ยังจำชื่อ ‘นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร’ กันได้ไหม ลองนึกย้อนกลับไปสมัยประถมเลยก็ว่าได้ ที่คุณครูสอนให้เรารู้จัก ‘สัตว์ป่าสงวน’ 1 ใน 10 กว่ารายชื่อของสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ก็คือเจ้านกตัวนี้ด้วยนั่นเอง
หลังการค้นพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2511 ในประเทศไทย ที่จังหวัดนครสวรรค์ นับจนถึงปัจจุบัน ปีนี้เป็นปีที่ 50 ของการค้นพบ แต่ทว่านกชนิดนี้ กลับมีชะตากรรมที่ใกล้สูญพันธ์ุจากธรรมชาติเต็มทีแล้ว
นักปักษีวิทยาของเมืองไทยต่างมีความเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ (พระยศขณะนั้น) ทรงเป็นผู้ที่สนพระทัยในเรื่องธรรมชาติวิทยาของเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงขอพระราชทานนามมาตั้งชื่อนกชนิดนี้ว่า ‘นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร’
ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการรำลึกถึงการพบนกชนิดสำคัญนี้ในประเทศ เว็บไซต์ Google ได้ปรับเปลี่ยนโลโก้ หรือที่เรียกว่า Google Doodle เป็นภาพนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรในวันนี้ด้วย
สำหรับนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกเฉพาะถิ่น ที่พบได้เพียงแห่งเดียวในโลกคือที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ จากรายงานการพบเห็นในปี พ.ศ. 2515, 2520 และ 2523 และก็ไม่มีการพบเห็นอีกเลยจนปัจจุบัน
สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) และ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (2540) จัดนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง มีการประมาณจำนวนของนกชนิดนี้ว่าลดลง หรือจะลดลงถึง 80% ภายในสามรุ่น
IUCN จะไม่พิจารณาว่านกชนิดนี้สูญพันธุ์จนกว่าได้ดำเนินการสำรวจเป้าหมายครอบคลุมแล้ว แต่นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทยหรือจากโลก