×

WHO ชี้ ยุโรปและเอเชียกลางอาจมีผู้เสียชีวิตจากโควิดเพิ่มถึง 700,000 รายภายใน มี.ค. ปีหน้า หากผู้ติดเชื้อยังพุ่งต่อเนื่อง

โดย THE STANDARD TEAM
25.11.2021
  • LOADING...
COVID-19

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำยุโรป คาดการณ์ว่ายุโรปและเอเชียกลาง ซึ่งมีประเทศรวมกัน 53 ประเทศ อาจมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดรวมกว่า 2.2 ล้านคนภายในเดือนมีนาคมปีหน้า เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคกำลังเผชิญกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นท่ามกลางการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่แพร่เชื้อได้ง่ายและเร็วขึ้น

 

การคาดการณ์ดังกล่าวของ WHO มีขึ้นหลังจากที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิดในยุโรปและเอเชียกลางทะลุ 1.5 ล้านคนแล้ว โดยขณะนี้โควิดกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของภูมิภาค ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตเกือบ 4,200 รายต่อวัน เพิ่มขึ้นสองเท่าจากตัวเลขเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 

 

สำนักงานประจำยุโรปของ WHO ตั้งอยู่ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และมีพื้นที่ความรับผิดชอบครอบคลุมยุโรป ตลอดจนอิสราเอล ตุรกี และประเทศในเอเชียกลาง ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน

 

ดร.ฮันส์ คลูเกอ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำยุโรป ระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ว่า “เพื่อที่จะอยู่ร่วมกับไวรัสและใช้ชีวิตประจำวันของเราต่อไป เราจำเป็นต้องใช้แนวทาง ‘Vaccine Plus’ กล่าวคือ รับวัคซีนครบโดสตามที่กำหนด รับวัคซีนกระตุ้นตามคำแนะนำ ตลอดจนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันให้เป็นกิจวัตร”

 

นอกจากสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายง่ายขึ้นแล้ว แถลงการณ์ของ WHO ยังระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในยุโรปและเอเชียกลางพุ่งสูงขึ้นว่า เป็นเพราะประชาชนไม่ยอมเข้ารับการฉีดวัคซีน ประกอบกับหลายประเทศตัดสินใจยกเลิกมาตรการสวมหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลกเตือนว่า ฤดูหนาวอาจทำให้โควิดกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในยุโรป เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นทำให้ผู้คนรวมตัวกันอยู่ภายในอาคารหรือสถานที่ปิดที่อากาศไม่ถ่ายเท ซึ่งเป็นสภาพที่เอื้อต่อการแพร่กระจายของไวรัส

 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูหนาวที่ท้าทาย รวมทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์และการหยุดชะงักของเศรษฐกิจ คลูเกอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน เช่น การใช้หน้ากากอนามัยและอุปกรณ์คลุมใบหน้า การเว้นระยะห่าง การตรวจหาเชื้อ และการติดตามผู้สัมผัสโรค นอกจากนี้แถลงการณ์ของ WHO ยังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ พิจารณาฉีดบูสเตอร์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เพื่อกระตุ้นประสิทธิภาพที่ลดลงของวัคซีนที่ได้รับไปก่อนหน้า

 

องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า หอผู้ป่วยวิกฤต หรือห้อง ICU ของโรงพยาบาลใน 49 ประเทศ จาก 53 ประเทศทั่วภูมิภาค อาจประสบภาวะตึงตัวสูงหรือรุนแรงในระหว่างนี้ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2022 และเตียงรองรับผู้ป่วยใน 25 ประเทศอาจประสบภาวะตึงตัวสูงหรือรุนแรงเช่นกัน

 

จำนวนผู้ติดเชื้อในยุโรปและเอเชียกลางเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 กันยายน โดยนักวิจัยของ WHO ประเมินว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ราว 1.1 ล้านคนในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว ขณะที่รายงานสถานการณ์โควิดล่าสุดของ WHO ระบุว่า พบผู้ป่วยใหม่มากกว่า 2.4 ล้านรายในภูมิภาคในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 พฤศจิกายน หรือคิดเป็นประมาณ 67% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกในช่วงเวลาเดียวกัน

 

ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นในออสเตรียทำให้นายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ ชาลเลนเบิร์ก ประกาศบังคับฉีดวัคซีนทั่วประเทศ มีผลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และเริ่มล็อกดาวน์ประเทศเป็นครั้งที่ 4 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ขณะที่เนเธอร์แลนด์ประกาศล็อกดาวน์บางส่วนเมื่อวันเสาร์ ธุรกิจบางประเภทต้องปิดทำการเร็วขึ้น และห้ามประชาชนเข้าชมการแข่งขันกีฬาเป็นเวลาสามสัปดาห์

 

ด้าน อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีที่กำลังจะหมดวาระ เรียกร้องให้ใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อสกัดการระบาดระลอกใหม่ในเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป

 

ภาพ: Thomas Kronsteiner / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising