เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ใครที่เป็นสายรักสุขภาพหรือสายหวาน 0% ต่างต้องกุมขมับไปตามๆ กัน หลังสำนักข่าว Reuters รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าววงในว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เตรียมประกาศให้ ‘แอสปาร์แตม’ (Aspartame) เป็นสารที่อาจก่อมะเร็งชนิดใหม่
ชื่อของแอสปาร์แตมอาจไม่ได้ฟังคุ้นหูมากนักสำหรับคนทั่วไป แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วชีวิตของเราพัวพันกับแอสปาร์แตมอยู่ในทุกๆ วัน โดยแอสปาร์แตมเป็นสารทดแทนความหวานที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลปกติถึง 200 เท่า และใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในอาหารและเครื่องดื่มประเภทแคลอรีต่ำหรือน้ำตาล 0% รวมถึง Coke Zero และ Diet Coke ที่เป็นเครื่องดื่มเติมความสดชื่นของใครหลายๆ คน นอกจากนี้ยังถูกใช้ในลูกอม หมากฝรั่ง ยาสีฟัน ไอศกรีม โยเกิร์ต ซอส และขนมอีกหลากหลายชนิด
Reuters รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิด 2 แหล่งด้วยกัน โดยระบุว่า ในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) ภายใต้การกำกับดูแลของ WHO เตรียมประกาศให้แอสปาร์แตมเป็นสารที่ ‘มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์’ (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘Possibly carcinogenic to humans’) หลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมประชุมสรุปการตัดสินใจดังกล่าวเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
รายงานระบุว่าการวิจัยของ IARC มีเป้าหมายเพื่อประเมินว่าสารต่างๆ นั้นมีแนวโน้มที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือไม่ โดยอ้างอิงจากหลักฐานต่างๆ ที่เผยแพร่ออกมา แต่ทั้งนี้รายงานดังกล่าวไม่ได้ประเมินรวมไปถึงประเด็นที่ว่า ‘ต้องบริโภคมาก-น้อยเท่าไรถึงจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์’
นอกจาก IARC แล้ว คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตร และองค์การอนามัยโลก หรือ JECFA ก็กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาทบทวนการใช้งานแอสปาร์แตมด้วยเช่นกันในปีนี้ โดยการประชุมของ JECFA ได้เปิดฉากขึ้นเมื่อช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และมีกำหนดที่จะเปิดเผยผลการศึกษาในวันเดียวกับที่ IARC เตรียมประกาศการตัดสินใจดังกล่าว หรือในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้
-
ย้อนดูผลการศึกษาเกี่ยวกับแอสปาร์แตมในอดีต
นับตั้งแต่ปี 1981 หรือย้อนกลับไปเมื่อ 42 ปีที่แล้ว JECFA กล่าวว่าแอสปาร์แตม ‘มีความปลอดภัย’ หากบริโภคในปริมาณที่กำหนดต่อวัน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม จะต้องดื่ม Diet Coke มากถึง 12-36 กระป๋องต่อวันจึงจะมีความเสี่ยง ซึ่งการประกาศดังกล่าวก็เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั่วโลก รวมถึงในหมู่หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐอเมริกาและยุโรปด้วย ซึ่งระบุว่าการบริโภคแอสปาร์แตมนั้นปลอดภัยหากอยู่ในปริมาณที่จำกัดไว้คือ 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยบางส่วนที่ชี้ว่าแอสปาร์แตมเป็นสารที่มีความเชื่อมโยงกับโรคมะเร็ง เพราะตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีหลายองค์กรที่พยายามศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของแอสปาร์แตมอย่างต่อเนื่อง โดยหากย้อนไปดูในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 มีการศึกษาจากสถาบัน Ramazzini ในอิตาลีที่รายงานว่า แอสปาร์แตมมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งในหนูที่นำมาใช้ในการทดลองดังกล่าว
หรือสดๆ ร้อนๆ เมื่อปี 2022 มีการศึกษาในฝรั่งเศสซึ่งได้เก็บข้อมูลผู้ใหญ่ 10,000 คน ผลปรากฏว่าผู้ที่บริโภคสารทดแทนความหวานในปริมาณมากๆ รวมถึงแอสปาร์แตม มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากกว่าคนทั่วไป แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
-
น่ากังวลแค่ไหน?
ข่าวดังกล่าวได้สร้างกระแสความวิตกกังวลให้กับคนทั่วโลก เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แอสปาร์แตมแฝงตัวอยู่ในหลายผลิตภัณฑ์ที่ใช้บริโภคกันในชีวิตประจำวันโดยที่เราเองก็ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน สำนักข่าว The Guardian จึงได้สอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญด้วยคำถามที่เราทุกคนต่างสงสัยกันว่า “แล้วเราต้องหยุดการบริโภคทุกอย่างที่มีส่วนผสมของแอสปาร์แตมเลยหรือไม่?”
กิเดียน เมเยโรวิตซ์-แคตซ์ (Gideon Meyerowitz-Katz) นักระบาดวิทยาที่ทำงานเกี่ยวกับโรคเรื้อรังทางตะวันตกของซิดนีย์ กล่าวว่า เรื่องของสารทดแทนความหวานเป็นสิ่งที่มนุษย์กังวลและมีการศึกษาเกี่ยวกับมันมาหลายสิบปี ฉะนั้น ข่าวที่ออกมานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราต้องตื่นตูมมากเกินไป
เมเยโรวิตซ์-แคตซ์กล่าวว่า ในฐานะที่ตัวเองเป็นคนที่ชอบดื่ม Coke Zero เป็นชีวิตจิตใจ การที่มีข่าวลักษณะนี้ออกมาก็ควรจะทำให้เขารู้สึกตกใจอยู่เหมือนกัน แต่ในฐานะที่เขาเองเป็นนักระบาดวิทยาที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับผลกระทบที่แอสปาร์แตมก่อกับสุขภาพของมนุษย์ เขาคิดว่าตอนนี้เรายังไม่จำเป็นต้องกังวลมากจนเกินไป
หากลองมาเจาะดูที่เนื้อข่าวจะพบว่า IARC ได้ระบุให้แอสปาร์แตมเป็นสารก่อมะเร็งระดับ 2B ซึ่งต้องไล่เลียงเช่นนี้ก่อนว่า การนิยามสารก่อมะเร็งของ IARC จะแบ่งออกเป็น 4 ระดับใหญ่ๆ ด้วยกันคือ
- ระดับ 1 – ก่อให้เกิดมะเร็ง (มีหลักฐานบ่งชี้เพียงพอว่าก่อมะเร็งในมนุษย์)
- ระดับ 2A – มีแนวโน้มก่อให้เกิดมะเร็ง (มีหลักฐานบ่งชี้ว่าก่อมะเร็งในมนุษย์ในระดับจำกัด แต่มีหลักฐานบ่งชี้เพียงพอว่าก่อมะเร็งในสัตว์)
- ระดับ 2B – มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็ง (มีหลักฐานบ่งชี้ว่าก่อมะเร็งในมนุษย์ในระดับจำกัด และมีหลักฐานบ่งชี้ว่าก่อมะเร็งในสัตว์ไม่เพียงพอ)
- ระดับ 3 – ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านมะเร็ง
เมื่อดูจากข้อมูลตรงนี้แล้วจะเห็นได้ว่าแอสปาร์แตมอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับสารก่อมะเร็งตามเกณฑ์ของ IARC โดยระดับต่ำสุดหรือ 3 นั้น ในทางเทคนิคหมายความว่าไม่สามารถประเมินความเสี่ยงด้านมะเร็งได้ เนื่องจากขาดหลักฐานยืนยัน ส่วนระดับ 2B หมายความว่า มีความเสี่ยง ‘ที่คลุมเครือและยังไม่ได้รับการพิสูจน์ที่แน่ชัด’ ว่าอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ หรือพูดง่ายๆ คือมันไม่ได้แปลว่าแอสปาร์แตมทำให้เกิดมะเร็งแน่นอน หรือมีแนวโน้มสูงที่จะก่อมะเร็ง
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริงๆ แล้วมีสารระดับ 2B เป็นส่วนผสมในสิ่งของที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน เช่น กรดคาเฟอิก (Caffeic Acid) ซึ่งพบในกาแฟ ว่านหางจระเข้ นิกเกิล สารสกัดจากแปะก๊วย (อยู่ในอาหารเสริมทั่วไป) และผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าว แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้คนตกใจหรือให้ความสนใจเท่ากับสารทดแทนความหวาน
ตอนนี้เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นเพราะเหตุใด IARC จึงเตรียมประกาศให้แอสปาร์แตมเป็นสารก่อมะเร็งชนิด 2B เพราะยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลการตัดสินใจออกมาอย่างเป็นทางการ แต่เมเยโรวิตซ์-แคตซ์มองว่า การประกาศดังกล่าวทำให้เขารู้สึกประหลาดใจ เพราะแอสปาร์แตมเป็นสารทดแทนความหวานที่มีประวัติด้านความปลอดภัยที่แข็งแกร่งเอาเรื่องอยู่ โดยผลการศึกษามากมายนับตั้งแต่ปี 1980 ไม่เคยพบความเชื่อมโยงระหว่างแอสปาร์แตมและมะเร็ง ซึ่งรวมถึงเอกสารทางระบาดวิทยาจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับผู้คนหลายแสนคน
และแม้ว่าบางครั้งจะมีข้อบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างที่เราได้นำเสนอไปแล้วข้างต้น แต่งานวิจัยเหล่านั้นก็แทบไม่ได้รับเสียงสนับสนุนสักเท่าไร หากดูจากภาพรวมของผลการศึกษาทั้งหมดร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาในฝรั่งเศสพบความเสี่ยงของมะเร็งบางชนิดที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ที่บริโภคแอสปาร์แตมจำนวนมาก แต่หากดูในเอกสารงานวิจัยอื่นๆ กลับไม่พบความเสี่ยงในลักษณะเดียวกันนี้
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การประกาศของ IARC ไม่ได้คำนึงถึงขนาดของความเสี่ยงว่าต้องบริโภคมาก-น้อยเพียงใดจึงจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่การประกาศดังกล่าวเหมือนเป็นการตอบคำถามแค่ว่า Yes หรือ No ในแง่ที่ว่าแอสปาร์แตมเป็นสาเหตุหรือมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดมะเร็งหรือไม่ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนคือแม้แต่เนื้อแดงยังจัดให้อยู่ในสารก่อมะเร็งระดับ 2A หรืออันตรายกว่าแอสปาร์แตมที่อยู่ในระดับ 2B เสียอีก แต่นั่นก็หมายความว่าวันหนึ่งคุณต้องกินเนื้อแดงเยอะมากกว่าที่มันจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับสุขภาพของคุณ
ฉะนั้นแล้ว สำหรับเมเยโรวิตซ์-แคตซ์ เขายังคงยืนยันว่าตัวเองจะดื่ม Coke Zero ต่อไป อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติมออกมา
แฟ้มภาพ: Alex Ionas Via Shutterstock
อ้างอิง:
- https://theconversation.com/aspartame-popular-sweetener-could-be-classified-as-a-possible-carcinogen-by-who-but-theres-no-cause-for-panic-208895
- https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/whos-cancer-research-agency-say-aspartame-sweetener-possible-carcinogen-sources-2023-06-29/
- https://www.theguardian.com/australia-news/commentisfree/2023/jul/06/does-diet-coke-cause-cancer-aspartame
- https://www.theguardian.com/society/2023/jun/29/aspartame-artificial-sweetener-possible-cancer-risk-carcinogenic