หนึ่งในประเด็นร้อนที่กำลังน่าจับตามองของการเมืองจีนขณะนี้คือ กรณีการหายตัวไปของ ‘หลี่ซ่างฝู’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีน ที่ไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนมานานร่วมเดือน จนทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า เขาหายไปไหน? เกิดอะไรขึ้นกับเขากันแน่? หรือเขาอาจเตรียมถูกสั่งปลดฟ้าผ่าในเร็ววันนี้ก็เป็นได้
ก่อนที่เขาจะหายตัวไป หลี่ซ่างฝูได้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยความมั่นคงอย่าง Shangri-La Dialogue ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จากนั้นเขาปรากฏตัวครั้งสุดท้ายในช่วงที่เดินทางเยือนประเทศรัสเซียและเบลารุสเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่หมายกำหนดการประชุมหลังจากนั้นถูกยกเลิกทั้งหมด
หลี่ถือเป็นผู้นำระดับสูงคนที่ 2 ของจีนที่หายตัวไปในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาต่อจาก ฉินกัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ที่ถูกปลดฟ้าผ่าในเดือนกรกฎาคม ซึ่งจีนได้แต่งตั้ง หวังอี้ กลับมารับตำแหน่งเดิมต่อจากฉินกังอีกครั้ง โดยการหายตัวไปของทั้งคู่เกิดขึ้นหลังจากที่พวกเขาเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน
THE STANDARD ถาม ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงประเด็นที่เกิดขึ้นว่าหลี่หายไปไหน การหายตัวไปของผู้นำระดับสูงของจีนสะท้อนนัยอะไรในการเมืองจีน และอำนาจของ สีจิ้นผิง
หลี่ซ่างฝูหายไปไหน เกิดอะไรขึ้นกับเขา?
ดร.อาร์ม ระบุว่า “จริงๆ แล้วก็ยังไม่มีแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการใดๆ ที่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่โดยกระแสข่าวที่ออกมาก็มองกันว่า น่าจะมีการตรวจสอบเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันภายในกองทัพ ซึ่งก็น่าจะทำให้เขาหายตัวไป คล้ายๆ กับกรณีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก่อนหน้านี้ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อมูลทางการออกมาเช่นเดียวกันว่าทั้งสองคนนี้หายตัวไปไหน”
การหายตัวไปของฉินกังและหลี่ซ่างฝู สะท้อนอะไรเกี่ยวกับการเมืองจีน?
ดร.อาร์ม อธิบายว่า “จริงๆ ก็สะท้อนถึงว่า การเมืองจีนเป็นกล่องดำมาก เพราะถ้าถามว่าจะให้ยืนยันให้แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องอะไร มันเกิดอะไรขึ้น จริงๆ จนถึงปัจจุบันทั้งสองเรื่องนี้ก็ยังไม่มีแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการหรือสามารถรับรองได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอะไร เพราะฉะนั้นก็อาจต้องติดตามกันต่ออีกสักระยะหนึ่ง จนกว่าฝุ่นจะหายตลบ ว่าแท้จริงแล้วเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องความขัดแย้งภายในของการเมืองจีน หรือเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามคอร์รัปชันของสีจิ้นผิง หรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมส่วนตัวของบุคคลเหล่านี้ จริงๆ แล้วก็ต้องบอกว่าปัจจุบันเรายังมีข้อมูลน้อยมาก
“ตอนนี้มีการตีความสองอย่างซึ่งตรงข้ามกัน การตีความแรกคือ มันสะท้อนพลังอำนาจที่สูงมากของสีจิ้นผิง เพราะการที่จะปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ง่ายๆ หรือการที่อาจจะเรียกว่า ‘จัดการ’ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอย่างรวดเร็ว เหล่านี้ก็แปลว่าสีจิ้นผิงจะต้องมีอำนาจมหาศาล แต่ทิศทางที่ตรงกันข้ามก็คือ มองว่าทั้งสองคนนี้จริงๆ เป็นคนที่สีจิ้นผิงเลือกมาด้วยตัวเอง ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหากับทั้งสองคน มันจะส่งผลกระทบอะไรกับชื่อเสียงหรือมีคำถามไหมกับการตัดสินใจเลือกคนของสีจิ้นผิง หรือมันสะท้อนว่ามีการต่อสู้ ขัดแย้งทางอำนาจในการเมืองจีนหรือเปล่า แต่จริงๆ ก็ต้องเรียนว่า การตีความทั้งสองอย่างเป็นเพียงการตั้งข้อสมมติฐาน เพราะจนปัจจุบันเราก็ยืนยันไปในทางใดไม่ได้ชัดเจน”
การหายตัวไปของหลี่จะนำไปสู่การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกลาโหมจีนในอนาคตหรือไม่?
ดร.อาร์ม คาดการณ์ว่า “จริงๆ ก็น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกลาโหมของจีน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจะคล้ายคลึงกับกรณีของรัฐมนตรีต่างประเทศ สุดท้ายก็ขอให้หวังอี้มาดำรงตำแหน่งแทน แต่ว่าจริงๆ แล้วถ้าเราตั้งข้อสังเกตคือ แม้กระทั่งหวังอี้ก็น่าจะมาในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะเขาเลยวัยที่ควรจะต้องเกษียณไปแล้ว เพราะฉะนั้นสองตำแหน่งนี้เป็นสองตำแหน่งที่สำคัญ และยังไม่ชัดเจนว่าสีจิ้นผิงจะเลือกใครขึ้นมา ถ้าดูจากแนวโน้มตอนนี้ก็คงน่าจะต้องมีการเปลี่ยนตัว”
สภาวการณ์ที่ดูไม่แน่นอนภายใต้การปกครองของสีจิ้นผิง ส่งผลกระทบต่อนานาชาติหรือไม่?
ดร.อาร์ม กล่าวว่า “ทั้งสองตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่สำคัญ และจริงๆ แล้วก็เป็นตำแหน่งที่พบแขกต่างชาติอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศหรือรัฐมนตรีกลาโหม และในอดีตก็คงมีแขกต่างประเทศที่เคยพูดคุยสื่อสารและทำความเข้าใจกับทั้งสองคนนี้ เราต้องยอมรับว่ามันมีผลต่อทิศทางนโยบาย เพราะฉะนั้นการที่สองคนนี้อาจมีแนวโน้มที่จะหลุดออกจากตำแหน่งและมีการเปลี่ยนตัวบุคคล ก็ย่อมส่งผลทั้งต่อนโยบายต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง รวมทั้งส่งผลต่อคนที่เคยสื่อสารทำความเข้าใจกันมาก่อนในอดีตด้วย”
ดร.อาร์ม กล่าวทิ้งท้ายว่า “อย่างที่กล่าวไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันสะท้อนความลึกลับและความเป็นกล่องดำของการเมืองจีน และแม้กระทั่งการตีความเรื่องนี้ก็มีหลากหลายการตีความมาก แล้วแต่จุดยืนของการเมืองของแต่ละฝ่าย ผมจึงคิดว่าเราต้องระมัดระวังเหมือนกันในการตีความหรือรับสาร เพราะเราต้องยอมรับว่าข้อมูลที่เรามีอยู่จริงๆ และเป็นข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้มีอยู่น้อยมากเกี่ยวกับเรื่องนี้”