×

สธ. เห็นชอบสำรองยาฉีดรักษาจิตเวช หวังดูแลผู้ป่วยเสี่ยงก่อความรุนแรงในสังคม

โดย THE STANDARD TEAM
22.02.2024
  • LOADING...
ชลน่าน ศรีแก้ว

วานนี้ (21 กุมภาพันธ์) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 2/2567 ว่าที่ประชุมพิจารณาและให้ความเห็นชอบ การบริหารจัดการยา Long-Acting Antipsychotic Injectable ซึ่งเป็นยาฉีดสำหรับดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงก่อความรุนแรงต่อสังคม (SMI-V) ประมาณ 4.2 หมื่นคน ในจำนวนนี้แบ่งเป็น

 

  • กลุ่ม V1 ทำร้ายตนเองด้วยวิธีรุนแรงมุ่งหวังให้เสียชีวิต 39.4%

 

  • กลุ่ม V2 ทำร้ายผู้อื่นด้วยวิธีรุนแรง/ก่อเหตุการณ์รุนแรงในชุมชน 20.3%

 

  • กลุ่ม V3 มีอาการหลงผิด มีความคิดทำร้ายผู้อื่นให้ถึงแก่ชีวิต มุ่งร้ายผู้อื่นแบบเฉพาะเจาะจง 18.8%

 

  • กลุ่ม V4 ก่อคดีอาชญากรรมรุนแรง 21.5%

 

โดยให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปเร่งสำรองยาภายในเดือนมีนาคมนี้ ให้เพียงพอใช้อย่างน้อย 3 เดือน พร้อมกับดำเนินการให้มีการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อให้เบิกจ่ายได้ในสิทธิประโยชน์การรักษา โดยระหว่างนี้ให้เสนอบอร์ด สปสช. พิจารณาความจำเป็นเพื่อสนับสนุนการเบิกชดเชยค่าใช้จ่าย

 

เพิ่มกำลังพล 62,000 คน ภายใน 10 ปี

 

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ในด้านกำลังคน ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) และสภาการพยาบาล ในโครงการผลิตพยาบาลเพิ่มระยะเร่งด่วน 2 ปี ปีละ 2,500 คน รวม 5,000 คน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตขาดแคลนพยาบาลที่ยังมีความต้องการอีกประมาณ 50,000 คน

 

โดยสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรที่องค์การอนามัยโลก แนะนำ คือ 1:270 ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วน 1:343 คน และยังมีปัญหาเรื่องการกระจาย โดยมีถึง 42 จังหวัดที่มีสัดส่วน 1:400 และมี 15 จังหวัดที่สัดส่วนมากกว่า 1:500 โดยมีข้อสังเกตเรื่องกระบวนการผลิต หลักสูตร การรับรองความพร้อมของแหล่งผลิต และงบประมาณ และมอบให้ สบช. ไปจัดทำรายละเอียดให้พร้อมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป 

 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การผลิตพยาบาลโครงการนี้เป็นการผลิตเพิ่มเติมจากโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อเป็นทีมหมอครอบครัวลงไปอยู่ชุมชนในหน่วยบริการปฐมภูมิทั่วไทย โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2568 มีเป้าหมายการผลิต 9 สาขา หรือ 9 หมอ โดยพยาบาลจะเป็น 1 ใน 9 สาขา ในระยะเวลา 10 ปี ใช้งบประมาณ 3.7 หมื่นล้านกว่าบาท ถ้าผลิตครบจะมีบุคลากรเข้าสู่ระบบ 62,000 คน 

 

สำหรับความก้าวหน้าการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นช่วงไตรมาส 2 มีรายงานผลความก้าวหน้าที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น 

 

  • โครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติฯ ดำเนินการแล้ว 16 ครั้ง ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการ 70,683 คน 

 

  • โครงการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์และสามเณร เฉลิมพระเกียรติฯ โดยในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 จะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเปิดโครงการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ณ วัดจันทาราม (วัดท่าซุง) จังหวัดอุทัยธานี โดยมี สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร และ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายคณะสงฆ์ และเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฝ่ายฆราวาส 

 

นำร่อง 8 จังหวัด บัตร 30 บาทใบเดียวรักษาทุกที่

 

ส่วนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่จะขยายการดำเนินการในระยะที่สอง ขณะนี้มีความพร้อมทั้ง 8 จังหวัดนำร่อง โดยมีจำนวนสถานบริการสาธารณสุขที่เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ (PHR) แล้ว 857 แห่ง ผู้ป่วย 6.1 ล้านคน และมีชุดข้อมูล 85.1 ล้านชุดข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมา มีการส่งยาและเวชภัณฑ์ผ่าน Health Rider ใน 5 จังหวัด 17 โรงพยาบาล

 

ได้รับแจ้งปัญหาผ่านเบอร์โทรศัพท์ 0 2257 7119 ทั้งหมด 260 สาย สามารถแก้ไขได้แล้ว 245 ราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่อง Health ID และ Provider ID เช่น การแก้ไขเบอร์โทรศัพท์เป็นเบอร์หลัก การอัปเดตโปรไฟล์ไม่สำเร็จ เป็นต้น ได้นำมาแก้ไขให้มีความพร้อมยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะมีการคิกออฟระยะที่สองในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม 2567 ที่จังหวัดนครราชสีมา 

 

รับรองไทย 1 ใน 5 ประเทศกำจัดไขมันทรานส์

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบเรื่องที่น่ายินดีคือ องค์การอนามัยโลกได้ออกใบประกาศรับรองให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศแรกของโลกที่มีการกำจัดไขมันทรานส์ออกจากอุตสาหกรรมอาหาร เป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างความน่าเชื่อถือของอาหารไทยที่ส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising