จากการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่รวบรวมข้อมูลกว่า 4,300 เมือง ใน 108 ประเทศทั่วโลกพบว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศสูงถึง 7 ล้านคน ซึ่งทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนากำลังประสบปัญหามลพิษทางอากาศอย่างหนัก บางแห่งมีมลพิษทางอากาศสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลกถึง 5 เท่า
จีนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญปัญหาด้านมลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดในโลก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและประสบผลสำเร็จเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ หลังประกาศทำสงครามกับมลพิษทางอากาศเมื่อปี 2014 โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า เมืองควาลิยัร (Kwalior) ของอินเดีย ประสบปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดในเอเชีย ขณะที่เมืองบาเมนดา (Bamenda) ของแคเมอรูน ประสบปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดในแอฟริกา ตามมาด้วยกรุงไคโร (Cairo) ของอียิปต์
ประเทศส่วนใหญ่ที่อยู่ในทวีปยุโรป อเมริกา และแปซิฟิกตะวันตก ประสบปัญหามลพิษทางอากาศในอัตราที่ต่ำ รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่กำหนดมาตรการอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหา อาทิ อังกฤษที่ตั้งเป้ายกเลิกการใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียมและน้ำมันดีเซลในการขับเคลื่อนยานพาหนะทุกชนิด ภายในปี 2040 นี้
ในปี 2016 ที่ผ่านมา กว่า 3.8 ล้านคน เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ภายในครัวเรือน โดยเฉพาะการประกอบอาหารและการจุดเตาเพื่อเพิ่มอุณหภูมิความร้อนภายในที่พักอาศัย ซึ่งมลพิษเหล่านี้ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เสียชีวิตโดยตรง แต่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมา
องค์กรอนามัยโลกระบุว่า ปัญหามลพิษทางอากาศที่กำลังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน กำลังกลายเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) ซึ่งไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ที่จะมีการดำเนินโรคเกิดขึ้นอย่างอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรค เช่น โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังและโรงมะเร็งต่างๆ เป็นต้น
Photo: AFP
อ้างอิง: