รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ เริ่มต้นศักราชใหม่ด้วยการเป็นรัฐล่าสุดที่เริ่มจำหน่ายกัญชาเพื่อสันทนาการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมา หลังจากที่พลเมืองแคลิฟอร์เนียต่างร่วมลงคะแนนสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2016
ส่งผลให้ภาพบรรยากาศบริเวณร้านค้าตัวแทนจำหน่ายครึกครื้นและเต็มไปด้วยลูกค้าที่มารอคิวเพื่อซื้อกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีตัวแทนจำหน่ายกว่า 400 จุดที่จะได้รับอนุญาตภายในปีนี้ โดยสถาบัน Arcview Market Research เผยว่า “ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจจากการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นกว่า 150% จาก 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2017 กลายเป็น 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2021”
อีกทั้งยังระบุอีกว่า การบริโภคและซื้อขายกัญชาถูกกฎหมายในสหรัฐฯ กว่า 2.08 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในอีก 4 ปีข้างหน้า จะช่วยสร้างงานกว่า 414,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ (99,000 ตำแหน่ง ในเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตกัญชาในแคลิฟอร์เนีย) และเพิ่มรายได้ของรัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีอีกกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
การจำหน่ายกัญชาถูกกฎหมายในสหรัฐฯ
มีการเคลื่อนไหวและผลักดันให้มีการจำหน่ายกัญชาถูกกฎหมายในหลายๆ รัฐ นับตั้งแต่อดีต แต่เนื่องด้วยโทษและฤทธิ์ของกัญชาที่หากไม่ได้รับการควบคุม ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าอาจก่อให้เกิดผลเสียมากมายในสังคมตามมา จนเมื่อปี 2012 รัฐโคโรลาโดกลายเป็นมลรัฐแรกในสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้มีการจำหน่ายกัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นครั้งแรก โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประโยชน์ทางด้านการแพทย์เท่านั้น
ก่อนที่อีกหลายๆ รัฐ โดยเฉพาะรัฐทางฝั่งตะวันตกและกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในลักษณะเดียวกัน ซึ่งรัฐแคลิฟอร์เนียคือมลรัฐล่าสุดที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ รวมถึงรัฐเล็กๆ ทางฝั่งตะวันออกอย่าง รัฐเมน และรัฐแมสซาชูเซตส์ก็มีแพลนที่จะอนุญาตและบังคับใช้กฎหมายนี้ภายในปี 2018 เช่นเดียวกัน
ในปัจุบัน สหรัฐฯ มีรัฐที่อนุญาตให้มีการจำหน่ายกัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อใช้ประโยชน์ด้านสันทนาการจำนวน 8 รัฐด้วยกัน ได้แก่ โคโรลาโด, เนวาดา, วอชิงตัน, ออริกอน, อลาสก้า, แคลิฟอร์เนีย, เมน และแมสซาชูเซตส์ รวมถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในขณะที่มีราว 29 รัฐที่อนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์ได้
แม้ในหลายๆ รัฐจะมีการประกาศให้มีการจำหน่ายกัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จนก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินมาตรการเกี่ยวกับยาเสพติดเสียใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม กัญชาก็ยังคงเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายของสหรัฐฯ โดยจะต้องมีการจำกัดปริมาณการซื้อขาย รวมถึงลูกค้าที่จะมาใช้บริการจะต้องมีอายุอย่างน้อย 21 ปีขึ้นไป เพื่อไม่ให้การจำหน่ายกัญชาเสรีมากจนเกินไป
หลายฝ่ายเชื่อว่า การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นผลมาจากการทำสงครามต่อสู้กับยาเสพติดในสหรัฐฯ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อีกทั้งยังผลักดันไปสู่การค้ายาเสพติดในตลาดมืดและเพิ่มขึ้นของอาชญากรรม จากการสำรวจของ Pew Research Center เมื่อปี 2016 พบว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาคนอเมริกันส่วนใหญ่หันมาสนับสนุนกระบวนการทำให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียลส์ หรือคนเจน Y คือกลุ่มคนที่สนับสนุนกระบวนการดังกล่าวมากที่สุด
กฎหมายใหม่นี้ทำอะไรได้บ้าง ทำอะไรไม่ได้บ้าง
โดยปกติแล้ว หากคุณเป็นพลเมืองของรัฐที่อนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์ได้ จำเป็นต้องแสดงบัตรประจำตัวของผู้รับการรักษาด้วยกัญชาทุกครั้ง แต่นับจากนี้เป็นต้นไป ชาวแคลิฟอร์เนียไม่ต้องแสดงบัตรดังกล่าวก่อนซื้อกัญชาจากตัวแทนจำหน่ายอีกแล้ว โดยกฎหมายได้ขยายขอบเขตจากเฉพาะทางการแพทย์ ควบรวบการใช้ประโยชน์ด้านสันทนาการ เพียงแต่ผู้ซื้อจะต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป โดยแต่ละครั้งจะจำกัดปริมาณกัญชาที่จะซื้อได้สูงสุด 1 ออนซ์ (ราว 28.35 กรัม) หรือกัญชาสกัดเข้มข้นปริมาณ 8 กรัม ซึ่งในกรณีที่คุณเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาด้วยกัญชาและขึ้นทะเบียนบัตรกับทางรัฐบาลจะสามารถยกเว้นภาษีค้าปลีกได้ เมื่อซื้อกัญชากับทางตัวแทนจำหน่าย
นอกจากนี้กฎหมายยังอนุญาตให้คุณสามารถปลูกกัญชาเองได้ภายในสถานที่ปิด ราว 6 ต้นต่อครั้ง โดยคุณจะต้องเก็บเกี่ยวและเก็บกัญชาเหล่านั้นในภาชนะที่มิดชิด ห้ามนำออกมาในพื้นที่สาธารณะ
แต่อย่างไรก็ตาม การสูบกัญชาในพื้นที่สาธารณะยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และมีโทษปรับสูงถึง 100 เหรียญสหรัฐ (ราว 3,230 บาท) อีกทั้งยังห้ามสูบหรือนำกัญชาเข้าเขตบริเวณโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงและดูแลเด็กโดยเด็ดขาดอีกด้วย
นอกจากนี้การตรวจพบกัญชาในรถยนต์ขณะที่ผู้ขับขี่อยู่ในอาการมึนเมาจากการสูบหรือบริโภคกัญชาก็ยังถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายเช่นเดียวกับการขับรถขณะมึนเมา และหากมีการตรวจพบว่ามีการซื้อกัญชาในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจถูกปรับเป็นเงินกว่า 500 เหรียญสหรัฐ (ราว 16,000 บาท) หรือจำคุก 1-2 เดือน
มีประเทศใดบ้างที่กัญชาถูกกฎหมาย
นอกจากสหรัฐฯ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว หากจะพูดถึงประเทศที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายคงหนีไม่พ้น อุรุกวัย ประเทศที่ผลักดันเรื่องนี้มาอย่างยาวนานและเริ่มร่างกฎหมายและกระบวนการต่างๆ อย่างจริงจังในปี 2013 และบังคับใช้ในที่สุดเมื่อปีที่ผ่านมา นับเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการอนุญาตให้จำหน่าย ครอบครอง เคลื่อนย้าย และเก็บเกี่ยวกัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ
ในขณะที่หลายๆ ประเทศ แม้ว่ากัญชาจะยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลและภาคประชาชนต่างร่วมมือกันผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ อย่างเช่นในเนเธอร์แลนด์ ที่ประชาชนได้รับอนุญาตให้ปลูกและครอบครองกัญชาได้ในปริมาณที่จำกัด อีกทั้งยังอนุญาตให้ร้านกาแฟจำหน่ายกัญชาได้อีกด้วย ตราบใดที่พวกเขาไม่จำหน่ายให้แก่ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
สเปน ก็เป็นอีกหนึ่งชาติตะวันตกที่มีการผลักดันในเรื่องนี้ โดยอนุญาตให้การถือครองและปลูกกัญชาในสถานที่ส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่สามารถกระทำการได้ ซึ่งถ้าหากครอบครองในปริมาณที่มากเกินไป อาจจะต้องพิจารณาว่าเจตนาในการลักลอบค้ายาเสพติดหรือไม่ ตามแต่ละแคว้นหรือเขตปกครองพิเศษจะตีความ โดยแคว้นกาตาลุญญาได้ผ่านร่างกฎหมายนี้แล้วเมื่อปี 2017 ตามคำร้องขอของชาวคาตาลันกว่า 67,500 คนที่ร่วมลงรายมือชื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวให้สภาพิจารณา
รัฐบาลแคนาดา ภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดเอง ก็กำลังมีแผนร่างกฎหมายอนุญาติให้มีการเพาะปลูก จัดจำหน่าย และบริโภคกัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายภายในเดือนกรกฎาคม ปี 2018 นี้ โดยกำหนดอายุขั้นต่ำอยู่ที่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จะได้รับสิทธิจากร่างกฎหมายดังกล่าวและสามารถครอบครองกัญชาแห้งได้ไม่เกิน 30 กรัม พร้อมสนับสนุนการใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์เพื่อรักษาผู้ป่วยจากพืชชนิดนี้
รัฐบาลออสเตรเลียก็มีแผนจะปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพืชชนิดนี้เช่นเดียวกันให้สามารถส่งกัญชาไปขายยังตลาดต่างประเทศได้ โดยตั้งเป้าเป็น ‘ผู้ส่งออกกัญชาเพื่อการแพทย์อันดับหนึ่งของโลก’ ซึ่งรัฐบาลได้เห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่ปี 2016 แม้การใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการจะยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่ก็ตาม
เปรู และ คอสตาริกา ก็ยังยินยอมให้พลเมืองของตนครอบครองกัญชาได้ แต่ต้องอยู่ในสถานที่มิดชิด เป็นส่วนบุคคล และมีปริมาณไม่มากเกินไป ในลักษณะเดียวกับสเปน อีกทั้งยังสนับสนุนการใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีประเทศที่ตามกฎแล้วกัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่โดยทั่วไปก็สามารถยอมรับได้ บางประเทศอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้เฉพาะทางการแพทย์ บางประเทศอนุญาตให้บริโภคได้แต่ไม่สามารถจำหน่าย เคลื่อนย้าย หรือเพาะปลูกได้ อีกทั้งยังมีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถครอบครองได้หรือมีการปรับลดโทษตามแต่ละความเหมาะสมของแต่ละประเทศ เช่น หากครอบครองกัญชาในปริมาณไม่ถึง 3 กรัม อาจไม่ได้รับหรือลดโทษในประเทศเบลเยียม บราซิล และมอลตา หรือไม่ถึง 6 กรัม อาจถูกลดโทษในประเทศรัสเซียและยูเครน
นอกเหนือไปจากผลกระทบด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้นในสังคมแล้ว เหตุผลสำคัญที่หลายๆ ประเทศไม่เปิดโอกาสให้มีการปรับเปลี่ยนตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด อาจจะเป็นเพราะสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่ประเทศต่างๆ เหล่านั้นต่างเข้าไปมีผลผูกพันและปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้าหากมีการปรับแก้ไขดังกล่าว อาจเกรงว่าจะเป็นการละเมิดข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งอาจจะนำไปสู่การสูญเสียจุดยืนและความน่าเชื่อถือบนเวทีโลก
ในปัจจุบันกัญชายังเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายในประเทศไทย แม้จะมีความพยายามในการเปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ถึงประโยชน์จากการใช้พืชชนิดนี้ก็ตาม
Photo: AFP
อ้างอิง:
- www.vox.com/cards/marijuana-legalization/marijuana-legalization-world
- lifehacker.com/what-you-can-and-can-t-do-in-california-with-recreati-1821738455
- www.marijuana.com/news/2017/11/where-in-the-world-is-marijuana-legal
- www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2017/04/13/canada-announces-plans-to-legalize-marijuana-by-july-2018/?utm_term=.51b395f3db7a
- www.forbes.com/sites/trangho/2018/01/02/new-marijuana-etf-ablaze-as-california-legalizes-retail-sales/#4e56bbe77f57
- edition.cnn.com/2018/01/01/us/california-marijuana-sales/index.html