×

ที่ซ่อนตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีจริง? ย้อนประวัติศาสตร์บังเกอร์ใต้ทำเนียบขาว

08.06.2023
  • LOADING...

ทำเนียบขาว หรือ White House เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงานของบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของโลกอย่างประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นทำเนียบขาวจึงจำเป็นต้องเป็นสถานที่ที่ได้รับการปกป้องสูงสุด รวมถึงมีบังเกอร์ใต้ดิน เพื่อเป็นที่ซ่อนตัวของประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่ระดับสูง ในกรณีที่ทำเนียบขาวถูกโจมตีด้วยระเบิด (โดยเฉพาะจากอาวุธนิวเคลียร์) 

 

บทความนี้จะพาย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของการสร้างบังเกอร์นี้ รวมถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาตร์ที่มีความเกี่ยวข้อง

 

📍 ต้นกำเนิดจากเพิร์ลฮาร์เบอร์

 

บังเกอร์ใต้ทำเนียบขาวถูกสร้างขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์ที่ฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ในมลรัฐฮาวาย ถูกโจมตีอย่างไม่คาดฝันจากกองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่น จนทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตไปกว่า 2,000 นาย และเรือรบเสียหายไปอีก 19 ลำ

 

เหตุการณ์ที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ทำให้รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ เกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างมากว่าพวกเขาจะโดนโจมตีแบบสายฟ้าแลบอีก โดยเฉพาะในที่ที่เป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจของรัฐบาลและกองทัพอย่างทำเนียบขาว ทำให้ประธานาธิบดีในขณะนั้นอย่าง แฟรงกลิน ดีลาโน โรสเวลต์ ตัดใจอนุมัติให้มีการก่อสร้างบังเกอร์หลบภัยใต้ปีกฝั่งตะวันออกของทำเนียบขาว ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้รับการอัปเกรดให้มีความปลอดภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ (ในระดับหนึ่ง) ในยุคของประธานาธิบดีคนถัดไปอย่าง แฮร์รี เอส. ทรูแมน ซึ่งเป็นยุคที่สหรัฐฯ เริ่มทำสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต และภัยจากอาวุธนิวเคลียร์กลายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และใกล้ตัว

 

📍 วินาศกรรมที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์

 

ความสำคัญของบังเกอร์ใต้ทำเนียบขาวได้ลดน้อยลงไปภายหลังชัยชนะในสงครามเย็นของสหรัฐฯ จนนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในช่วงต้นทศวรรษ 1990 และความกังวลต่อสงครามนิวเคลียร์ที่หมดไป

 

อย่างไรก็ตาม บังเกอร์ใต้ทำเนียบขาวกลับมาอยู่ในสปอตไลต์อีกครั้งหลังเหตุวินาศกรรมที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2011 โดยที่ครอบครัวของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีในขณะนั้น และรองประธานาธิบดีดิก เชนีย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาว ได้อพยพมาหลบอยู่ในบังเกอร์ภายหลังจากที่ตึกแฝดถูกผู้ก่อการร้ายขับเครื่องบินชน (และในตอนนั้นมีรายงานข่าวว่า ทำเนียบขาวอาจจะเป็นเป้าหมายต่อไป) โดยที่ในขณะนั้นประธานาธิบดีบุชไม่ได้อยู่ในทำเนียบขาว (เพราะเขากำลังเดินสายโปรโมตนโยบายด้านการศึกษาของเขาที่มลรัฐฟลอริดา) 

 

ซึ่งภายหลังจากที่เกิดเหตุ ทีมรักษาความปลอดภัยของบุชก็ได้พาเขาขึ้นเครื่องบิน Air Force One ไปหลบในเซฟเฮาส์ก่อน ก่อนที่จะพาเขาบินกลับมาทำเนียบขาวและมุ่งตรงลงไปยังบังเกอร์ในช่วงดึกของคืนวันนั้น

 

📍 เป็นข่าวอีกครั้งในยุคของทรัมป์

 

บังเกอร์ใต้ทำเนียบขาวกลับมาอยู่ในความสนใจของหน่วยรักษาความปลอดภัยของทำเนียบขาวและสื่อมวลชนในยุคปี 2000 ที่โลกทั้งโลกดูเหมือนจะตกอยู่ภายใต้ภยันตรายของการก่อร้าย โดยเริ่มจากเหตุการณ์วินาศกรรมที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และตามมาด้วยเหตุการณ์การวางระเบิดที่มหานครใหญ่ๆ ของโลกตะวันตกอย่างมาดริดและลอนดอน จนนำไปสู่การอัปเกรดระบบความปลอดภัยของบังเกอร์อีกรอบหลังจากยุคของทรูแมน

 

อย่างไรก็ดี ความสนใจเกี่ยวกับบังเกอร์ก็ได้ลดน้อยลงเรื่อยๆ หลังจากที่โลกตะวันตกประสบความสำเร็จในการจัดการกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย (โดยเฉพาะกับการจับตาย อุซามะห์ บิน ลาดิน) ทำให้ความกังวลเรื่องการก่อวินาศกรรมลดน้อยลงไปมาก

 

แต่บังเกอร์ใต้ทำเนียบขาวกลับมาอยู่ในข่าวอีกครั้งในปี 2020 ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีในขณะนั้นอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตัดสินใจหลบลงไปในบังเกอร์หลังจากที่มีการประท้วงรอบทำเนียบขาวโดยกลุ่ม Black Lives Matter จากชนวนเหตุการเสียชีวิตของชายผิวดำอย่าง จอร์จ ฟลอยด์ ซึ่งเกิดจากการทารุณกรรมของตำรวจ 

 

การหลบลงไปในบังเกอร์ของทรัมป์ครั้งนั้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนว่าทำเกินกว่าเหตุ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมก็เป็นเพียงประชาชนชาวอเมริกันทั่วไปที่ไม่มีอาวุธหรือเป็นผู้ก่อการร้าย โดยสื่อวิเคราะห์ว่า นี่อาจเป็นการพยายามป้ายสีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Black Lives Matter ว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ชอบใช้ความรุนแรง จนแม้แต่ประธานาธิบดียังต้องหนีลงไปหลบในบังเกอร์

 

ภาพ: Getty Images

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising