×

สูตรลับสู่เพลงฮิต: ค้นหาเหตุผลที่ทำให้เพลงเพลงหนึ่งดังเป็นพลุแตก

26.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • THE STANDARD ได้รวบรวมข้อมูลจากบทความต่างๆ ที่ทำการศึกษาโครงสร้างของเพลงฮิตแยกเป็นหัวข้อ พร้อมมุมมองต่อสูตรลับเพลงฮิตจากนักร้อง-นักแต่งเพลงอย่าง Greasy Cafe หรือเล็ก-อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร เจ้าของบทเพลงติดชาร์ตอย่าง หมุน, สิ่งเหล่านี้, ฝืน และ ระเบิดเวลา

ย้อนกลับไปในปี 2015 เว็บไซต์ Motherboard.Vice.com ได้ทำการศึกษาข้อมูลจาก University of Antwerp ประเทศเบลเยียม เกี่ยวกับการสร้างเครื่องมือที่สามารถ ‘คาดการณ์’ ได้ว่าเพลงเพลงหนึ่งจะกลายเป็นที่นิยมหรือฮิตติดชาร์ตหรือไม่

 

ในการศึกษาแรกของมหาวิทยาลัยได้ทำการสำรวจข้อมูลจากเพลงฮิตแนวแดนซ์ช่วงปี 1985-2014 โดยที่ ดอเรียน เฮอร์แมนส์ หนึ่งในผู้ทำการวิจัย ทดลองใช้เครื่องมือเพื่อค้นหาเพลงที่จะติดชาร์ต Top Billboard Dance Singles ในปี 2015 ซึ่งเมื่อนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกับชาร์ตบิลบอร์ด 5 อันดับแรกของจริง ปรากฏข้อมูลว่า

 

อันดับ 1 เพลง Lean On โดย Major Lazer & DJ Snake Featuring MO เครื่องมือคาดการณ์ว่าเพลงนี้มีโอกาสจะฮิตถึง 82%


อันดับ 2 เพลง Where Are U Now โดย Skrillex & Diplo With Justin Bieber เครื่องมือคาดการณ์ว่าเพลงนี้มีโอกาสจะฮิตถึง 72%


อันดับ 3 เพลง Hey Mama โดย David Guetta Featuring Nicki Minaj, Bebe Rexha & Afrojack เครื่องมือคาดการณ์ว่าเพลงนี้มีโอกาสจะฮิตถึง 72%


อันดับ 4 เพลง You Know You Like It โดย DJ Snake & AlunaGeorge เครื่องมือคาดการณ์ว่าเพลงนี้มีโอกาสจะฮิตถึง 63%


อันดับ 5 เพลง Waves โดย Mr.Probz เครื่องมือคาดการณ์ว่าเพลงนี้มีโอกาสจะฮิตถึง 68%

 

ซึ่งในบทความยังสรุปว่าการคาดการณ์ของเครื่องมือดังกล่าวในชาร์ต 10 อันดับแรกมีความแม่นยำถึง 65% แปลว่าคอมพิวเตอร์สามารถเชื่อมโยงความเหมือนกันและมองหาโครงสร้างของเพลงที่มีแนวโน้มจะเป็นที่นิยมได้ ซึ่งนั่นแปลว่าเพลงฮิตในยุคนี้อาจจะคาดเดาได้ และบางทีเราอาจจะถอดองค์ประกอบของเพลงเพื่อหาสูตรสำเร็จที่ทำให้เพลงเพลงหนึ่งฮิตติดชาร์ตขึ้นมาได้จริง!

 

วันนี้ THE STANDARD ได้รวบรวมข้อมูลจากบทความต่างๆ ที่ทำการศึกษาโครงสร้างของเพลงฮิตแยกเป็นหัวข้อ พร้อมมุมมองต่อสูตรลับเพลงฮิตจากนักร้อง-นักแต่งเพลงอย่าง Greasy Cafe หรือ เล็ก-อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร เจ้าของบทเพลงติดชาร์ตอย่าง หมุน, สิ่งเหล่านี้, ฝืน และ ระเบิดเวลา

โครงสร้างเพลงฮิตเปลี่ยนไป คนฟังมักจะชอบเพลงที่เปิดมาแล้วก็เจอท่อนฮุกทันที

 

โครงสร้างเพลงฮิตในแต่ละยุค

โครงสร้างเพลงอาจจะมีได้หลายรูปแบบ แต่รูปแบบหนึ่งที่ฮิตและเป็นที่นิยมตั้งแต่ช่วงปี 1950 คือโครงสร้างแบบ AABA หรือที่เรียกว่า Thirty-two-bar form หรือบางทีก็ถูกเรียกว่า American Popular Song Form เพราะเป็นที่นิยมในหมู่นักแต่งเพลงอเมริกันช่วงปี 1950

 

มีหลายเพลงฮิตที่เรารู้จัก ซึ่งแต่งโดยใช้โครงสร้างดังกล่าว A คือเวิร์ส และ B คือบริดจ์ เช่นเพลง Over The Rainbow ของจูดี การ์แลนด์ (Harold Arlen and E.Y. Harburg, 1938) หรือเพลง Blue Moon (Richard Rodgers and Lorenz Hart, 1934) ฟังตัวอย่างโครงสร้างแบบ AABA อย่างเข้าใจง่ายๆ ได้ที่นี่

 

อย่างไรก็ตาม สูตร AABA ก็ได้รับความนิยมน้อยลงตั้งแต่ช่วง The Beatles เป็นต้นมา หลังจากนั้นโครงสร้างเพลงก็เริ่มปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ จนมีโครงสร้างทั้ง A-B-A-B, A-B-A-B-C-B, A-B-A-B-A-B และ A-A-B-A ซึ่ง A คือท่อนเวิร์ส และ B หมายถึงท่อนคอรัส (หรือท่อนฮุกนั่นเอง)

 

เดวิด เพนน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Hit Songs Deconstructed ได้ให้ข้อมูลวิเคราะห์เพลงฮิตในยุคปัจจุบัน เขากล่าวว่า “ยุคหลังๆ (ตั้งแต่ช่วงปี 2015) โครงสร้างเพลงฮิตเปลี่ยนไป คนฟังมักจะชอบเพลงที่เปิดมาแล้วก็เจอท่อนฮุกทันทีมากขึ้น เพลงจะมีท่อนฮุกมาเร็วขึ้น” อย่างเช่นโครงสร้างแบบ B-A-B-A-B ในเพลง What Do You Mean ของจัสติน บีเบอร์ หรือโครงสร้างแบบ A-B-A-B-C-B อย่างเพลง Grenade ของบรูโน มาร์ส  

 

Justin Bieber – What Do You Mean? (B-A-B-A-B)

Bruno Mars – Grenade (A-B-A-B-C-B)

 

Greasy Cafe ได้ให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า “เท่าที่เรารู้ มันจะมีโครงสร้างปกติมากๆ ในการแต่งเพลงที่เป็นแบบเวิร์ส 1, เวิร์ส 2, พรี และฮุก คือหมายความว่าเวิร์สแรกแล้วต่อด้วยเวิร์ส 2 ซึ่งอาจจะเมโลดี้เหมือนเดิม แล้วก็เป็นท่อนพรี เข้าท่อนฮุก อาจจะมีโซโลนิดหน่อย แล้วบางวงอาจจะมีฮุกอีกทีแล้วก็จบ เราว่าพวกนี้มันเป็นหลักการเบื้องต้นมากๆ ซึ่งมีผลทำให้เพลงฮิตหรือเปล่า เราไม่แน่ใจเท่าไร เพราะว่ามันมีบางเพลงของเราที่มีลักษณะแบบนี้แหละ แต่ไม่ได้การันตีว่าทำแบบนี้แล้วจะเวิร์กทุกเพลง

 

“สำหรับเราอาจจะไม่ได้เรียกว่าเป็นสูตร แต่เป็นหลักการมากกว่า ปกติเราจะเป็นคนติดชอบเล่าเวิร์ส 1, เวิร์ส 2 แล้วค่อยพรี แล้วเข้าท่อนฮุก บางวงอาจจะเวิร์ส 1 แล้วไปฮุกเลย เรารู้สึกว่ามันเป็นแบบนั้นได้ตามดนตรีที่พาไป มันเป็นการค่อยๆ เกิดรายละเอียดขึ้นในสิ่งที่เหมือนกัน เมโลดี้เหมือนกัน แต่อาจจะมีรายละเอียดมากขึ้น เช่น ไลน์กีตาร์ คีย์บอร์ด เหมือนขยี้ให้มันมากขึ้น”

 

ยิ่งเพลงมีการใช้คำซ้ำหรือมีการร้องท่อนฮุกซ้ำมากเท่าไร เพลงนั้นยิ่งมีโอกาสติดอันดับ 1 มากเท่านั้น

เนื้อเพลงต้องมา

กลุ่มนักวิจัยจาก University of Pittsburgh School of Medicine ศึกษากลุ่มตัวอย่างเพลงฮิตจำนวน 279 เพลง จากชาร์ตบิลบอร์ด ปี 2005 เพื่อหาจุดร่วมของ ‘เนื้อเพลง’ ที่มีเหมือนกัน พวกเขาพบว่ากว่า 33% ของเพลงฮิตมักมีการพูดถึงการใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ ในขณะที่อีกการวิจัยจาก Hobbs, D.R., & Gallup, G.G. (2011) ที่ศึกษาเพลงติดชาร์ตบิลบอร์ดทั้งหมวดเพลงป๊อป อาร์แอนด์บี และคันทรี ในปี 2009 การศึกษาพบว่า 92% ของเพลงเหล่านั้นมีเนื้อเพลงที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ สถานะทางสังคม และฐานะ

 

แต่เนื้อหาของเนื้อเพลงอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียว มีการวิจัยที่ใช้ชื่อว่า The power of repetition: repetitive lyrics in a song increase processing fluency and drive market success ที่ศึกษาเพลงฮิตติดชาร์ตท็อป 100 ของบิลบอร์ดตั้งแต่ช่วงปี 1958-2012 และพบว่ายิ่งเพลงมีการใช้คำซ้ำหรือมีการร้องท่อนฮุกซ้ำมากเท่าไร เพลงนั้นยิ่งมีโอกาสติดอันดับ 1 มากเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เพลงที่มีท่อนร้องซ้ำๆ อย่าง Shake It Off ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะยิ่งคนเราได้ยินอะไรบ่อยๆ ก็จะติดหูมากขึ้น กระจายจำนวนคนฟังมากขึ้น และเพลงก็อาจจะติดชาร์ตในที่สุด

 

การใช้ท่อนซ้ำหรือคำซ้ำยังถูกแนะนำให้ประยุกต์กับโครงสร้างเพลงในข้อแรกด้วย เช่น ใช้คำเดิมเป็นคำแรกในท่อน A เสมอ และพยายามใช้เนื้อเพลงที่ร้องตามได้ง่าย มีความเรียบง่ายของเรื่องราวและรูปประโยค รวมทั้งเนื้อเพลงควรจะ ‘พูดให้อีกฝ่ายฟัง’ เสมอ ก็จะเพิ่มความอินในการร้องตามของคนฟังได้

 

Taylor Swift – Shake It Off

 

Greasy Cafe ได้ให้ความคิดเห็นในประเด็นนี้ไว้ว่า “เราคิดว่าเนื้อเพลงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทำงานกับคนฟังที่สุด และเนื้อเพลงที่ทำงานกับความรู้สึกคนน่าจะเป็นด้านลบมากกว่า เพราะเพลงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านลบมันอยู่ได้ในสองขนาบ หนึ่ง ในช่วงเวลาที่เขารู้สึกแย่มากๆ จะรู้สึกว่ามีบางคนที่เข้าใจในสิ่งที่เขารู้สึก สองคือเขาจะฟังตอนที่มีความสุขก็ได้ เพราะเขารู้สึกว่าปลอดภัย แม้มันจะเป็นเรื่องด้านลบก็ตาม”

 

 

เมโลดี้ที่ใช่

วิธีหาเมโลดี้ติดหูที่ง่ายที่สุดอาจจะเป็นการสร้างทำนองที่ติดหูจนผ่าน Whistle Test หรือคนฟังเพลงแล้วจะผิวปากตามทำนองนั้นได้ทันที โดยบทความจากเว็บไซต์ Music Radar ได้ยกตัวอย่างเมโลดี้คลาสสิกติดหู 4 รูปแบบ เช่น Peaks and Constants หรือการนำท่อนธรรมดาๆ ใส่โน้ตที่เสียงสูงเพื่อเน้นน้ำหนักบางคำในประโยคแล้วใช้ซ้ำๆ อย่างในเพลง The A Team ของเอ็ด ชีแรน ท่อน And they say / She’s in the class A team / Stuck in her daydream เป็นต้น

 

หรือเทคนิคเพิ่มความติดหูของเมโลดี้ด้วยนักร้องแบ็กอัพ หรือ Back-up Singers นักวิจัยของ USC Marshall School Business และ USC Thornton School of Music ได้ทำการศึกษาเพลงกว่า 1,000 เพลงที่ติดชาร์ตบิลบอร์ดในปี 1958-2012 รวมถึงเพลงกว่าอีก 1,400 เพลงที่ไม่ติดชาร์ต การศึกษาพบว่าเพลงที่มีนักร้องแบ็กอัพเกือบทั้งหมดจะติดชาร์ต ในขณะที่เพลงที่ไม่มีนักร้องแบ็กอัพเลยไม่ติดชาร์ต 90 อันดับแรกด้วยซ้ำ

 

Ed Sheeran – The A Team

Michael Jackson – Billie Jean

 

Greasy Cafe ย้อนเล่าถึงประสบการณ์การแต่งเพลงในช่วงแรก “ยุคอัลบั้มแรก เราจะหยิบกีตาร์กับสมุดจดแล้วก็ซัดเลย เนื้อเพลงกับทำนองมันจะมาพร้อมๆ กัน เหมือนว่าเรามีประเด็นที่อยากพูดแล้วก็ลองมั่วๆ ดู ระหว่างที่เราฮัมเมโลดี้ไปมั่วๆ เนี่ย มันจะมีบางคำหรือบางประโยคที่ซ่อนอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่คำพวกนี้มันค่อนข้างจะถูกเอากลับมาใช้อีกครั้ง ไม่ใช่สัญชาตญาณหรืออะไรนะ มันเป็นอะไรบางอย่างที่เราอยากพูดเรื่องนี้โดยที่มีประโยคนี้อยู่ด้วยในเพลง

 

“อีกวิธีที่เคยเกิดขึ้นกับเราคือเขียนอะไรก็เขียนไปเลย มั่วๆ ไปก่อน ไม่ต้องสัมผัส ไม่ต้องอะไรก็ได้ คำมันจะแย่แค่ไหนก็เขียนไปก่อน แต่ตอนหลังๆ จนผ่านมาถึงอัลบั้ม 4 เราทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว เวลาหยิบกีตาร์มาแต่งเพลง เราจะรอเนื้อเพลงด้วยไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะอัลบั้มที่ 4 มันเป็นการทดลองที่เราขึ้นดนตรีมาก่อนเลยแล้วค่อยใส่ว่าจะพูดเรื่องอะไร ซึ่งทั้งสองวิธีการสุดท้ายก็เหมือนกัน ในขณะที่เรามั่วๆ เมโลดี้ไปเนี่ยจะมีคำบางคำที่ซ่อนอยู่ แล้วมันจะถูกเอามาใช้ตลอด”

 

Greasy Cafe – ฝืน

เรายังเชื่อในวิธีการแต่งเพลงจากความรู้สึกของคนจริงๆ มากกว่า – Greasy Cafe

THE STANDARD สอบถาม Greasy Cafe เกี่ยวกับเพลงของเขาและเคล็ดลับในการทำให้เพลงฮิต ซึ่งในหลายๆ ครั้งเขาย้ำว่า “เราไม่ได้เก่ง เราแต่งเพลงได้ แต่ไม่ได้เก่งแบบ โอ้โห สบาย ให้แต่งเพลงฮิตใช่ไหม เพราะมันมีบางเพลงเหมือนกันที่เราคิดว่า เออ เพลงนี้น่าจะโอเค แต่กลับไม่เวิร์ก”

 

ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่า Greasy Cafe สร้างผลงานเพลงฮิตให้วงการเพลงไทยไว้จำนวนหนึ่ง และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักดนตรีหน้าใหม่ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 

ถ้าให้ Greasy Cafe ให้คำแนะนำสำหรับคนที่อยากแต่งเพลงฮิตล่ะ

มีคนอินบ็อกซ์มาถามตลอด เราก็ตอบตลอด เขาจะถามว่า พี่ ผมอยากแต่งเพลงแบบพี่ หรือแบบว่า พี่ ผมจะแต่งเพลง ผมต้องทำยังไง กว่า 90% ที่เราตอบคือลงมือทำสักทีเถอะ แล้วค่อยมาว่ากัน เราจะรู้ได้ยังไงว่าเพลงนั้นมันจะฮิตหรือเปล่า อย่าเพิ่งไประวังหรือกลัวอะไร ทำงานก่อนแล้วค่อยมาว่ากัน เพราะการเริ่มต้นทำเพลงมันไม่มีต้นทุนอะไร แค่กีตาร์โปร่ง กระดาษ ดินสอ เราว่ามันใช้ไม่เยอะ แล้วก็เราเชื่อว่ากีตาร์ยืมใครก็ได้ ทำขึ้นมาก่อนไหม ค่อยมาว่ากันว่าเป็นยังไง

 

เพลงไหนของ Greasy Cafe ที่ทำแล้วคิดว่าน่าจะฮิต แต่ไม่ฮิต

เพลง นิรันดร์ เวลาที่เราแต่งเพลง เราไม่ได้คิดว่า โอ๊ย สบาย เราจะแต่งเพื่อให้คนชอบเยอะๆ เรารู้สึกว่าแต่งเพื่อเอามันออกมาให้มากที่สุด ให้เราชอบที่สุดก่อน แล้วเราจะคิดว่า เออ เพลงนี้คนอาจจะชอบก็ได้นะ ซึ่งมันก็เป็นหลักการแต่งเพลงปกติ เราแค่คิดว่าเพลง นิรันดร์ น่าจะทำงาน เพราะส่วนหนึ่งคือเนื้อเพลง สองคือการแบ่งท่อน มีเวิร์สแรก เวิร์ส 2 แล้วมาฮุก แล้วมีบริดจ์อีก เรามีขยี้คำท่อนบริดจ์อีก มันโอเคไหม ก็โอเคแหละ เราแค่คิดว่าคนน่าจะชอบมันมากกว่านี้

 

Greasy Cafe – นิรันดร์

 

แล้วเพลงที่ตอนแรกคิดว่าเฉยๆ แต่ฮิตมาก

เพลง ฝืน ไม่ได้รู้สึกเลยว่าจะโอเค สำหรับเราคิดว่ามันฟังยากด้วย มันไม่ใช่วิธีการพูดแบบปกติทั่วไป ไม่เคยทำเอ็มวี ไม่เคยดันขนาดนั้น เราว่าเรื่องที่เกิดในเพลงมันไม่ดีมากๆ แต่คนก็เริ่มชอบมากขึ้นๆ เหนือการคาดเดา เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถมาแต่งเพลงฮิตได้เลย เราไม่เก่งพอ

 

มีประเด็นที่ว่าเทคโนโลยีและ AI พัฒนาไปไกลจนสามารถทำนายเพลงฮิตหรือแต่งเพลงขึ้นมาได้ คิดว่าในอนาคตวงการเพลงจะได้รับผลกระทบไหม

เราไม่ได้รู้สึกว่าเหล่านี้เป็นวิธีที่ผิดเลย ถ้ามันทำได้ก็คงจะดีแหละ แต่สำหรับเราอาจจะไม่ได้ชอบฟังเพลงฮิตจ๋ามากๆ แบบศิลปินบนบิลบอร์ด ถามว่ามีคนคิดแบบเราจำนวนเยอะไหม ก็อาจจะไม่เยอะมากถ้าเปรียบเทียบกับส่วนใหญ่ที่ชอบเพลงแบบนั้น

 

เพราะฉะนั้นในอนาคตเรายังรู้สึกว่าเพลงมันน่าจะมาจากความรู้สึก คือเรื่องความรู้สึกมันขโมยกันไม่ได้ ก่อนหน้านี้ถ้าเรามีเรื่องเล่าผ่านเพลง แล้วมันมีความจริงแค่ 20% เราอาจจะเลือกไม่พูดไปเลย หรือถ้าพูดก็ติดๆ ขัดๆ ไม่เต็มปากเต็มคำ แต่ถ้าเราเจอเรื่องนั้นมาจริงๆ รู้สึกกับมันจริงๆ เราจะกล้าเล่า 100%

 

กลับมาที่เรื่องแต่งเพลงด้วย AI เราว่าไม่ได้รู้สึกว่ามีวิธีไหนถูกหรือผิด มันได้หมดเลย แค่เรายังเชื่อในวิธีการแต่งเพลงจากความรู้สึกของคนจริงๆ มากกว่า

 

 

คิดว่าเพลงฮิตกับเพลงที่ดีเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

บางเพลงเราไม่แน่ใจที่จะตอบเลย เพลงฮิตบางเพลงเราก็ชอบมาก อย่างเพลงที่ฮิตมากๆ ตอนนี้ เพลง เฉยเมย ของ YOUNGOHM มันเป็นเพลงที่ดังมาก แต่เราไม่รู้จัก คือเคยฟังครั้งหนึ่งแล้วเราชอบ รู้สึกว่าเพลงนี้มันแปลกดี แล้วก็ลืมไป จนพอไปเอาท์ติ้ง มีคนมาเปิดเพลงนี้ให้ฟังอีกที เราก็ชอบมาก มันดีมาก ด้วยภาษาไทยมันมีการขึ้นลงของเสียง ซึ่งถ้าเปลี่ยนวรรณยุกต์บางอย่างจะเปลี่ยนความหมาย อย่าง น้ำ ถ้าไม่เติมไม้โทก็เป็น นำ แต่เพลงนี้มันไม่สน ฟังทั้งประโยคสิ จะได้รู้ว่าพูดถึงอะไร คำมันลงทำนองมาก เมโลดี้ดีมาก

 

หรืออย่างเพลง วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า ของแม็กซ์ เจนมานะ สิ่งที่เขาพูดมามันเกี่ยวกับความรักได้ยังไง พอฟังไปเรื่อยๆ แล้วรู้สึกว่าเขาฉลาดในการเล่ามาก และมันกลายเป็นเพลงที่ฮิตมากๆ แล้วมันเป็นเพลงที่ดีด้วย ฮิตด้วย

 

แต่สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดคือทำในสิ่งที่เรารู้สึกมากๆ ก่อนดีกว่าแล้วค่อยว่ากัน เพราะฉะนั้นเพลงดีกับเพลงฮิต เราไม่รู้ว่าตกลงมันมีค่าเท่ากันหรือเปล่า แต่เราเชื่อว่าเพลงดี มันจะดีเอง แล้วมันจะฮิตสำหรับคนฟังสักวันหนึ่ง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising