×

เมื่อสหราชอาณาจักรต้องการเป็นประเทศคู่เจรจาอาเซียน โจทย์ใหญ่ที่ไทยและชาติสมาชิกควรคำนึงถึง

09.06.2020
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2020 รัฐบาลสหราชอาณาจักรเผยแพร่แถลงการณ์ของโดมินิก ราบบ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า สหราชอาณาจักรได้ยื่นเอกสารต่อสำนักงานเลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Secretariat) ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อสมัครเข้ารับการพิจารณาเป็นประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partner) รายใหม่ของอาเซียน

 

ในความเป็นจริงเราเริ่มเห็นการแสดงท่าทีของสหราชอาณาจักรที่ต้องการยกระดับความสัมพันธ์กับอาเซียนมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว สิ่งหนึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ การที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรซื้อพื้นที่โฆษณาในสนามบินหลักของประเทศอาเซียน โดยมีข้อความว่า GREAT Britain & Northern Ireland for Partnership คู่กันเป็นภาพธงชาติสหราชอาณาจักรคู่กับธงอาเซียน บนแผนที่ที่เป็นแผนที่ของเกาะอังกฤษ และ 10 ประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีข้อความที่หัวมุมว่า Partner with the UK (ภาพที่แสดงคือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ 

 

แน่นอนว่า การแสดงออกเช่นนี้เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกันกับที่สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2020 นี่คือการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า สหราชอาณาจักรต้องการสร้างพันธมิตรใหม่ และหนึ่งในพันธมิตรใหม่ในระเบียบโลกใหม่ที่สหราชอาณาจักรต้องเผชิญหน้าหลัง Brexit คือ ประชาคมอาเซียน 

 

ปัจจุบันสหราชอาณาจักรมีสถานเอกอัครราชทูตอยู่แล้วในทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และยังมีเอกอัครราชทูตประจำอาเซียนอีกด้วย โดยเอกอัครราชทูตท่านนี้จะประจำอยู่ที่ UK Mission to ASEAN ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการอาเซียน 

 

นั่นทำให้ในกรุงจาการ์ตามีสองสถานเอกอัครราชทูตของสหราชอาณาจักร โดยแห่งหนึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสหราชอาณาจักรต่อประเทศอินโดนีเซีย และอีกแห่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสหราชอาณาจักรต่อประชาคมอาเซียน ซึ่งหลังจากการสร้างสถานะการมีตัวตนทางกฎหมาย (Legal Identity) ให้กับอาเซียนภายหลังจากการบังคับใช้กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ในปี 2008 ประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ทยอยเปิดความสัมพันธ์และมีเอกอัครราชทูต และสถานทูตเพื่อเป็นตัวแทนของประเทศของตนต่ออาเซียนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (ในกรณีของประเทศไทยเราก็จะมีคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา (Permanent Mission of Thailand to ASEAN) และมี ภาสพร สังฆสุบรรณ์ ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต)

 

อย่างที่หลายๆ ท่านทราบกันแล้ว นั่นคือ อาเซียนไม่ได้มีเฉพาะความสัมพันธ์กันเองระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกเท่านั้น แต่อาเซียนยังมีความสัมพันธ์กับนานาประเทศในประชาคมโลกด้วย โดยความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาคอย่างเป็นทางการของประชาคมอาเซียน ประกอบไปด้วย ประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partner), คู่เจรจาเฉพาะสาขา (Sectoral Dialogue Partner), หุ้นส่วนการพัฒนา (Development Partner), ผู้สังเกตการณ์พิเศษ (Special Observer), ผู้ที่ได้รับเชิญ (Guest) และสถานภาพอื่นๆ ที่อาเซียนอาจจะจัดตั้งขึ้น 

 

โดยปัจจุบันอาเซียนมีคู่เจรจา 9 ประเทศกับอีก 1 องค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา รัสเซีย และ สหภาพยุโรป (แน่นอนว่า หลังวันที่ 31 มกราคม 2020 เมื่อสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิก EU แล้ว พวกเขาก็จะไม่เป็นคู่เจรจากับอาเซียน) โดยในปี 2018-2021 ประเทศไทยมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาคือ ประเทศอินเดีย และในปี 2021-2024 ไทยก็จะเป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น

 

นอกจากคู่เจรจาแล้ว อาเซียนยังมีประเทศคู่เจรจาเฉพาะสาขาอีก 4 ประเทศคือ ปากีสถาน นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกี มีประเทศหุ้นส่วนการพัฒนาอีก 2 ประเทศคือ เยอรมนี และชิลี ในขณะที่ปาปัวนิวกินีเป็นผู้สังเกตการณ์พิเศษของอาเซียนมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 

 

ในอดีตอาเซียนเคยมีคู่เจรจาเป็นองค์กรระหว่างประเทศอีกหนึ่งองค์กรนั่นคือ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ซึ่งเป็นคู่เจรจามาตั้งแต่ปี 1977 แต่ภายหลังอาเซียนได้สถาปนาสถานภาพพิเศษกับองค์การสหประชาชาติ เรียกว่า ASEAN-UN Comprehensive Partnership ขึ้นมาแทน

 

จะเห็นได้ว่าการยื่นเอกสารขอเป็นคู่เจรจากับอาเซียน คือการขอสร้างความสัมพันธ์ในระดับสูงสุด และในระดับเดียวกันกับความสัมพันธ์ที่สหราชอาณาจักรเคยมีกับอาเซียนภายใต้สถานะการเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป 

 

คำถามที่ฝั่งอาเซียนจะต้องพิจารณาต่อไปก็คือ 

    • ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเคยมีข้อตกลงกันเอาไว้แล้วในลักษณะ Moratorium หรือการประกาศพัก ประกาศหยุดชั่วคราวเอาไว้แล้วว่า อาเซียนจะยังไม่มีการรับเพิ่มประเทศคู่เจรจา เราจะยกเลิก Moratorium ที่เคยให้กันไว้หรือไม่
    • การยกสถานะสหราชอาณาจักรขึ้นมาเป็นคู่เจรจาในขณะที่อีกประเทศในสหภาพยุโรป นั่นคือ เยอรมนียังมีสถานะเป็นประเทศหุ้นส่วนการพัฒนา จะมีความเหมาะสมทางการทูต และมีผลกระทบต่อระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันหรือไม่
    • หากยกเลิก Moratorium ไป แล้วเปิดรับคู่เจรจาใหม่เฉพาะสหราชอาณาจักรเท่านั้น จะถือเป็นสิ่งที่เหมาะสมทางการทูตหรือไม่ รวมทั้งจะเปิดให้ประเทศที่อยากขอเป็นคู่เจรจากับอาเซียนเข้ามาขอเป็น และเรา (ในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน) อาจจะไม่อยากมีความสัมพันธ์กับประเทศนั้นๆ แล้วจะมีเหตุผลอย่างไรที่จะไม่กระทบความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับประเทศอื่นๆ
    • ดุลอำนาจในระดับภูมิภาคจะเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะสหราชอาณาจักรเองก็มีประวัติศาสตร์ร่วมกับหลากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในมิติที่ดีและมิติที่ขัดแย้งในอดีต โดยเฉพาะในช่วงจักรวรรดินิยม

 

สิ่งที่เราต้องคิดต่อไปก็คือ แล้วหากเราจะเปิดความสัมพันธ์ในระดับคู่เจรจากับสหราชอาณาจักร เราอยากเห็นอะไรบ้าง อาทิ

  • เป็นไปได้หรือไม่ที่สหราชอาณาจักรจะต้องมีท่าทีที่ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของอาเซียนในเวทีประชาคมโลก
  • เป็นไปได้หรือไม่ที่สหราชอาณาจักรจะต้องยอมรับในหลักการ ASEAN Centrality หรืออาเซียนเป็นจุดศูนย์กลาง และเป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการเจรจาและการดำเนินนโยบายกับประเทศคู่เจรจา 
  • เป็นไปได้หรือไม่ถ้าสหราชอาณาจักรเข้ามาแล้วจะไม่เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ สนับสนุน แทรกแซง ในปัญหาที่เป็นเรื่องเปราะบางในภูมิภาค อาทิ กรณีทะเลจีนใต้ เหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐยะไข่ ฯลฯ
  • เป็นไปได้หรือไม่ที่สหราชอาณาจักรจะให้สิทธิพิเศษกับประชาคมและประชาชนอาเซียนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติการเมือง ความมั่นคง ทั้งในมิติความมั่นคงของชาติและความมั่นคงของมนุษย์ โดยไม่มีการแทรกแซงกิจการภายใน ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สหราชอาณาจักรจะให้แต้มต่อใดบ้างกับนักธุรกิจ และนักลงทุนอาเซียน ในด้านสังคม-วัฒนธรรม ความร่วมมือและการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ด้านสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การเชื่อมโยงประชาชน การสนับสนุนทุนการศึกษาให้นักเรียนไทยและนักเรียนอาเซียนไปเรียนต่อในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น (จีนให้ทุนนักศึกษาอาเซียนมากกว่า 10,000 ทุน อินเดียให้ทุนนักศึกษาอาเซียนมากกว่า 1,000 ทุน ต่อปี เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ)

 

ประเด็นเหล่านี้คือประเด็นที่อาเซียนต้องคำนึงถึง เพราะอย่าลืมว่าหลังออกจาก สหภาพยุโรป ความสัมพันธ์ในหลากหลายมิติของสหราชอาณาจักรกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และสหราชอาณาจักรเองก็ต้องการที่จะสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบที่ลึกซึ้งและกว้างขวางมากยิ่งขึ้นกับนานาประเทศทั่วโลก เพื่อชดเชยกับสิทธิประโยชน์ที่เสียไปจากการออกจาก EU 

 

สมัยเป็นสมาชิก EU ด้วยหลักการดำเนินนโยบายร่วมกันกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก EU ทำให้สหราชอาณาจักรในอดีตขาดอิสรภาพในหลายมิติในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้นเมื่อออกจาก EU แล้ว สหราชอาณาจักรก็ต้องเร่งชดเชยกับสิ่งที่เคยเสียไปในอดีต สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้อาเซียนมีแต้มต่อในการเจรจาเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักรหรือไม่ นี่คือสิ่งที่อาเซียนต้องคิดถึง และไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกของอาเซียน และมีประสบการณ์เป็นผู้นำอาเซียนในหลากหลายมิติตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ต้องคำนึงถึงเช่นกัน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising