หลังจากเพิ่งผ่านการเป็นหนังนอกกระแสที่ยืนระยะในโรงภาพยนตร์ได้นาน 7 สัปดาห์ ก็ถึงเวลาแล้วที่ Where We Belong ของผู้กำกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ที่ได้ เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ, มิวสิค-แพรวา สุธรรมพงษ์ เป็นนักแสดงนำร่วมกับเพื่อนๆ สมาชิกวง BNK48 อีกหลายคน จะออกเดินทางก้าวต่อไปสู่สายตาผู้ชมระดับโลกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
เริ่นต้นจากเทศกาลภาพยนตร์หัวแถวของฝั่งเอเชียอย่าง Busan International Film Festival (BIFF) ที่ Where We Belong ได้รับเกียรติให้เข้าชิงรางวัล Kim Ji-Seok Awards (รางวัลเดียวกับที่ มะลิลา ของผู้กำกับ อนุชา บุญยวรรธนะ ได้มาเมื่อปีที่แล้ว) โดยคงเดชและ 2 นักแสดงนำสาวจะได้ไปร่วมเดินพรมแดง รวมไปถึงร่วมงาน Q&A อย่างเป็นทางการครั้งแรกในช่วงวันที่ 3-12 ตุลาคม
จากนั้น Where We Belong จะเดินทางต่อไปที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ใน
QCinema International Film Festival 2019 ช่วงวันที่ 13-22 ตุลาคม
THE STANDARD POP ต่อสายตรงพูดคุยกับคงเดช เกี่ยวกับการเดินทางของ Where We Belong, ความความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในตัวเขาเอง, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับนักแสดงที่เป็นสมาชิกของ BNK48 นำไปสู่โปรเจกต์ภาพยนตร์เรื่องต่อไป ที่ยังไม่รู้ว่าจะได้ฉายเมื่อไร แต่ที่แน่ๆ คือคงเดชคิดเล่นใหญ่ ด้วยการให้สมาชิก BNK48 ทั้งหมดมาแสดงร่วมกัน
“จริงๆ แล้วตัวหนังยังเป็นเรามากๆ นะ แต่พอได้ร่วมงานกับ BNK48 ก็จะมีข้อแตกต่างอยู่แล้ว เรื่องแฟนคลับที่คอยจับจ้องและเชียร์เป็นพิเศษ แล้วตามเทศกาลเขาก็จะมองหนังด้วยความรู้สึกพิเศษหน่อย คือไม่ได้เป็นหนังอินดี้มาก เพราะนักแสดงค่อนข้างมีชื่อเสียง และมีฐานแฟนคลับในเอเชียอยู่ประมาณหนึ่ง
“แต่ความรู้สึกโดยรวมยังเหมือนเดิม เพราะเวลาทำหนังเราก็รักมันทุกเรื่อง ผูกพันกับนักแสดงทุกคน อย่าง Where We Belong ตอนนี้ถึงสิ้นปีจะมีไม่ต่ำกว่า 5 เทศกาล แล้วก็ยังมีอีกหลายเทศกาลที่ยังรอผลอยู่ มันก็เป็นเรื่องดีเหมือนทุกครั้งอยู่แล้วเวลาที่หนังไปได้ไกล”
Where We Belong เคยได้รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานมาตั้งแต่ตอนที่อยู่ในช่วงพัฒนาโปรเจกต์ยังไม่ได้เริ่มถ่ายทำด้วยซ้ำ ตัวหนังที่คิดเอาไว้ตอนนั้นกับเวอร์ชันที่เสร็จสมบูรณ์แตกต่างกันมากขนาดไหน
“ที่เราได้เป็นเซกชัน Asian Project Market (APM) ที่เขารวมโปรเจกต์หนังที่ยังไม่เสร็จมาเข้าสู่ตลาดหนังของเขา แล้วก็นัดคุยกับคนของเทศกาล โปรดิวเซอร์ คนฉายหนัง ฯลฯ แล้ว Where We Belong ก็ได้รางวัลจาก CJ Entertainment Award ที่เขามองว่าเป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจ
“พอเริ่มต้นทำจริงๆ ตัวหนังเป็นเรื่องเดียวกัน แต่เป็นธรรมดาเวลาทำหนังที่ทุกอย่างจะงอกเงยขึ้นมาเสมอ ตอนนั้นยังมีแค่ทรีตเมนต์เอง บทหนังตัวเต็มยังไม่เสร็จเลย แล้วก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเอาใครมาเล่น ซึ่งการได้เจนนิษฐ์กับมิวสิคมาเล่นก็มีส่วนให้หนังงอกเงยจากวันนั้นเยอะเหมือนกัน จากการที่เราค้นพบว่า 2 คนนี้มีวิญญาณของความเป็นเด็กสาวขบถอยู่สูงนะ ไม่ใช่เด็กถูกระเบียบนัก และสิ่งต่างๆ ของทั้ง 2 คนที่ทำให้เราเห็นตัวละครไอ้ซูกับไอ้เบลงอกเงยขึ้นมาจากเดิม”
Where We Belong ยังเป็นหนังที่แสดงถึงตัวตนของคุณมากๆ เหมือนเดิม แต่เรื่องวิธีคิด วิธีการทำงานเปลี่ยนไปบ้างไหม เมื่อมีสมาชิกวง BNK48 เข้ามาเป็นส่วนผสมในหนัง
“วิธีการทำหนังเปลี่ยนไปนิดหนึ่งเหมือนกันนะ มันเป็นช่วงวัยที่เราย้ายโฟกัสชีวิตไปที่ลูกสาวอายุ 14-15 ปี ที่กำลังอยู่ในวัยที่จะเกิดความรู้สึกแบบ Where We Belong ได้ ซึ่งการที่เราเข้าไปคลุกคลีกับน้องๆ ที่เป็นเด็กสาววัยใกล้เคียงกันเป็นจำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกกับสิ่งที่เด็กๆ ต้องเผชิญในชีวิตเป็นพิเศษ
“เพราะพอได้เข้าไปสัมผัส ก็มองเห็นภาพว่าพวกน้องๆ มีความเป็นภาพแทนของเด็กสาววัยรุ่นแห่งประเทศไทยอยู่เหมือนกัน แล้วก็ยิ่งอินกับทางเลือก อินกับสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญ พอกลับบ้านมาก็เจอลูกสาวที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเหมือนกัน”
คุณชอบพูดอยู่บ่อยๆ ว่าจะรู้สึกเศร้าทุกครั้งเวลาถ่ายหนังใกล้จบ กับ Where We Belong มีความรู้สึกแบบนั้นเกิดขึ้นบ้างไหม
“เรื่องนี้แปลก เพราะเศร้าตั้งแต่เขียนบทแล้ว (หัวเราะ) ตอนที่ถ่ายก็เศร้าประมาณหนึ่ง แต่ความรู้สึกจบอาจจะไม่จบเสียทีเดียว อย่างที่บอกพอเราไม่หมกมุ่นกับตัวเองมากเท่าไร ทำให้ความรู้สึกตัดขาดจากส่วนหนึ่งของตัวเองไม่เท่ากับเรื่องอื่นๆ
“แต่เป็นการมองไปสู่อนาคตกับสิ่งที่คนที่เรารักต้องเจอ ซึ่งมันก็เศร้าไปอีกแบบนะ เพราะเราดันอยู่ในประเทศที่มองอนาคตแล้วรู้สึกเศร้านิดๆ (หัวเราะ) แล้วรู้สึกกับตัวเองว่าเราต้องเข้มแข็งขึ้น เพื่อลูกสาว เพื่อคนที่เรารัก”
ความรู้สึกมองไปสู่อนาคตที่ว่า นำไปสู่โปรเจกต์ใหม่อย่าง 51 Faces of Anne ที่มีคอนเซปต์ให้สมาชิก BNK48 ทุกคนมาร่วมในหนังด้วยหรือเปล่า
“มีความเกี่ยวกันประมาณหนึ่งเหมือนกันครับ ตัวโปรเจกต์อยู่ในช่วงถูกพัฒนาบนคำถามที่เรามีเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กสาวต้องเผชิญ จากการที่เราเข้าไปสัมผัสน้องๆ แล้วค้นพบว่าอัตลักษณ์ (Identity) เป็นสิ่งที่ไม่คงตัว เลื่อนไหลได้
“เหมือนเวลาที่เราเจอน้องๆ อยู่ในสถานการณ์หนึ่งแล้วเขากลายเป็นคนหนึ่ง ขณะที่อยู่ในสถานการณ์หนึ่งเขาก็กลายเป็นอีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่น้องๆ หรอก เราทุกคนก็เป็นอย่างนั้นอยู่ ยิ่งเป็นเด็กสาวในช่วงวัยรุ่นที่อัตลักษณ์ของเขายังไม่มั่นคง ก็ยิ่งคิดว่าอันนี้น่าสนใจเอามาทำ มันจะฟังดูวิชาการและไฮคอนเซปต์หน่อยนะ เพราะเราเองก็ยังไม่รู้เลยว่าหนังจะออกมาเป็นอย่างไร
“แต่ยังไม่มีกำหนดคร่าวๆ ว่าหนังจะเสร็จและเข้าฉายได้เมื่อไร ตอนนี้อยู่ในช่วงรีเสิร์ชและพัฒนาบท เป็นช่วงเข้าไปคุยกับน้องๆ แบบไล่ทีละคนเลย ซึ่งแค่นี้ก็เป็นงานที่หนักฉิบหายแล้ว (หัวเราะ) แต่หนังจะไม่ใช่สารคดีนะ เป็นหนังเรื่องหนึ่งเลย เพียงแต่เรารีเสิร์ชอินไซต์ของทุกคนแล้วเอามาพัฒนาเป็นบทหนังอีกที
และสำหรับใครที่พลาดชมภาพยนตร์ในโรงช่วงที่หนังเข้าฉาย หรืออยากดูซ้ำอีกครั้งก็ไม่ต้องรอช้า Where We Belong กำลังจะไปพบกับผู้ชมทาง Netflix เฉพาะพื้นที่ในประเทศไทย ในวันที่ 20 กันยายนนี้แล้ว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า