ใครกันทำลายอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แค่ 4 ปีภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สะบั้นสายสัมพันธ์ข้ามทวีปจนขาดวิ่นจริงหรือ
คำถามนี้เป็นสิ่งที่นักรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศพยายามหาคำตอบ และประเมินถึง ‘ความเสียหาย’ ที่นโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ หรือ America First ของทรัมป์ ผลักดันให้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ยึดบนหลักผลประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง
ผลสำรวจความคิดเห็นนักวิชาการและนักคิดในเอเชีย จัดทำโดยสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 77% เชื่อว่า สหรัฐฯ ลดบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในกลุ่มประเทศอาเซียนลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา (2008-2016) ขณะเดียวกัน ผู้ที่หมดความเชื่อมั่นในสถานะ ‘พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์’ ของสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 47% จาก 34% ที่เคยสำรวจไว้ในปี 2019
ศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) จัดทำโพลคล้ายกันในชาติพันธมิตรสำคัญของอเมริกาพบว่า
- ออสเตรเลียเชื่อมั่นในสหรัฐฯ เพียง 35% เมื่อเทียบกับ 84% ในปีสุดท้ายของรัฐบาลโอบามา
- ญี่ปุ่นเคยเชื่อมั่นในรัฐบาลสหรัฐฯ มากถึง 78% แต่มาวันนี้เหลือเพียง 36%
- เกาหลีใต้ยอมรับรัฐบาลทรัมป์เพียง 46% เมื่อเทียบกับ 88% ที่เชื่อมั่นในรัฐบาลโอบามา
- ฟิลิปปินส์มีสถิติความเชื่อมั่นในสหรัฐฯ ที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก จาก 94% ในปี 2016 เหลือ 77% แต่ยังถือว่าเป็นอัตราที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
หากพิจารณาตามตัวเลขเหล่านี้ คงพูดได้ว่า The damage is done หรือความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว คำถามต่อมาคือ แล้วถ้า โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ จะสมานรอยแผลนี้ได้ไหม หรือ ‘มัน’ ได้กลายเป็น ‘แผลเป็น’ ที่ไม่มีวันเลือนหายไปได้ THE STANDARD ชวนคิดและหาคำตอบกัน
ความปราชัยของสหรัฐฯ ในเอเชีย-แปซิฟิก
สำนักข่าว Foreign Policy วิเคราะห์ว่า ทรัมป์ไม่เพียงทำลายจุดยืนของสหรัฐฯ ในเอเชีย แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงเกิดสงครามในภูมิภาค รวมถึงฉุดให้อเมริกาอ่อนแอลง ในเชิงการรักษาผลประโยชน์ทางอำนาจในแปซิฟิก
ความพยายามเข้าหาเกาหลีเหนือจนถึงขั้นร่วมประชุมสุดยอดกับ คิมจองอึน ผู้นำสูงสุด ในสิงคโปร์เมื่อปี 2018 ด้วยเป้าหมายปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ กลายเป็นได้ผลตรงกันข้าม เพราะทุกวันนี้โครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือก้าวหน้ามากขึ้น ขีปนาวุธมีสมรรถนะน่ากลัวขึ้น
นับแต่ประชุมสุดยอดกับทรัมป์ เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธมากกว่า 30 ครั้ง และเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เกาหลีเหนือจัดการสวนสนามยิ่งใหญ่ ในโอกาสครบ 75 ปีการก่อตั้งพรรคแรงงาน พร้อมเปิดตัวขีปนาวุธข้ามทวีปขนาดยักษ์ ที่ต้องใช้รถบรรทุก 22 ล้อในการเคลื่อนย้าย มีความยาว 24-25 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เมตร และติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ถึง 3-4 หัว ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดและอานุภาพทำลายล้างทรงพลังที่สุดเท่าที่เกาหลีเหนือเคยพัฒนามา และแน่นอน โจมตีเป้าหมายในสหรัฐฯ ได้อย่างง่ายดาย ตามที่เกาหลีเหนือกล่าวอ้าง
เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธมากขึ้นในสมัยทรัมป์
นโยบายต่อจีนของทรัมป์ ที่ดู ‘เหยียดเชื้อชาติ’ และ ‘ดูถูกดูแคลน’ ทั้งการขยายสงครามทางการค้า และตัดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไม่ช่วยให้สถานะของอเมริกาในเอเชียดีขึ้น โดย Foreign Policy มองว่า บาดแผลที่ทรัมป์ได้ก่อไว้ อาจต้องใช้เวลาหลายทศวรรษเพื่อรักษา
ไต้หวันอาจได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ละเมิดหลักการ ‘จีนเดียว’ หันมาสนับสนุนการเรียกร้องอธิปไตยของไต้หวัน แต่นับวันรัฐบาลจีนยิ่งเชื่อมั่นว่า หากความตึงเครียดแปรเปลี่ยนเป็นการปะทะ สหรัฐฯ จะไม่ส่งกองกำลังเข้ามาช่วยเหลือไต้หวัน ดังนั้นเราอาจพูดได้ว่า นโยบายแบบ ‘ขอไปที’ ของทรัมป์ ยิ่งทำให้ความมั่นคงในคาบสมุทรไต้หวันไร้เสถียรภาพมากขึ้น
พันธมิตรสำคัญ…ต้องพึ่งพาตนเอง
นโยบายการต่างประเทศ ‘ที่ล้มเหลว’ ของโดนัลด์ ทรัมป์ ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของพันธมิตรประชาธิปไตยสำคัญในภูมิภาค
โรเบิร์ต ไอย์สัน (Robert Ayson) ศาสตราจารย์ด้านยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งเวลลิงตัน วิเคราะห์ว่า ‘นิวซีแลนด์ไม่ได้เห็นสหรัฐฯ เป็นผู้นำอีกต่อไป’ แต่เป็น ‘ประเทศที่ไร้ความรับผิดชอบ เฉกเช่นเดียวกับจีนและรัสเซีย’
ออสเตรเลียเองได้เริ่มนโยบายที่จะลดการพึ่งพาสหรัฐฯ และรับมือกับการแผ่อิทธิพลของจีนด้วยตนเอง
แม้แต่ประเทศที่มี ‘ปมพิพาท’ กับจีน อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ยังต้องหันไปกระชับความสัมพันธ์กับจีนเพื่อเป็นแผนสำรอง หากสหรัฐฯ ทอดทิ้งภูมิภาคนี้จริงๆ ซึ่งจะเห็นได้จากการอนุญาตให้บริษัท Huawei ของจีน ดำเนินการพัฒนาสาธารณูปโภคด้าน 5G ต่อ แม้สหรัฐฯ เรียกร้องให้สั่งห้ามการทำธุรกิจกับ Huawei ก็ตาม
โจ ไบเดน หรือ ‘โอบามา 2.0’
หากทรัมป์เป็น ‘ตัวทำลาย’ ผลประโยชน์ของอเมริกาในเอเชียขนาดนี้จริง แล้วหากโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง เขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลง และกอบกู้สิ่งที่สหรัฐฯ สูญเสียไปกลับมาได้แค่ไหน เขาจะเป็น ‘โอบามา 2.0’ หรือแค่ ‘ทรัมป์ฉบับเบาลง’
สำนักข่าว Nikkei Asian Review วิเคราะห์ถึงนโยบายในเอเชีย-แปซิฟิก ของผู้สมัครชิงประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ที่เคยเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยโอบามา มาถึง 8 ปี ในแง่สำคัญๆ ดังนี้
- เทคโนโลยีของจีน ไบเดนให้คำมั่นจะลงทุนในด้านเทคโนโลยี ตั้งแต่รถไฟฟ้า เครือข่ายโทรคมนาคม และสมองกลอัจฉริยะ ตามแผน ‘ซื้อคืนอเมริกัน’ เพื่อดึงการลงทุนกลับเข้าสหรัฐฯ พร้อมคานอิทธิพลกับจีน ที่ทุ่มงบประมาณในด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า ในช่วงปี 1991-2016
- อิทธิพลของจีน ไบเดนอาจใช้กลยุทธ์ที่ทรัมป์เคยใช้มาแล้ว ทั้งการควบคุมการส่งออกและกีดกันการลงทุนของจีน แต่ด้วยวิธีการที่ ‘ออมชอม’ ลง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเกิดสงครามทางการค้า และการประจันหน้าทางกายภาพ
- การค้า ไบเดนต้องการร่วมมือกับพันธมิตรของสหรัฐฯ เพื่อร่วมกันกดดันจีน แต่ในขณะเดียวกัน ไบเดนอาจยกเลิกหรือผ่อนปรนการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ตามข้อตกลง ‘Phase One’ ของทรัมป์ ที่ปัจจุบันคิดเป็นภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นกับสินค้าจากจีน 19.3% หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น สหรัฐฯ จะกลับมาใช้กลไกทางการทูตและเจรจา มากกว่า ‘วาทกรรม’ และ ‘การลงโทษ’ จีน
- ทะเลจีนใต้ ช่วงที่ไบเดนเดินทางเยือนออสเตรเลียเมื่อปี 2016 เขาเคยให้คำมั่นว่า “สหรัฐฯ จะคุ้มครองเส้นทางขนส่งทางทะเล และเปิดน่านฟ้าให้เสรี” และ “สหรัฐฯ จะปักหลักถาวรในแปซิฟิก” เราตีความได้ว่า ไบเดนจะพยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคกลับคืนมา นั่นรวมถึงกระชับความร่วมมือกับชาติอาเซียน เพื่อคานอำนาจกับจีนต่อกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ภาพผู้นำสหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกจะกลับมาอีกครั้งด้วย
- ไต้หวัน ไบเดนเคยมีจุดยืนที่ระมัดระวังและไม่สนับสนุนไต้หวันจนชัดเจนเกินไป แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เขาแข็งกร้าวกับจีนมากขึ้น สนับสนุนผู้ประท้วงฮ่องกง และแสดงความยินดีกับชัยชนะเลือกตั้งของ ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน…แต่ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเอเชียแปซิฟิกศึกษามองว่า ปัจจัยไม่ได้อยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน ยกตัวอย่าง หากไต้หวันกับจีนเกิดความตึงเครียด เชื่อว่าไบเดนจะสนับสนุนไต้หวัน เป็นต้น
- เกาหลีเหนือและกองกำลังสหรัฐฯ ในเอเชีย ไบเดนต้องการร่วมมือกับพันธมิตร โดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย อาจรวมถึงจีนด้วย เพื่อกดดันให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทรัมป์ จอห์น โบลตัน มองว่า “ไบเดนจะส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเดินสายในภูมิภาคทันที เพื่อแสดงถึงความตั้งใจ…และเจตนารมณ์เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น” ซึ่งตรงกันข้ามกับทรัมป์ ที่ใช้คำขู่ถอนทหาร หากประเทศเหล่านี้ไม่ยอมจ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนกองทัพอเมริกันในภูมิภาค
ไบเดน 1.0 หรือเพียงแค่ โอบามา 2.0
ดังนั้น เราคงเรียกสมัยของไบเดนว่า เป็น ‘โอบามา 2.0’ หรือการสานต่อนโยบาย Rebalance (ปรับสมดุล) และ Pivot to Asia (ปักหมุดเอเชีย) ได้ไม่เต็มปาก แม้ทรัมป์จะโจมตีว่า นโยบายต่างประเทศของไบเดน “เป็นแค่ของเก่าที่เคาะสนิมออกมาใช้ใหม่” ก็ตาม
“จีนจะยึดครองสหรัฐฯ หากโดนัลด์ ทรัมป์ พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเมื่อไม่นานมานี้
“หากผมไม่ชนะเลือกตั้ง จีนจะเข้ามาครอบครองสหรัฐฯ แล้วพวกคุณจะต้องฝึกพูดภาษาจีน”
พญามังกรอยากให้อินทรีตัวไหนชนะ
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็น ‘อีเวนต์’ ใหญ่ที่ทั่วโลกเฝ้าจับตา เมื่อ 4 ปีเวียนมาบรรจบ แต่คงไม่มีประเทศไหน ตื่นตัว-เกาะติด-ลุ้น เหมือนเชียร์ฟุตบอลทีมโปรดเท่ากับ ‘จีน’
ฟังดูย้อนแย้งที่ชาติคอมมิวนิสต์ ที่ประชาชนแทบไร้สิทธิเลือกผู้นำของตนเอง จะสนใจกิจกรรมทางประชาธิปไตยที่สำคัญมากที่สุดในโลก แต่หากมองถึงผลประโยชน์ของจีนแล้ว ต้องยอมรับว่าจีนมีส่วนได้ส่วนเสียกับการได้ไปต่อของทรัมป์ หรือการผงาดขึ้นของไบเดนมากที่สุด
จอห์น ซุดโวธ ผู้สื่อข่าว BBC ประจำกรุงปักกิ่งชี้ว่า ผู้ประกอบการจีนส่วนใหญ่ไม่อยากให้ทรัมป์ชนะ เพราะภายใต้รัฐบาลทรัมป์ สหรัฐฯ กดดันจีนทางการค้าอย่างหนัก ทั้งการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีชาวมุสลิมอุยกูร์
แต่ศาสตราจารย์หยางซู่ถง อธิบดีสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยชิงหัวในกรุงปักกิ่ง ไม่คิดเช่นนั้น “หากมองถึงผลประโยชน์ของชาติ จีนอยากให้ทรัมป์ชนะ ไม่ใช่ไบเดน” นั่นเพราะ “ทรัมป์จะทำลายสหรัฐฯ มากกว่าไบเดน” นั่นเอง
ด้าน หูสีจิ้น บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ Global Times ของจีน มองว่า “ยิ่งทรัมป์ทำให้อเมริกาแปลกแยก และเป็นที่จงเกลียดจงชังของโลก…ทรัมป์ก็ช่วยโปรโมตจีนมากเท่านั้น” หรืออธิบายให้ง่ายขึ้นคือ หากทรัมป์ชนะ ภาพลักษณ์ของจีนในเวทีโลกจะ ‘ดูดี’ ขึ้น เหมือนพระเอกที่โดดเด่น เมื่อตัวร้ายเล่นบท ‘ร้าย’ ดีมากเท่าไร
“ประชากรโลกล้วนเชื่อมโยงกัน เรามีอนาคตร่วมกัน ไม่มีประเทศใดได้ประโยชน์จากความลำบากของผู้อื่น หรือบรรลุความมั่นคงบนปัญหาของคนอื่น” ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ปราศรัยผ่านวิดีโอที่บันทึกล่วงหน้า ในเวทีแสดงวิสัยทัศน์ของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 75 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
“การนิ่งดูดาย ไม่ยอมช่วยเหลือประเทศที่กำลังตกที่นั่งลำบาก ท้ายสุด ประเทศนั้นก็จะเผชิญวิกฤตแบบเดียวกัน” ประโยคแบบ ‘สุภาพ’ ของการพูดว่า ‘กรรมตามสนอง’ จากกรณีที่สหรัฐฯ ทอดทิ้งจีนในช่วงแรกเริ่มของวิกฤตโควิด-19 ระบาด ที่ปัจจุบัน ชาวอเมริกันเสียชีวิตจากโรคร้ายนี้มากกว่าจีนแบบเท่าทวี
สหรัฐฯ ถอยห่าง จีนเติมเต็ม
นโยบายเอก ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ของทรัมป์ ได้นำพาสหรัฐฯ ถอยห่างจากความร่วมมือระดับสากล จนแทบไม่เหลือเค้าของความเป็นผู้นำโลกเสรี ไม่ว่าจะการถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เอเชียแปซิฟิก ข้อตกลงปารีส และองค์การอนามัยโลก
ช่องว่างขนาดใหญ่ที่สหรัฐฯ ได้ทิ้งเอาไว้ จะมีใครที่เข้ามาเติมเต็มได้ แต่อันที่จริงมันคือ ‘โอกาสทอง’ ที่จีนรอคอยมายาวนาน โอกาสที่จะได้เล่นบท ‘พระเอก’ เข้ามาอุดรอยรั่ว ซึ่งไม่เพียงเสริมอิทธิพลในเวทีโลกของพญามังกร แต่ยังเป็นชัยชนะเชิงอุดมคติของระบอบคอมมิวนิสต์ เหนือประชาธิปไตย
หากการโจมตีเสรีภาพสื่อ การบิดเบือนข้อมูล และวาทกรรมข่าวปลอมของทรัมป์ เปรียบเสมือนเสียงเพลงสำหรับจีน คำประกาศของโจ ไบเดนว่า จะ ‘ทวงคืน’ อิทธิพลในเวทีโลกของสหรัฐฯ กลับมา คงเป็นฝันร้ายเลยทีเดียว
แม้ไบเดนมีทัศนคติที่โอนเอียงไปในเชิงการสร้างความร่วมมือ และมีแนวโน้มจะผ่อนคลายกำแพงภาษีกับจีนลง แต่หากเขาเชื่อมเอกภาพของพันธมิตรค่ายประชาธิปไตยทั่วโลกได้สำเร็จ นั่นหมายความว่าจีนจะถูกกดดันหนักขึ้น
ท้ายสุด สิ่งที่รัฐบาลจีนอาจจะหวาดกลัวมากที่สุด คือประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะนำพาประเทศกลับสู่ครรลองแห่งคุณค่าประชาธิปไตยสากล ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง และ ‘แสงสว่างของความถูกต้อง’ ที่จะยิ่งข่มเน้น ‘ความอยุติธรรมด้านมนุษยธรรม’ ที่จีนกระทำกับประชาชนของตนเอง
แต่หากนำปัจจัยด้านอารมณ์ อุดมคติทางการเมือง และอคติต่อบุคคลออกไป เราอาจพูดได้ว่า ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ ‘จีนอาจมีแต่ได้กับได้’ ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ในสายตาโลกหากทรัมป์ได้ไปต่อ หรือผลประโยชน์ทางการค้าหากไบเดนคว้าชัยชนะ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- https://foreignpolicy.com/2020/10/23/election-2020-biden-trump-pacific-asia/
- https://asia.nikkei.com/Spotlight/Asia-Insight/What-would-a-Biden-presidency-mean-for-Asia
- https://www.japantimes.co.jp/news/2020/08/21/asia-pacific/politics-diplomacy-asia-pacific/biden-obama-2-0-northeast-asia/
- https://www.japantimes.co.jp/news/2020/10/22/asia-pacific/china-struggles-america-leadership-void/
- https://www.bbc.com/news/election-us-2020-54522988
- https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/why-beijing-may-want-to-keep-trump-in-the-white-house