

การสำรวจโดยสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ในเดือนตุลาคม พบว่าในหมู่ชาวเมืองที่ไม่ได้แต่งงาน 2,905 คน ที่มีอายุระหว่าง 18-26 ปี มีผู้หญิงทั้งหมด 43.9% ที่กล่าวว่า พวกเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะแต่งงานหรือไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ในขณะที่ผู้ชายมีเพียง 19.3%

 

ในขณะเดียวกันด้วยจำนวนกลุ่ม Gen Z กว่า 220 ล้านคนในจีน มีอัตราส่วนทางเพศที่ไม่สมดุลที่สุด โดยมีผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 18.27 ล้านคน

 

ผู้หญิงมีหน้าที่การงานและการเงินที่ดีขึ้น

ตามรายงานของ South China Morning Post พบสิ่งที่น่าสนใจคือ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ครอบครัวในเมืองมีความร่ำรวยที่มากขึ้น และเนื่องจากนโยบายการมีบุตรคนเดียวของจีน ความมั่งคั่งส่วนใหญ่จึงตกเป็นของหญิงสาวในเมืองใหญ่

 

สิ่งนี้นำไปสู่ข้อเท็จจริงและแนวโน้มที่เป็นรูปธรรม ครอบครัวครึ่งหนึ่งหรือจำนวนมากยืนข้างสิทธิของหญิงสาวในแง่ของทัศนคติต่อการแต่งงานและการมีบุตร

 

นอกจากนี้ จำนวนของหญิงสาวที่มีการศึกษาดีและเป็นอิสระด้านการเงินมีจำนวนเท่ากันหรือสูงกว่าผู้ชายในวัยเดียวกัน ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ส่งผลให้ทัศนคติและค่านิยมของหญิงสาวมีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคม

 

Gen Z

 

ตามรายงานประจำปีสถิติของจีน ปี 2021 ของรัฐบาลกลาง ผู้หญิงคิดเป็น 52.7% ของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปในผู้ใหญ่อายุ 20-34 ปี

 

กลายเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่ประชากรของจีนและนโยบายความเท่าเทียมทางเพศที่ต้องเผชิญ ที่น่าสนใจคือผู้ที่กำหนดและดำเนินการตามนโยบายส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ส่งผลให้นโยบายต่างๆ ที่ริเริ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นการแต่งงานและการคลอดบุตรไม่อยู่ในจุดที่เกิดจากความต้องการอย่างแท้จริง อีกทั้งยังไม่เข้าใจความต้องการที่ลึกซึ้งของหญิงสาว

 

ตัวอย่างเช่น กฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในปีนี้กำหนดให้คู่รักที่ต้องการหย่าร้างมีช่วงเวลาพักร้อน 30 วัน นอกจากนี้ นโยบายที่มุ่งขยายเวลาการลาเพื่อคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้าง สามารถเพิ่มการเลือกปฏิบัติที่ผู้หญิงต้องเผชิญในที่ทำงาน

 

“อย่างไรก็ตาม ระดับการศึกษาและอาชีพของผู้หญิงสูงขึ้นเร็วกว่าผู้ชายในจีน ในขณะที่นโยบายยังคงล้าหลังกว่าความคิดเห็นที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับการแต่งงานและการมีบุตรของเยาวชน” Huang Wenzheng นักประชากรศาสตร์ที่เขียนเกี่ยวกับอัตราการเกิดของประเทศอย่างครอบคลุม กล่าว “ความขัดแย้งทางเพศของประเทศจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต”

 

การแต่งงานที่ต่ำที่สุดในรอบ 36 ปี

ในปี 2021 มีคู่แต่งงานจำนวน 7.63 ล้านคู่ที่จดทะเบียนสมรสทั่วประเทศ ซึ่งต่ำเป็นประวัติการณ์ในรอบ 36 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 1986 ที่กระทรวงกิจการพลเรือนเริ่มเปิดเผยสถิติดังกล่าว

 

เหอยาฟู นักประชากรศาสตร์อิสระบอกกับ Global Times ว่า จำนวนการจดทะเบียนสมรสที่ลดลงย่อมส่งผลให้อัตราการเกิดในจีนลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่เกิดภายในการแต่งงานในจีน

 

จำนวนการจดทะเบียนสมรสทั่วประเทศลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนคู่แต่งงานน้อยกว่า 10 ล้านคนในปี 2019, น้อยกว่า 9 ล้านคนในปี 2020 และน้อยกว่า 8 ล้านคนในปี 2021

 

ตามข้อมูลของเหอยาฟู ตัวเลขการจดทะเบียนสมรสในจีนลดลงติดต่อกันเป็นเวลา 8 ปี เนื่องจากจำนวนคนหนุ่มสาวที่ลดลง มีผู้ชายมากกว่าผู้หญิงที่อยู่ในวัยที่แต่งงานได้ และตัดสินใจที่จะเลื่อนการแต่งงานออกไปจนกว่าพวกเขาจะมีอายุมากขึ้น

 

Gen Z

 

ใครจะกล้ามีลูกในสถานการณ์เช่นนี้

ข้อมูลสำมะโนของจีนซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 แสดงให้เห็นว่ามีเด็กเกิดประมาณ 12 ล้านคนในปี 2020 ลดลงอย่างมากจาก 18 ล้านคนในปี 2016 และจำนวนการเกิดน้อยที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960

 

ในขณะที่จำนวนประชากรโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ก็เคลื่อนไหวอย่างช้าที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ทำให้มีความกังวลว่าจีนอาจเผชิญกับการลดลงของจำนวนประชากรเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 

 

และนี่อาจทำให้จีนกำลังจะเผชิญ ‘สังคมสูงวัย’ เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

 

ช่วงต้นเดือนมกราคม 2022 สำนักข่าวซินหัวซึ่งเป็นสื่อของรัฐ ได้โพสต์วิดีโอที่เตือนชายหนุ่มชาวจีนที่เกิดในปี 2000 ว่าพวกเขาสามารถแต่งงานได้แล้ว

 

หลังจากนั้นก็เกิดกระแสใน Weibo และการวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงจากคนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็น “ใครจะกล้าแต่งงานในทุกวันนี้? พวกเราไม่ต้องทำงานหรือ” และ “หยุดมาวุ่นวายกับฉัน”

 

ภายใต้กฎหมายของจีน ผู้ชายสามารถแต่งงานได้ตั้งแต่ 22 ปี และผู้หญิงอายุ 20 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ใช้เวลาหลายปีในการแนะนำนโยบายเพื่อสนับสนุนการแต่งงานและการมีบุตร มีการแก้ไขกฎการวางแผนครอบครัวที่เข้มงวดสองครั้งในทศวรรษที่ผ่านมา ครั้งแรกคือการยุตินโยบายลูกคนเดียวที่มีมายาวนานหลายสิบปีในปี 2015 และต่อมาคืออนุญาตให้คู่สมรสมีลูกสามคน

 

“ทัศนคติของคนหนุ่มสาวชาวจีนที่มีต่อการแต่งงาน เป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อความพยายามของปักกิ่งในการเปลี่ยนแปลงวิกฤตด้านประชากรศาสตร์ที่กำลังจะเกิดขึ้น” ดร.เย่หลิว จาก King’s College London กล่าว “ควบคู่ไปกับระดับการศึกษาที่สูงขึ้นและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สิ่งนี้จะกลายเป็นเรื่องน่าปวดหัวมากขึ้นในปีต่อๆ ไป”

 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งกล่าวกับ BBC ว่า เป็นเพราะการผ่อนคลายนโยบายไม่ได้มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่สนับสนุนชีวิตครอบครัว เช่น การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการศึกษา หรือการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการดูแลเด็ก ทำให้หลายคนไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่จะไม่อยากแต่งงานและมีลูก

 

“ฉันไม่อยากแต่งงานเลย” เหยาซิง หนุ่มโสดวัย 32 ปี ที่อาศัยอยู่ในเมืองตานตง ใกล้ชายแดนจีนกับเกาหลีเหนือกล่าว แม้ว่าพ่อแม่ของเขาจะกดดันให้แต่งงานและมีบุตร “ฉันคิดว่าผู้คนรอบตัวฉันไม่อยากแต่งงานกันมากขึ้นเรื่อยๆ”

 

คู่รักที่แต่งงานกันในจีนมักไม่ต้องการมีบุตร โดยอ้างว่าเป็นกังวลเรื่องค่าเล่าเรียนที่เพิ่มสูงขึ้น และภาระในการดูแลพ่อแม่สูงอายุในขณะที่ยังมีบุตรเล็กๆ บางคนเลื่อนการแต่งงานออกไป เลือกที่จะอยู่ด้วยกันโดยไม่มีพิธีแต่งงานและไม่มีบุตร

 

“อัตราการแต่งงานที่ค่อนข้างต่ำ ประกอบกับอัตราการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้น อาจส่งสัญญาณถึงการปฏิเสธการแต่งงาน ซึ่งหมายความว่าผู้คนจำนวนมากขึ้นอาจเลือกอยู่ร่วมเฉยๆ กันมากกว่าการแต่งงาน” ดร.เย่หลิวกล่าว

 

ภาพ: Kevin Frayer / Getty Images 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising