นี่คือบรรยากาศการขับเคลื่อนและแสดงพลังของผู้หญิงจากหลากหลายมุมของประชาคมโลก เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (25 พฤศจิกายน) โดยองค์การอนามัยโลก ระบุว่าผู้หญิงกว่า 1 ใน 3 ของโลกล้วนเคยเผชิญหน้า และตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง
จากเหตุการณ์สังหารนักเคลื่อนไหวทางการเมืองสตรีชาวโดมินิกัน สามพี่น้องในตระกูลมิราเบิล ที่ออกมาแสดงจุดยืนและเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้แก่สตรี ในช่วงที่โดมินิกันยังอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการของตระกูลทรูฆิโญ (ปี 1960) เหตุสะเทือนขวัญในวันนั้นเป็นหนึ่งในบาดแผลที่ฝังรากลึก สร้างแรงกระเพื่อมและนำไปสู่การเรียกร้องให้เกิดการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงทุกคนทั่วทุกมุมโลก
ในปี 1999 องค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น ‘วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women)’ ขณะที่รัฐบาลไทยที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้นก็มีมติเห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี รวมถึงความรุนแรงในครอบครัว #ENDViolence #EndViolenceAgainstWomen
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศออกมาร่วมเคลื่อนไหว โดยเน้นย้ำว่า ไม่มีใครควรตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าเขาจะมีเชื้อชาติอะไร นับถือศาสนาอะไร เป็นเพศไหน หรือมีรสนิยมทางเพศแบบใดก็ตาม ทุกคนควรเคารพความแตกต่างหลากหลายบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนเสมอภาคกัน
ปารีส ฝรั่งเศส
ผลงานจัดแสดง เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลในเมืองบอนน์ เยอรมนี
ผลงานจัดแสดง เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลในเมืองอมัลฟี อิตาลี
เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงขณะสกัดกั้นขบวนเคลื่อนไหวในเมืองอิสตันบูล ตุรกี
สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร
ภาพ: Jane Barlow / PA Images via Getty Images /NurPhoto via Getty Images / Diego Cupolo / Francesco Pecoraro / Ying Tang / Kiran Ridley / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์