×

อะไรคือ ‘ลัทธิโยเร’ ขณะที่วัดพระธรรมกายแจง มีคนนำเสนอข่าว ‘เท็จ’ ย้ำวัดไม่เกี่ยวข้องใดๆ

โดย THE STANDARD TEAM
04.01.2024
  • LOADING...

ข่าวการเสียชีวิตของสัตวแพทย์หญิงและลูกสาวภายในบ้านพัก อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยพบขวดไซยาไนด์ พร้อมจดหมายที่ผู้เสียชีวิตเขียนสั่งเสียเอาไว้ เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบพบข้อมูลเพิ่มเติมจากญาติว่า ‘ผู้เสียชีวิต’ ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และในขณะเดียวกันยังมีการตรวจสอบพบข้อมูลลัทธิที่ผู้ตายนับถืออยู่ ซึ่งจะได้ตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องกับลัทธิดังกล่าวหรือไม่

 

มีข้อมูลเพิ่มเติมระบุว่า ลัทธิดังกล่าวชื่อว่า ลัทธิโยเร ขณะที่วานนี้ (3 มกราคม) ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า พ.ต.อ. อาทิตย์ ยาแก้ว ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร (สภ.) บ้านฉาง จังหวัดระยอง ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับผู้เสียชีวิตมีอาการป่วยจิตเวชมานานแล้ว ซึ่งไม่มีปัญหาการเงิน สาเหตุการก่อเหตุอาจเกิดจากอาการจิตเวชที่เป็นอยู่ ส่วนเรื่องลัทธิโยเรอาจเป็นเพียงการนับถือของผู้เสียชีวิต แต่อาจไม่เกี่ยวกับการก่อเหตุ

 

ซึ่งจากการตรวจสอบในจุดเกิดเหตุและสภาพศพทั้งสอง สรุปว่าเป็นการลงมือก่อเหตุด้วยตัวเอง โดยทางครอบครัวไม่ติดใจสาเหตุการเสียชีวิต

 

วัดพระธรรมกายชี้ มีคนเสนอข่าวเท็จ ย้ำไม่เกี่ยวกับลัทธิโยเร

 

ขณะที่ในโลกออนไลน์ให้ความสนใจกับ ‘ลัทธิโยเร’ จนกลายเป็นกระแสข่าวตามหน้าสื่อหลายสำนัก ขณะเดียวกันยังมีสื่อออนไลน์บางสำนักนำเสนอข่าวว่าลัทธิโยเรเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับวัดพระธรรมกาย

 

ทำให้ล่าสุดวันนี้ (4 มกราคม) สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับลัทธิโยเร โดยระบุว่า สื่อออนไลน์บางสำนักนำเสนอข่าวเท็จว่าเชื่อมโยงเกี่ยวกับวัด

 

“วัดพระธรรมกายขอชี้แจงว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับกลุ่มความเชื่อตามที่สื่อกล่าวอ้าง ทั้งนี้ วัดพระธรรมกายเป็นวัดในพระพุทธศาสนา สังกัดคณะสงฆ์ไทย ยึดแนวปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยของสงฆ์เถรวาท ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม (มส.) ดังนั้นการนำเสนอข่าวที่ปราศจากข้อเท็จจริง อาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายได้” วัดพระธรรมกายระบุ

 

ลัทธิโยเรคือลัทธิอะไร

 

ข้อมูลจากหลายแหล่งระบุตรงกันว่า ลัทธิเซไกคีวเซ หรือ โยเร เข้าสู่ประเทศไทยในปี 2511 โดย คาซูโอะ วาคุกามิ ศาสนาจารย์คณะผู้เผยแผ่มาตั้งรกรากในประเทศไทย

 

โดยเริ่มการเผยแผ่คำสอนโดยการแปลเอกสารทางศาสนา และก่อตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมในประเทศไทย จึงได้ทำการจดทะเบียนโดยใช้ชื่อว่า ‘มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา’ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2513 

 

มีสำนักงานใหญ่แห่งแรกอยู่ที่ถนนสุรวงศ์ กรุงเทพมหานคร ขณะนั้นมีศาสนิกชนอยู่ทั้งหมด 40 คน ซึ่งต่อมาในปี 2519 กรมการศาสนารับรองให้มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา เป็นองค์กรศาสนาย่อยของศาสนาพุทธนิกายมหายาน

 

ลัทธิเซไกคีวเซเริ่มวางนโยบายเผยแผ่ศาสนาแก่ลูกหลานเกษตรกรในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยในช่วงปี 2521-2524 มีศาสนิกชนเพิ่มขึ้นเท่าตัว 

 

มีการสร้างสถานปฏิบัติธรรมหรือโบสถ์ของลัทธิในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย และสระบุรี และย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่ซอยสีฟ้า ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร กระทั่งปี 2527 ได้ทำการเพิกถอนสถานะการเป็นนิกายของศาสนาพุทธนิกายมหายานลง จึงถูกลดสถานะกลับเป็นมูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนาตามเดิม

 

ก่อนหน้านี้ในปี 2559 ลัทธิโยเรเคยตกเป็นข่าวจากกรณีที่มีการตั้งกระทู้ในเว็บไซต์พันทิปเชิงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของลัทธิโยเร ที่ระบุว่าเป็นลัทธิที่นับถือพระศรีอริยเมตไตรยที่เชื่อในการส่งผ่านแสงทิพย์รักษาโรคให้หายได้

 

ในเวลานั้นเจ้าของกระทู้ได้ระบุว่า มีสมาชิกในครอบครัวคือแม่กับพี่สาว เป็นสมาชิกของลัทธิโยเร และได้เดินทางไปทำกิจกรรมกับทางมูลนิธิสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการเดินทาง อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการรับพระและทำกิจกรรมของมูลนิธิ ทำให้ครอบครัวเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายและเกิดปัญหากันภายในครอบครัว จึงวอนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ ทั้งนี้ ยังมีสมาชิกในเว็บไซต์พันทิปเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นเชิงลบในกระทู้ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X