ถ่ายมาเพื่อยืนยันว่าเขาเชิญเราจริง
2 OCT 2019 17.00 PM
แล้วคืนนี้เราก็กำลังจะได้เดินทางกลับไปเยือนปูซานอีกครั้ง นี่เป็นครั้งที่เท่าไรแล้วนะ นับนิ้วมือดูน่าจะใช้เกือบครบหมดทุกนิ้ว ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงแหละ เทศกาลที่น่าจะพูดได้ว่าไปบ่อยที่สุด ไม่เอาหนังไปฉายก็เอาโปรเจกต์ไปพิตช์ บางโปรเจกต์ได้สร้าง บางโปรเจกต์ก็เงียบหายไปกลายเป็นเพียงสะเก็ดในชีวิต คิดทบทวนดูจะพบว่าหนังบางเรื่องที่เราเขียนไว้มันอยู่กับเราแค่ชั่วคราวจริงๆ พอเวลาผ่านไปนานๆ ถ้ายังไม่ได้สร้าง บางทีเราก็ไม่อยากจะทำมันอีกต่อไปแล้ว เหมือนชีวิตได้เคลื่อนจากจุดนั้นไปสู่จุดอื่นที่เราสนใจกว่า
หลายครั้งที่เราพูดออกไปว่าหนังแต่ละเรื่องก็เหมือนกับหมุดในชีวิต มันบอกเราว่าช่วงนั้นชีวิตเราคิดอะไรอยู่
สำหรับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน (BIFF) ก็เช่นกัน การได้มาเยือนอยู่เนืองนิจทำให้มันกลายเป็นหมุดหมายในชีวิตเราไปด้วยโดยไม่รู้ตัว เริ่มจากวันที่เรามาในคณะทัวร์ของสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติเมื่อไม่ต่ำกว่า 15 ปีที่แล้ว และพบว่าถ้าเราไม่มีหนังมาฉายหรือไม่ได้มีโปรเจกต์อะไรมาพิตช์ เราก็ไม่ควรจะมา การได้นั่งดูหนังมากมายสำหรับเราไม่มีประโยชน์เท่ากับการที่เรามีหนังมาฉายให้คนอื่นดู มันเป็นครั้งแรกที่ตระหนักได้ว่าเราไม่ได้เป็นนักดูหนังเท่ากับการอยากทำหนังของตัวเอง
แล้วเส้นทางของเรากับ BIFF (หลังจากนี้จะเรียกชื่อเล่นมันอย่างนี้แหละนะ) ก็เริ่มต้นขึ้น จากการทำหนังกับสตูดิโอจนเริ่มออกมาทำหนังอิสระ จากวันที่เมืองยังสะกดชื่อตัวเองว่า Pusan จนมาเป็น Busan, จากในยุคที่เซกชันของพิตช์โปรเจกต์ยังใช้ชื่อว่า PPP จนกลายเป็น APM, สนับสนุนหนังให้ได้รับการผลิตจนเสร็จสมบูรณ์ด้วยทุนและแรงงานฝีมือจาก Asian Cinema Fund (ACF), สร้างผลผลิตนักทำหนังชาวเอเชียจาก Asian Film Academy (AFA) ไว้มากมาย, เทศกาลผ่านร้อนหนาวมามากมาย ทั้งการต่อสู้จากการแทรกแซงจากรัฐ การสูญเสียเสาหลักสำคัญของเทศกาลอย่าง คิมจีซอก แต่ยังคงเติบโต มั่นคง แข็งแกร่ง และกลายเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่งของเอเชีย หรือเรียกว่าของโลกเลยก็ว่าได้
แล้วจู่ๆ ก็มีข้อความในไลน์กลุ่มของคนที่จะเดินทางไปด้วยกันว่าไฟลต์ของเราจะดีเลย์ออกไปหลายชั่วโมง พายุไต้ฝุ่นกับช่วงเวลาของเทศกาลมักจะพบปะกันชั่วระยะหนึ่งเสมอ บางครั้งก็แค่ฉิวเฉียด บางคนก็สาดซัดนักทำหนังจากทั่วโลกกันแบบเต็มๆ
ปีนี้พวกเราจะเปียกกันไหมนะ?
ยางล้อกระเป๋าหลุด นี่กูหรือซูวะ?
3 OCT 2019 03.00 AM
ลากกระเป๋าเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ และพบว่าการเคลื่อนตัวของมันขลุกขลักกว่าปกติ ก้มลงตรวจตรา ก่อนจะพบว่ายางของล้อข้างหนึ่งเสื่อมสภาพจนมันขาดแตกออกเป็นชิ้นๆ มาตลอดทางแบบไม่รู้ตัว
กระเป๋าเดินทางที่ล้อพังไปข้างหนึ่ง …นี่กูหรือซูวะ? (ซู คือตัวละครเอกใน Where We Belong รับบทโดย เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ หรือเจนนิษฐ์ BNK48 ของเหล่าโอตะ)
ถึงจะมาเยือน BIFF หลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้มีความพิเศษกว่าที่ผ่านมาตรงที่หนัง Where We Belong ของพวกเราได้เข้าชิง Kim Ji-Seok Awards และมีโอกาสได้ร่วมเดินพรมแดงกับเจนนิษฐ์และมิวสิค สองนักแสดงนำของเรื่องในงาน Opening Ceremony ของปีนี้ด้วย ที่ผ่านมาเราแค่เอาหนังมาฉาย กระทำการ Q&A บางทีอาจจะมาพิตช์โปรเจกต์ ก็ไม่ได้มีอะไรที่จะต้องเป็นพิธีการมากมาย แต่ครั้งนี้พรมแดงของปูซานที่ Busan Cinema Center ที่มีคนหลายพันล้อมรอบ
ตื่นเต้น
ชาวคณะ
ทุกครั้งที่กล้องรัว ลูกพี่ก็พร้อมเปลี่ยน 16 แอ็ก
3 OCT 2019 13.00 PM
อ้าววว ปรากฏว่าฟ้าสว่างแจ้ง ไร้ริ้วรอยของพายุ เป็นนิมิตหมายที่ดีแหละ เพราะ Opening Ceremony จัดที่ Busan Cinema Center ซึ่งมีความกึ่งกลางแจ้ง ถ้ามีลมฝนก็อาจจะสร้างความลำบากกับพิธีการได้ ตอนที่ไปถึงโรงแรม เจนนิษฐ์และมิวสิคซึ่งมาถึงไฟลต์ก่อนหน้าก็พาตัวเองไปแต่งหน้าทำผมเรียบร้อยแล้ว สวยงามแบบที่เราต้องยอมรับว่าถึงวันนี้เราก็ยังไม่ค่อยคุ้น สำหรับเรา น้องทั้งสองที่เราคุ้นเคยคือแบบที่ไม่ได้อยู่บนเวทีหรือท่ามกลางแสงไฟ แบบที่เป็นเด็กสาวธรรมดา กินเก่ง (มิวสิค) พูดเก่ง (เจนนิษฐ์) มีความรู้สึกเยอะ (ทั้งคู่)
เราเองก็ไม่คุ้นเคยกับการที่ต้องมาแต่งตัวอย่างเป็นทางการเท่าไร รู้สึกเสมอมาว่าในความเป็นจริงอาชีพการทำหนังคืออาชีพใช้แรงงานชนิดหนึ่ง ใช้ทั้งสมอง กำลังกาย การอดหลับอดนอน การตัดสินใจทุกอย่างทั้งภาพใหญ่และชิ้นเล็กชิ้นน้อย การต่อสู้กับข้างในตัวเอง การต่อรอง จัดการกับผู้คนมากมาย การบริหารเงินงบประมาณ ทางด้านนักแสดงเองก็ไม่ได้ลำบากน้อยไปกว่ากัน ตื่นตั้งแต่เช้ามืด แต่งหน้าทำผม ทำตัวให้พร้อมถ่ายในแต่ละวัน ไม่ว่าวันนั้นจะต้องคลุกฝุ่น ตากแดด วิ่งลงไปแช่น้ำ ไม่ได้มีความหรูหราอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องเลย
เทศกาลหนังนั้น สำหรับคนดูมันอาจจะเป็นอีเวนต์แห่งการรวบรวมหนังที่ถูกคัดสรรมาให้คนที่รักหนังได้ดูหนังหลากหลายกว่าที่ฉายกันตามปกติ สำหรับผู้สร้าง มันคือการให้เกียรติและเฉลิมฉลองวิชาชีพนี้ ความหรูหราจึงถูกเติมเข้ามา มันคงดีแหละที่คนทำหนังได้มีช่วงเวลาแบบนี้บ้าง
เพียงแต่เราไม่เคยลืมว่าความจริงของอาชีพนี้เป็นยังไง
สีหน้าโซวอนกำลังนิพพาน เพราะเพิ่งได้ขึ้นลิฟต์เดียวกับยุนอา
3 OCT 2019 20.00 PM
มีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นเล็กๆ น้อยๆ สำหรับนักแสดงทั้งสองของเรา ตอนที่เราขึ้นรถมารอที่จุดพัก มีเจ้าหน้าที่พาไปขึ้นลิฟต์จากที่จอดรถชั้นใต้ดิน ประตูลิฟต์กำลังจะปิดแล้ว ยุนอา หนึ่งในสมาชิก Girls’ Generation เดินเข้าลิฟต์มาด้วย ทั้งเจนนิษฐ์และมิวสิคแทบจะหยุดหายใจ พยายามเก็บอาการกรี๊ดกร๊าดของตน สายติ่งโซวอนอย่างเจนนิษฐ์ถึงกับนิพพาน (ส่วนเราแอบหันไปกระซิบถามมิวสิคว่าใครวะ?)
แล้วเหตุการณ์เดินพรมแดงก็มาถึง ผู้คนมากมายทั้งนักแสดงและคนทำหนังจากทั่วโลก รถหรู ชุดหรู เสียงประกาศชื่อหนังและชื่อของพวกเราดังผ่านลำโพงไปทั่วสถานที่ แสงไฟแฟลชระรัว สายตาชื่นชมนับพันจับจ้องมา รู้สึกตัวหดเล็กลงทุกครั้ง
ยินดีนะ เพียงแต่เราไม่เคยลืมว่าความจริงของอาชีพนี้เป็นยังไง
ก่อนหน้านั้นที่ล็อบบี้ Haeundae Grand Hotel มีคนกลุ่มหนึ่งเข้าแถวและตะโกนเรียกร้องสิทธิและเงินชดเชยของพวกตน โรงแรมนี้เป็นโรงแรมใหญ่ที่เก่าแก่ (คล้ายๆ ดุสิตธานีบ้านเรามั้ง) และเป็นที่พักของนักแสดงและคนทำหนังจากทั่วโลกมาตลอด 20 กว่าปีที่มีเทศกาลนี้มา แต่ปีนี้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง พื้นที่บางส่วนไม่สว่างไสวเหมือนเคย จนกระทั่งเราทราบข่าวว่าที่นี่กำลังล้มละลายและกำลังจะถูกทุบทิ้ง เหตุการณ์ประท้วงนี้ทำให้ทางเทศกาลตัดสินใจเปลี่ยนที่จัดงานปาร์ตี้หลายงานไปที่โรงแรมอื่น
ใจหายทั้งในแง่นึกเสียดายสถานที่ที่เป็นหนึ่งในความทรงจำเมื่อนึกถึงเทศกาลนี้ อีกไม่นานมันจะหายไปแล้ว และใจหายทั้งในแง่บนความหรูหราของงานเทศกาลที่เกิดขึ้นก็มีเรื่องราวแบบนี้เกิดควบคู่ไปด้วย
สวยมากแม่
หน้าตารางวัล…หนัก
4 OCT 2019 20.00 PM
Marie Claire Asia Star Awards 2019 ดินเนอร์หรูถูกย้ายมาจัดที่ Paradise Hotel (นี่ก็เป็นอีกโรงแรมที่อยู่คู่เทศกาลมายาวนาน) ชื่อของเจนนิษฐ์ถูกประกาศให้ขึ้นไปรับรางวัลในฐานะของ Rising Star เจ้าหนูของเราขึ้นไปรับรางวัลโดยที่มี ซูยอง สมาชิกอีกคนจาก Girls’ Generation เป็นพิธีกร ตอนแรกในช่วงที่เจนนิษฐ์ต้องกล่าวสปีช ไมค์อยู่สูงเกินกว่าตัวที่เล็กของเธอ ซูยองทำท่าจะเอาไมค์ของเธอมาให้เจนนิษฐ์แทน ด้วยความตื่นเต้น น้องจึงปฏิเสธไป เพราะมีเจ้าหน้าที่อีกคนกำลังมาปรับให้ เจนนิษฐ์แอบมาบอกว่าตอนนั้นเธอตื่นเต้นจนทำตัวไม่ถูก เราเชียร์ไปว่าทำไมแกไม่มั่วนิ่มรับไมค์แล้วกอดซูยองไปเลยวะ เจนนิษฐ์ส่ายหัว เฮ้ยยย หนูไม่กล้าาา
เบลในร่างมิวจิกกี้ตั้งกล้องรอตั้งแต่ก่อนประกาศรางวัล
ในงานทั้งคู่ได้เจอกับนักแสดงมีชื่อเสียงของเกาหลีที่พวกเธอต่างชื่นชอบกันหลายคน ได้ไปขอถ่ายรูปอย่างกล้าๆ กลัวๆ เขาจะยอมไหมนะ พวกหนูเป็นใครก็ไม่รู้ แต่ในที่สุดก็ได้ถ่ายรูปด้วย มันตลกดีที่ในเมืองไทยพวกเธอเป็นไอดอลที่คนอื่นไม่สามารถขอถ่ายรูปได้ (นอกจากในงาน 2-shot) กลับตกอยู่ในสภาพประหม่ากล้าๆ กลัวๆ แบบนี้
ไม่ว่ายังไง ภายใต้ชุดหรูหรานั้น ทั้งคู่ก็ยังเป็นเด็กสาวธรรมดาคนหนึ่งจริงๆ
รางวัลนี้เป็นรางวัลแรกของเจนนิษฐ์ รวมทั้งของหนังเรื่องนี้ด้วย สำหรับเรา มันเป็นทั้งของเจนนิษฐ์ ของมิวสิค รวมทั้งนักแสดงคนอื่นๆ ด้วยแหละ ตัวละครในหนังก็เหมือนในชีวิตจริงที่เกิดขึ้นกับเรา คนรอบตัวต่างมีผลที่ทำให้เราทำสิ่งต่างๆ มาถึงวันนี้ เรานึกไม่ออกเลยเหมือนกันว่าถ้าเบลไม่ได้เล่นโดยมิวสิคแล้ว ซูจะยังเป็นแบบในหนังหรือเปล่า
ดังนั้นจงรับรู้ไว้เลยนะเจ้าเด็กทั้งสอง (น้ำเสียงฮึกเหิม) เราภูมิใจในตัวพวกเธอมาก รางวัลที่พวกเราได้รับหรือจะได้รับจากนี้ไป เป็นเพราะพวกเธอได้ร่วมสร้างมันอย่างเต็มที่
หันขวารอเขาสั่งคิวให้เริ่มเดิน
เหมือนอาแปะพาหลานสาวมางานพรอม
5 OCT 2019 11.00 AM – 16.00 PM
เป็นครั้งแรกที่หนังที่เรานำมาฉายได้ทำกิจกรรม Outdoor Greeting ด้วยบุญญาธิการของน้องๆ นั่นแหละ กิจกรรมนี้ส่วนมากมักจะจัดให้กับหนังที่มีนักแสดงที่น่าสนใจ เพราะเป็นการเรียกแขกอย่างดี น้องๆ โชว์การร้องเพลง Let U Go สดๆ ท่อนหนึ่งด้วย อันนี้คาดไม่ถึง แต่ดีนะ
อยากจะพาน้องๆ คนอื่นที่เล่นมาด้วยให้ครบเลย แต่คงเป็นไปไม่ได้ ที่เราทำได้คือการใส่เสื้อ Stratosphere มาในวันนี้ ถือว่าพาน้องๆ มาทางอ้อมแล้วกันนะ
แล้วหนังก็ฉายรอบแรกในที่สุด พวกเราตัดสินใจไม่ดูอีกครั้ง มิวสิคบอกว่าหนูกลัวหน้าหนูที่แต่งมาแล้วจะเละเพราะน้ำตา เรารอจนช่วงเวลาหนังใกล้จบ ทีมงานก็พาเราไปแอบรอข้างโรง
กิจกรรม Q&A เกิดขึ้น น้องๆ ดูจะตอบคำถามต่างๆ ได้ดี กิจกรรมแจกลายเซ็นและถ่ายรูปตามมา น่าเสียดายที่น้องทำกิจกรรมนี้ไม่ได้ (ตามกฎ) หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยการสัมภาษณ์สื่อต่างๆ
คืนสุดท้ายก่อนที่น้องๆ จะกลับ เราจัดปลาหมึกเป็นๆ แบบ Old Boy ให้มันได้เข้าไปดิ้นในปากมิวสิคตามคำเรียกร้อง ส่วนเจนนิษฐ์ไม่กินของดิบจึงกินอย่างอื่นแทน
หลังจากนี้อีกไม่นานพวกเราก็จะกลับเมืองไทยกันแล้ว จริงๆ มันก็ประมาณนี้แหละ เทศกาลภาพยนตร์ จะที่ไหนก็ประมาณนี้ (นอกจากปลาหมึก Old Boy)
เอายัง?
แต่ย้อนกลับไปตอนที่เราแอบอยู่ข้างโรงในความมืดก่อนจะทำการ Q&A เราแอบมองดูภาพซูกอดย่าของเบลก่อนจากไป เราดูมาหลายสิบรอบแล้วล่ะ แต่ตั้งแต่ฉายที่ไทยเราก็เพิ่งได้มาดูอีกครั้ง เวลาที่เหลือหลังจากนั้นในหนังคือช่วงเวลาที่เบลจะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวต่อไป ก่อนที่ Let U Go จะขึ้นและเครดิตคลอเสียงดนตรีอ้อยอิ่งไปจนจบ
ตอนนั้นเองที่เราจำความรู้สึกตัวเองตอนที่มาปูซานครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อนได้ จำได้ว่าทำหนังไปทำไม และเรามาอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร
สำหรับน้องๆ ความเป็นนักแสดงของพวกเธอเริ่มต้นขึ้นแล้ว ที่ตรงนี้…เคยมีพวกเธออยู่ครั้งหนึ่งแล้ว และหวังว่าในอนาคตจะยังมีพวกเธอกลับมาที่นี่อีกครั้ง และอีกครั้ง และอีกครั้ง และอีกครั้ง และอีกครั้ง (พอ!!)
รวมถึงอีกหลายๆ ที่ในโลกด้วยนะ
FC ชาวเกาหลีพยายามดักหน้ารถขอลายเซ็น ซึ่ง…เสียใจด้วยนะน้อง
ถ่ายมายืนยันว่าปูซานติดทะเล
ถ่ายมาเฉพาะเมนู ส่วนปลาหมึกในปากมิวสิคนั้นสยองจนต้องเซนเซอร์
เมนูหรูในงานที่ไม่มีใครสนใจ เพราะมัวแต่ลุ้นกันอยู่ (เอาจริงๆ เนื้อย่างข้างถนนอร่อยกว่า)
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์