×

เมื่อโมเดลตู้ปันสุขคือภาพสะท้อนน้ำใจและปัญหาของสังคมไทยในวิกฤตโควิด-19

13.05.2020
  • LOADING...

ท่ามกลางกระแสตู้ปันสุขและปรากฏการณ์แบ่งปันอาหารที่มีให้เห็นในหลากหลายชุมชนทั่วประเทศไทยในเวลานี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อแบ่งปันของสังคมไทยในยามที่ผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะวิกฤตด้านปัญหาปากท้องในตอนนี้

 

วันนี้ (13 พฤษภาคม) ทีมข่าว THE STANDARD ลงพื้นที่สำรวจจุดตั้งตู้ปันสุขบริเวณวงเวียนกลางซอยวิภาวดี 60 พร้อมพูดคุยกับ สุภกฤษ กุลชาติวิจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด เพจรู้รอบตอบโจทย์ธุรกิจ (ตัวแทนกลุ่มอิฐน้อย) ถึงแนวคิดและความเป็นมาเป็นไปของตู้ปันสุขที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในเวลานี้

 

“ตู้ปันสุขได้รับโมเดลมาจาก ‘Little Free Library’ ของสหรัฐอเมริกา โดย เจสสิก้า แม็คคาน ซึ่งเธอไปเห็นตู้แบบนี้หน้าโบสถ์ เป็นตู้ใส่ของ เหมือนตู้กับข้าว ใส่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ใส่นม ใส่พวกซีเรียลอาหารเช้าของฝรั่ง เธอก็เลยเอาโมเดลนี้ไปทำที่อเมริกา และก็ได้รับความนิยม ถ้าเข้าไปดูในเว็บไซต์เขาจะเห็นว่า เธอปักหมุดเต็มทั้งอเมริกาเลย

 

“หลังจากที่โมเดลนี้ประสบความสำเร็จที่อเมริกา และเห็นว่ามันน่าสนใจ น่าที่จะเอามาทำในประเทศไทยได้ ผมและกลุ่มอิฐน้อยเลยเอาโมเดลนี้มาทดลองทำในประเทศไทย เราเริ่มทดลองทำครั้งแรกอยู่ที่ 5 ตู้ กรุงเทพฯ 4 ตู้ ระยอง 1 ตู้ แล้วก็ทำวิดีโอออกมา ทำให้คนให้ความสนใจเยอะ และเท่าที่ผมรวบรวมจากแฮชแท็ก เฟซบุ๊ก ตอนนี้มีตู้ปันสุขอยู่ที่ประมาณ 618 ตู้ และอยู่ 77 จังหวัด ภายใน 6 วัน หลังโครงการเริ่มเดินหน้า” 

 

เมื่อถามถึงประเด็นที่โลกออนไลน์มีการส่งต่อคลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดที่ฉายภาพของตู้ปันสุขบางพื้นที่ถูกผู้คนบางส่วนกวาดของจากตู้ไว้ครอบครองเพียงผู้เดียว จนกลายเป็นกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบนั้น 

 

สุภกฤษบอกว่า “ถามว่ามีลักษณะเป็นการโกยไหม บอกเลยว่ามีครับ อย่างตู้ที่ซอยเพชรเกษม 54 ก็มีคนโกย พอเอาของไปวางก็มีเด็กปั่นจักรยานมาโกย แต่คนในชุมชนก็ต้องช่วยกันสอนเด็กเองว่า ถ้าอยากให้ตู้นี้อยู่ไปนานๆ ต้องหยิบแต่พอดี แล้วคนที่เป็นผู้ให้ มีศรัทธาที่จะให้ และจะมีให้กินตลอดไป

 

“และถ้าถามว่า โมเดลตู้ปันสุขเวิร์กกับการนำมาใช้ในสังคมไทยหรือไม่ บอกเลยว่าเวิร์กครับ ถ้าคุณสังเกตจะเห็นว่าโมเดลนี้ช่วยคนได้ทุกระดับชั้น ตั้งแต่คนที่มีเงินหรือคนที่มีเหลือเฟือ คุณก็จะมีจุดที่จะแบ่งปัน ส่วนที่ขาดแคลนหรือที่ลำบากอยู่ช่วงนี้คุณก็จะได้มาเอา

 

“ผมมองว่าโมเดลนี้จะช่วยแก้ปัญหามากกว่าปากท้อง เพราะเมื่อไรก็ตามถ้าคนในสังคมเป็นผู้รับและผู้ให้ ปัญหาในสังคมจะลดลงมหาศาล ปัญหาขโมยกับโจร ปัญหาอะไรก็ลดลงได้ในเชิงภาพรวมด้วย

 

“ท้ายที่สุดคนที่จะกำหนดว่าโครงการนี้จะอยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อหลังวิกฤตโควิด-19 จบลง มันไม่ใช่ตัวผมนะครับ เพราะผมได้ให้ตรงนี้ไปกับชุมชนแล้ว โมเดลนี้อาจจะอยู่ยาวหลายปีเลยก็ได้ ถ้าคนในชุมชนยังรักที่การให้และรับ หรือโมเดลนี้จะอยู่ในแค่วันสองวัน ถ้าคนในชุมชนกวาดของอย่างเดียว และความศรัทธาในการให้ของคนในชุมชนไม่มีแล้ว ดังนั้น คนที่จะบอกว่ามันจะอยู่หรือไม่อยู่ก็ขึ้นอยู่กับคนในชุมชน

 

“สำหรับตัวผู้ให้ เรื่องการให้เป็นเรื่องที่ดี อย่าเสียกำลังใจการทำความดีเพียงแค่ภาพไม่ดีไม่กี่ภาพ สำหรับผู้รับ เราก็อยากให้รับอย่างมีสติเช่นเดียวกัน รับอย่างพอเพียง เอาเฉพาะที่คุณเอาไปใช้ เรื่องนี้มันจะเหมือนกับนิทานเรื่องห่านกับไข่ทองคำ ถ้าวันนี้ห่านมันยังอยู่ เท่ากับว่าความศรัทธาของคนยังอยู่ต่อตู้ตัวนี้ ถ้า 2 ตัวนี้ยังอยู่ คุณก็จะได้กินไข่ทุกวัน แต่ถ้าวันหนึ่งคุณทำลาย 2 สิ่งนี้ คุณฆ่าห่านแล้ว คุณก็จะไม่ได้กินไข่หรอกครับ” สุภกฤษกล่าว

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ได้ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising