×

บทสรุปจุดผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ทำให้ Olympus ไปไม่รอดในธุรกิจกล้องถ่ายภาพ

โดย THE STANDARD TEAM
27.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ครั้งหนึ่ง Olympus เคยเป็นหนึ่งในแบรนด์กล้องที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่วันนี้ Olympus ตัดสินใจขายธุรกิจทิ้งไป หลังจากก่อร่างปลุกปั้นมานาน 84 ปี
  • Olympus ให้เหตุผลว่า แม้จะพยายามอย่างเต็มที่ แต่ตลาดกล้องดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Olympus ไม่มีกำไรจากธุรกิจกล้องมากว่า 3 ปีแล้ว
  • ด้านเซียนกล้องบอกว่า ไม่ใช่ แท้จริงแล้วความผิดนั้นอยู่ที่ Olympus เองที่มี ‘ก้าวที่ผิดพลาด’ จนลื่นไถลและไม่มีที่ยืนในตลาด ส่งผลให้แฟนคลับที่รัก Olympus จำนวนมากต้องปันใจหันไปหาแบรนด์อื่น
  • ชีวิตดุจนิยายของ Olympus ยังคงเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับทุกธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องการให้ความสำคัญกับแกนหลักธุรกิจ เพื่อให้อยู่รอดได้ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง

นอกจากตลาดกล้องดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ Olympus ระบุเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจขายธุรกิจกล้องทิ้งไปว่าเป็นเพราะการมาถึงของสมาร์ทโฟน ซึ่งทำให้ตลาดกล้องดิจิทัลหดหายไปอย่างชัดเจน เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจกล้องของ Olympus ขาดทุนต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

 

ผลงานล่าสุดย้อนกลับไปในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2020 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพมีรายได้ 4.36 หมื่นล้านเยน หรือ 1.26 หมื่นล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขาดทุนจากการดำเนินงาน 1.04 หมื่นล้านเยน หรือ 3 พันล้านบาท ตัวเลขนี้นับว่าน้อยกว่าปีงบประมาณ 2019 ที่ขาดทุนไปทั้งสิ้น 1.83 หมื่นล้านเยน หรือ 5.29 พันล้านบาท 

 

 

ย้อนอดีตที่เคยรุ่งเรือง

ก่อนจะไปหาเหตุผลว่าทำไม Olympus ถึงขาดทุน ทั้งที่เคยรุ่งเรืองขนาดนั้น เราควรดูที่ไทม์ไลน์ชีวิตของ Olympus เป็นอันดับแรก ความน่าสนใจคือ Olympus เป็นบริษัทญี่ปุ่นที่สร้างกล้องตัวแรกในปี 1936 หรือเมื่อ 84 ปีก่อน หลังจากผลิตกล้องจุลทรรศน์มาหลายปี

 

ตามประวัติ Olympus ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 1919 (พ.ศ. 2462) ในนามบริษัท Takachiho Seisakusho โดย ทาเคชิ ยามาชิตะ บริษัทนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือทางการเงินจากอดีตนายจ้างของยามาชิตะ จุดมุ่งหมายหลักคือการผลิตกล้องจุลทรรศน์ขึ้นเองภายในประเทศ

 

ยามาชิตะสนับสนุนทีมวิศวกรให้พัฒนากล้องจุลทรรศน์ในแบบฉบับของบริษัท เพราะมองว่าการลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์นำเข้าแต่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพียง 6 เดือนหลังจากการก่อตั้งบริษัท ความฝันของยามาชิตะในการสร้างกล้องจุลทรรศน์ขึ้นเองภายในประเทศก็กลายเป็นความจริง ด้วยการเปิดตัว Asahi กล้องจุลทรรศน์ตัวแรกที่ผลิตโดยบริษัท Takachiho

 

3 ทศวรรษต่อมา Olympus ประสบความสำเร็จในการพัฒนากล้องถ่ายภาพกระเพาะอาหารที่ใช้งานได้จริงตัวแรกของโลก แล้วจึงขยายมาที่ธุรกิจเครื่องมือแพทย์อื่น เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ แต่ธุรกิจเครื่องวัดอุณหภูมิก็ถูกขายออกไป แล้วนำเงินที่ได้ส่วนใหญ่มาลงทุนในธุรกิจกล้องจุลทรรศน์

 

 

เชี่ยวชาญในเรื่องเลนส์ จุดเริ่มต้นของธุรกิจกล้องถ่ายภาพ

ความเชี่ยวชาญเรื่องเลนส์ทำให้ Olympus แตกไลน์มาสร้างกล้องถ่ายภาพรุ่นแรก ‘Semi-Olympus I’ กล้องนี้เป็นกล้องเป่าลมที่มีลักษณะคล้ายหีบเพลง ซึ่งมีราคามากกว่าค่าเฉลี่ยเงินเดือนพนักงานในญี่ปุ่นเวลานั้น

 

Olympus เดินหน้าพัฒนาธุรกิจกล้องอย่างต่อเนื่องมานานหลายทศวรรษ และกลายเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำ เพราะโกยส่วนแบ่งการตลาดได้มาก 

 

ไนเจล แอเธอร์ตัน บรรณาธิการนิตยสารช่างภาพสมัครเล่น Amateur Photographer กล่าวถึงเวลานั้นว่า Olympus มีแฟนคลับจำนวนมากที่รักและชื่นชอบ โดยช่วงปี 1970 เป็นช่วงเวลาทองของบริษัท เห็นได้ชัดจากการยิงโฆษณากล้องของทางโทรทัศน์ โดยมีช่างภาพผู้มีชื่อเสียง เช่น เดวิด ไบลีย์ และ ลอร์ด ลิชฟิลด์ เป็นพรีเซนเตอร์

 

แอเธอร์ตันบอกว่า ยุคทองของ Olympus ในธุรกิจกล้อง เป็นเพราะกล้อง Olympus มีการปฏิวัติจนโดดเด่น ความเล็ก ความเบา และการออกแบบที่สวยงาม ลงตัวเหลือเกินกับเลนส์คุณภาพดีเยี่ยม ที่ทำให้ Olympus เป็นตัวจริงในตลาด

 

แฟนคลับ Olympus ก็ยังเหนียวแน่นแม้ในยุคที่ Olympus มีปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ เช่น ระบบออโต้โฟกัส เวลานั้น Olympus ก็ไม่ละเลยที่จะพัฒนาคลื่นลูกใหม่ นั่นคือกล้องดิจิทัล ซึ่ง Olympus เกาะกลุ่มอยู่เป็นแบรนด์แรกๆ ในตลาดที่พัฒนากล้องดิจิทัล

 

 

แต่ปัญหาคือ Olympus ตั้งเป้าหมายหรือวางทาร์เก็ตไว้ที่ตลาดกล้อง Mirrorless ระดับกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่ช่างภาพจริงจัง แม้จะต้องการสิ่งที่ดีกว่ากล้องแบบเล็งแล้วถ่าย (Point-and-Shoot Camera) แต่ก็ไม่ต้องการกล้อง DSLR รุ่นใหญ่

 

ปรากฏว่าตลาดนั้นถูกกลืนหายไปอย่างรวดเร็วด้วยสมาร์ทโฟน กลายเป็นตลาดที่ไม่มีตัวตนในนาทีนี้

 

กลุ่มเป้าหมายที่ Olympus วาดหวังไว้ถูกกลืนไปจนเห็นได้ชัด สถิติที่บันทึกได้คือตลาดสำหรับกล้องแบบสแตนด์อโลนลดลงต่อเนื่อง 84% ระหว่างปี 2010 และ 2018 

 

ไม่เข้าใจตลาด จนตัดสินใจผิดพลาด

ถึงตรงนี้แอเธอร์ตันบอกว่า กล้อง Olympus ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ล้วนไม่เข้าตา ทำให้ Olympus เป็นบริษัทที่ ‘น่าผิดหวังมาก’ ฟอร์มที่ตกลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะ Olympus ไม่เข้าใจตลาด จนตัดสินใจผิดพลาด ดันให้บริษัทเข้าสู่ทางตัน จนไม่รู้จะขยายไปทางไหน

 

ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนก้าวที่พลาดของ Olympus คือความล้าหลังเรื่องเทคโนโลยีวิดีโอ Olympus ขาดจิ๊กซอว์ตัวนี้ ในขณะที่คู่แข่งสามารถทำได้ดีกว่าแบบก้าวกระโดด ทำให้ Olympus สู้ไม่ได้ในตลาด จนส่วนแบ่งหดหายไปด้วย

 

Olympus ยังมีปัญหาอื้อฉาวเรื่องการเงินของบริษัท คดีนี้เกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูง จนเป็นข่าวดังในปี 2011

 

วันนี้ Olympus กำลังพยายามทำข้อตกลงเพื่อขายทิ้งธุรกิจกล้อง เพื่อให้สินค้าของแบรนด์ในเครือ (เช่น เลนส์ Zuiko) สามารถไปใช้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทอื่น ภายใต้การบริหารของ Japan Industrial Partners 

 

ในแถลงการณ์ Olympus กล่าวว่า บริษัทสามารถพัฒนาธุรกิจได้ต่อเนื่องจนกระทั่งถึงยุควิกฤต ทำให้บริษัทเชื่อว่า การขายธุรกิจกล้องจะเป็น ‘ขั้นตอนที่ถูกต้อง’ ในการรักษาแบรนด์ไว้ 

 

 

Olympus ยังกล่าวถึงแฟนคลับ Olympus ว่าอาจมีคำถามมากมายเกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งนี้ แต่ขอให้ทุกฝ่าย ‘อดทน’ เพราะ Olympus เชื่อว่า การถ่ายโอนกิจการจะเป็นโอกาสที่จะช่วยให้ธุรกิจการถ่ายภาพของ Olympus เติบโตต่อไป และเป็นทางออกที่ดีสำหรับทั้งผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพมานานและมือใหม่

 

สำหรับ Olympus Corporation บริษัทยืนยันว่าจะดำเนินการต่อไปให้สมกับที่บริษัทไม่เคยหยุดสร้างและพัฒนากล้องจุลทรรศน์ และจะโฟกัสธุรกิจที่อุปกรณ์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์อื่นๆ เช่น กล้องเอ็นโดสโคป ต่อไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง: 

FYI

Olympus คือชื่อภูเขาที่เหล่าเทพยดาอาศัยอยู่

 

ในตำนานกรีกโบราณ ยอดเขา Olympus คือบ้านของเหล่าเทพสูงสุด 12 องค์ แบรนด์ Olympus จึงถูกตั้งชื่อตามภูเขานี้ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่มีชื่อเสียงระดับโลก

 

ข้อมูลบริษัท Olympus ระบุว่า ชื่อ Olympus ถูกใช้เป็นเครื่องหมายการค้าตั้งแต่สมัยยังเป็นบริษัท Takachiho Seisakusho ก่อนที่จะมาเป็นบริษัท Olympus Corporation

 

ตรงนี้สอดคล้องกับตำนานญี่ปุ่นโบราณที่เล่ากันว่า มีเหล่าเทพ 8 ล้านองค์ อาศัยอยู่ที่ยอดเขาทาคามางาฮาระของภูเขาทาคาชิโฮะ (Takachiho) ชื่อ Olympus จึงถูกเลือกให้เป็นเครื่องหมายการค้า เนื่องจากยอดเขา Olympus เหมือนกับยอดเขา Takachiho ตรงที่เป็นบ้านของเหล่าเทพยดา

 

ในปี 1942 บริษัท Takachiho Seisakusho ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Takachiho Optical Co., Ltd. เมื่อผลิตภัณฑ์ด้านออปติคัลกลายเป็นธุรกิจหลักของบริษัท กระทั่งปี 1949 จึงเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น Olympus Optical Co., Ltd. เพื่อพยายามยกระดับภาพลักษณ์ขององค์กร

 

สุดท้ายคือปี 2003 หรือ พ.ศ. 2546 บริษัทเน้นดำเนินธุรกิจในชื่อ Olympus Corporation จนโลกรู้จักกันดี

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X