×

Clubhouse คืออะไร ทำไมมีแอปฯ ‘ไม่ได้แปลว่าเล่นได้’ แถมร้อนจน Facebook อยากทำตาม

12.02.2021
  • LOADING...
Clubhouse คืออะไร ทำไมมีแอปฯ ‘ไม่ได้แปลว่าเล่นได้’ แถมร้อนจน Facebook อยากทำตาม

HIGHLIGHTS

  • Clubhouse คือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีรูปแบบการสนทนาและการสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานในชุมชนผ่าน ‘เสียง’ เป็นหลัก ด้วยคอนเซปต์ง่ายๆ ของการเป็นพื้นที่ที่ให้ผู้คนได้พบปะกับเพื่อนใหม่ ผู้คนจากรอบโลก
  • ผู้ก่อตั้ง Clubhouse บอกว่า เป้าหมายของพวกเขาคือการสร้างประสบการณ์ทางสังคมที่ให้ความรู้สึกถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ มากขึ้น (Felt more human) แทนที่จะใช้การโพสต์ข้อความ ความคิดเห็น ความรู้สึก
  • ความท้าทายของ Clubhouse คือการสู้กับประเด็นการเป็นพื้นที่ Free Speech ที่อาจขัดแย้งกับปมความละเอียดอ่อนในบางมิติ ไปจนถึงการที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่เริ่มพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่คล้ายคลึงกัน

ลืมแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแบบเดิมๆ ที่แค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาจากสโตร์แล้วก็ลงทะเบียนเล่น ปัดหน้าฟีด ไถๆ ถูๆ ดูโพสต์ของผู้ใช้งานคนอื่นๆ หรือกดไลก์ในอดีตไปได้เลย เพราะถ้าคุณได้รู้จักแอปฯ ‘Clubhouse’ แล้วละก็ โลกโซเชียลมีเดียและนิยามคำว่าคอมมูนิตี้ของคุณจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป…

 

แม้จะเปิดตัวให้ผู้ใช้งานบางส่วนได้ทดลองเล่นไปเมื่อเดือนมีนาคมปี 2020 แต่กระแสความนิยมของแอปพลิเคชัน Clubhouse กลับพุ่งแรงสวนทางอายุของมันแบบสุดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ผู้ใช้งานจำนวนมากเริ่มตบเท้าเข้าสู่แพลตฟอร์มกันมากขึ้น และยังได้รับอานิสงส์บวกจากการที่คนดังระดับโลกอย่าง อีลอน มัสก์ เองก็เข้ามาสร้างห้องสนทนา เปิดไมค์พูดคุยในประเด็นต่างๆ บนแพลตฟอร์มนี้อีกด้วย

 

  

 

แล้วเจ้า Clubhouse คืออะไร ความพิเศษของมันอยู่ที่ส่วนไหน ทำไมสื่ออย่าง Bloomberg ถึงยกให้มันมีศักยภาพมากพอจะเป็น ‘Social Media’s Next Star’ หรือ ‘The Next Killer Smartphone App’ แถมมีข่าวแล้วว่า Facebook ก็อยากจะพัฒนาฟีเจอร์ที่มีรูปแบบการใช้งานคล้ายคลึงกันออกมาแข่งกับพวกเขา

 

แล้วโอกาสของแบรนด์หรือผู้ผลิตคอนเทนต์อยู่ใน ‘ห้องไหน’ หรืออีเวนต์ใดของแอปฯ นี้ THE STANDARD WEALTH จะมาอธิบายให้คุณได้รู้จักมันแบบ ‘ทุกห้องทุกซอกมุม’ ในบทความนี้

 

Clubhouse application

 

Clubhouse แพลตฟอร์มสนทนาในรูปแบบ ‘เสียง’ ที่ต่อให้มีแอปฯ ก็ไม่ได้แปลว่า ‘เล่นได้ทุกคน’ 

 

Clubhouse คือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีรูปแบบการสนทนาและการสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานในชุมชนผ่าน ‘เสียง’ เป็นหลัก ด้วยคอนเซปต์ง่ายๆ ที่ทีมผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง โรฮาน เซธ (Rohan Seth) และพอล เดวิสัน (Paul Davison) ตั้งใจจะให้โลกที่พวกเขาสร้างขึ้นมานั้นเป็นพื้นที่ที่ให้ผู้คนได้พบปะกับเพื่อนใหม่ ผู้คนจากรอบโลก

 

พร้อมแบ่งปันเรื่องราวที่ตัวเองสนใจ เรื่องซึ่งเป็นที่สนใจของคนจำนวนมาก หรือความสนใจเฉพาะทางในประเด็นที่ Niche มากๆ สามารถตั้งคำถาม เปิดประเด็นถกเถียง ดีเบต เก็บข้อมูลความรู้เข้าคลังสมอง และพูดคุยในประเด็นท็อปปิกร้อนซึ่งกำลังเป็นที่สนใจจากสังคม 

 

โดยตัวผู้ใช้งานสามารถเข้า-ออก ห้องสนทนาห้องต่างๆ ได้อย่างอิสระ ประหนึ่งว่า ‘เรากำลังเข้าอีเวนต์งานสัมมนาเวทีใหญ่ๆ’ แล้วมีเวทีย่อยๆ ที่มีประเด็นดีเบต ให้ความรู้น่าสนใจหมุนเวียนกันไปตามแต่ละช่วงเวลาให้เราเลือกเข้าไปนั่งฟังได้ตามต้องการ

 

ส่วนสาเหตุที่ต้องเป็นการสนทนาผ่านรูปแบบเสียงเพียงอย่างเดียว ก็เพราะว่าทั้งเซธและเดวิสันมองว่า เสียงเปรียบเสมือน ‘สื่อกลางที่ดี’ และพิเศษที่สุดในแง่ของการสร้างบทสนทนา โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดกล้อง หรือมานั่งกังวลกับการ Eye Contact และประเด็นความเป็นส่วนตัวของเราที่ไม่ได้อยากจะแชร์ให้คนอื่นรู้ว่าเราทำอะไรที่ไหน แต่งหน้าแต่งตัวอย่างไร

 

นอกจากนี้ การพูดผ่านไมค์ของสมาร์ทโฟนก็ยังง่ายกว่าการบรรจงนิ้วพิมพ์ข้อความบนแป้นคีย์บอร์ดสมาร์ทโฟนอีกด้วย ซึ่งทำให้บทสนทนาต่างๆ เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากกว่า ที่สำคัญ น้ำเสียงที่คุณใช้ในการสนทนากับผู้อื่นก็ยังเป็นอีกหนึ่งความได้เปรียบที่ทำให้ข้อความที่เราต้องการจะสื่อสารนั้นเก็บรายละเอียดในแง่ของ ‘อารมณ์’ หรือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ปลีกย่อยได้ดีกว่าข้อความตัวอักษรอีกด้วย

 

เรียกง่ายๆ ว่านี่คือการทำลายเพนพอยต์ของโลกเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ทันสมัยจนเกินไป และทำให้เส้นแบ่ง ‘ความเป็นส่วนตัว’ ของเราเริ่มบางลงเรื่อยๆ เพราะในบางครั้ง ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียก็อยากจะแค่เข้าร่วมบทสนทนาโดยที่พวกเขาไม่ได้ต้องการจะเปิดเผยตัวตน หรือให้ใครรู้ว่าตัวเองเป็นใคร ทำอะไรที่ไหน กับใคร มีสภาพบริบทแวดล้อมอย่างไร

 

“เป้าหมายของเราคือการสร้างประสบการณ์ทางสังคมที่ให้ความรู้สึกถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่มากขึ้น (Felt more human) แทนที่จะใช้การโพสต์ข้อความ ความคิดเห็น ความรู้สึกนึกคิด แต่คุณสามารถเข้าร่วมกับผู้ใช้งานคนอื่นๆ ด้วยการพูดคุยกับพวกเขา ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของ Clubhouse ก็คือการสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างที่ทำให้คุณรู้สึกว่า ตอนที่กดออกจากแอปฯ ในช่วงสิ้นสุดเซกชันสนทนา เป็นความรู้สึกที่ดีกว่าตอนที่เปิดแอปฯ ขึ้นมา เนื่องจากมันได้ช่วยให้คุณได้สร้างสรรค์มิตรภาพและพบเจอผู้คนใหม่ๆ เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ จากพวกเขา” เซธและเดวิสันกล่าวบนหน้าเว็บไซต์ของ Clubhouse

 

โดยในช่วงวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา มีการเปิดเผยกันว่า ผู้ใช้งาน Clubhouse มีจำนวนมากกว่า 2 ล้านรายทั่วโลกแล้ว นับตั้งแต่ที่แพลตฟอร์มเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

 

Clubhouse drop-in audio chat

 

แพลตฟอร์มที่ไม่ได้แค่ ‘ดาวน์โหลด’ ก็จะเข้าเล่นได้เลยทันที

 

แล้วในเชิงการใช้งานล่ะ แพลตฟอร์ม Clubhouse มีวิธีการใช้งานเบื้องต้นอย่างไร

 

อันดับแรกคือ เราต้องดาวน์โหลดแอปฯ​ Clubhouse มาก่อน ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังมีให้โหลดแค่บนแพลตฟอร์ม iOS เท่านั้น (Play Store ยังต้องรอต่อไป) แต่ก็ใช่ว่าเราโหลด Clubhouse มาแล้วจะสามารถเข้าใช้งานเล่นได้ทันที เพราะถ้าเราไม่ได้รับคำเชิญจากผู้ใช้งานคนอื่นๆ ให้ดาวน์โหลดแอปฯ ก็จะต้องรอในห้อง Waitlist เพื่อให้ผู้ใช้งาน Clubhouse คนก่อนๆ ที่เป็นเพื่อนของเรา (เชื่อมโยงจาก Contact) ตอบตกลงที่จะให้เราเข้าร่วมแพลตฟอร์มนี้นั่นเอง

 

Clubhouse appstore

 

ในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่า Clubhouse ยังอยู่ในช่วงของการให้ใช้แพลตฟอร์มแบบ Beta หรือยังไม่ได้เปิดให้ใช้งานแบบเต็มอัตรา พวกเขาจึงเลือกใช้วิธีนี้ในการคัดกรองผู้ใช้งานในระดับเบื้องต้น 

 

แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็อาจจะมองได้ด้วยว่า วิธีการเพิ่มผู้ใช้งานในแบบนี้เป็นไปตามความตั้งใจของ Clubhouse ที่เน้นการสานปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนล้วนๆ เพราะฉะนั้น การเพิ่มระบบที่จะให้เข้ามาใช้งาน Clubhouse ได้ก็ต่อเมื่อมี ‘เพื่อนแนะนำเพื่อน’ จึงเป็นการเพิ่มความหมายของคำว่า ‘ชุมชนผู้ใช้งาน’ ให้ลุ่มลึกมากขึ้น ทั้งยังตอบโจทย์ของการเป็น ‘คลับเฮาส์’ ตามชื่อของตัวแพลตฟอร์มอีกด้วย

 

ซึ่งในอนาคต หาก Clubhouse เปิดให้ดาวน์โหลดผ่านแพลตฟอร์ม Play Store ได้ ก็น่าจะมีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มของพวกเขาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแน่นอน

 

อย่างไรก็ดี ผู้พัฒนาแอปฯ ก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการให้พื้นที่บนโลกของ Clubhouse เป็นดินแดนลึกลับที่ ‘เอ็กซ์คลูซีฟ’ และ ‘เปิดรับ’ เฉพาะผู้ใช้งานแค่บางกลุ่มแต่อย่างใด ซึ่งตัวพวกเขาก็กำลังเร่งจะพัฒนา Clubhouse ให้พร้อมรองรับผู้ใช้งานทั่วๆ ไปในจำนวนที่มาก แต่ 2 เหตุผลสำคัญที่ยังทำให้ไม่สามารถดำเนินการเช่นนั้นได้ คือ

 

1. ต้องการให้ชุมชนผู้ใช้งานบน Clubhouse ค่อยๆ เติบโตทีละเล็กละน้อย ไม่ต้องหวือหวาเกินไป มากกว่าจะโตแบบ 10x ชั่วข้ามคืน เพราะจะช่วยให้พวกเขาสามารถรักษาจุดยืนความหลากหลายของชุมชนผู้ใช้งานได้ต่อไป รักษาความเป็นตัวเองได้มากที่สุด ช่วยให้ผู้พัฒนาสามารถปรับการใช้งานแพลตฟอร์มได้ทันต่อการเติบโต 

 

2. ทีมงานมีขนาดเล็กมากๆ จึงยังไม่สามารถพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย (ยังเป็นแค่สตาร์ทอัพ) ซึ่งนับจนถึงปลายมกราคมที่ผ่านมา เซธและเดวิสันบอกว่า บริษัทพวกเขาเพิ่งจะมีพนักงานเต็มเวลาแค่สองคนเท่านั้นคือ ‘เซธและเดวิสัน’ หรือแค่พวกเขาเท่านั้นเอง! นั่นจึงทำให้ Clubhouse ยังไม่พร้อมที่จะเปิดรับการใช้งานของผู้คนจำนวนมากๆ พร้อมกันในเวลานี้

 

ตัดกลับมาที่วิธีการใช้งาน Clubhouse เมื่อเราได้รับคำเชิญหรือการตอบรับจากเพื่อนผู้ใช้งานที่อยู่บนแพลตฟอร์มก่อนหน้าแล้ว เราก็สามารถเลือกติดตามประเด็นความสนใจที่อยากรู้ได้ตามความสนใจหรือความชื่นชอบของตัวเองอีกด้วย ซึ่งมีให้เลือกตั้งแต่ประเด็นเทคโนโลยี, การลงทุน, ศิลปะ สังคม วัฒนธรรม, การดูแลตัวเองและการรักษาสุขภาพ, กีฬา ฯลฯ ตามแต่ที่เราจะไขว่คว้า แล้วก็ยังสามารถกดเลือกติดตามผู้คนที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ บนแพลตฟอร์ม

 

ไม่ว่าจะเป็น คานเย เวสต์, จาเร็ด เลโต, อีลอน มัสก์, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือแม้กระทั่ง แจ็ค ดอร์ซีย์ (ซีอีโอ Twitter)

 

แล้วเราก็ยังสามารถเลือกเข้าเซกชันการสนทนาในประเด็นต่างๆ ที่ต้องการได้ตามความถนัด ความสนใจ ซึ่งแต่ละห้องจะมีผู้สนทนาสูงสุดมากกว่าหลักพันราย แถมยังเลือกเข้าออกเซกชันสนทนาแต่ละห้องได้ด้วยตัวเอง ซึ่งในแต่ละบทสนทนานั้น เราจะได้รับทบาทการเป็นผู้ฟังที่ดี ที่หากมีคำถามที่ต้องการจะซักถามโมเดอเรเตอร์หรือผู้เปิดห้องสนทนานั้น ก็จำเป็นจะต้องกดปุ่มยกมือขึ้น (Raise your hand) 

 

หลังจากนั้น ถ้าเราได้รับอนุญาตเพื่อเปิดไมค์ เราถึงจะมีโอกาสได้ยิงคำถาม ซักไซร้ หรือร่วมถกเถียงกับผู้เปิดประเด็นนั่นเอง

 

free speech Clubhouse

 

ประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียง ‘Free Speech’ เป็นเรื่องที่ทำได้เสรีแค่ไหน อะไรคือเส้นแบ่งจริยธรรม

 

แม้จะได้รับความนิยมมากแค่ไหน แต่แพลตฟอร์ม Clubhouse ก็ยังถูกตั้งคำถามและกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะในมุมมองของการที่แพลตฟอร์มของพวกเขาเป็นพื้นที่ Free Speech ที่ใครก็มีสิทธิเสรีในการจะเข้ามาเปิดประเด็นพูดคุยถกเถียงในเรื่องไหนก็ได้ที่ตนเองสนใจอย่างอิสระ

 

แต่ในมุมมองกลับกัน Clubhouse ก็มีประเด็นความท้าทายที่พวกเขาจะต้องจัดการให้ได้จากการเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ใครต่อใครสามารถเข้ามาสร้างห้องสนทนาได้อย่างเสรี ซึ่งครั้งหนึ่งย้อนกลับไปในเดือนกันยายนปี 2020 แพลตฟอร์ม Clubhouse ก็เคยถูกตั้งคำถามเช่นกัน หลังจากที่มีผู้ใช้งานรายหนึ่งได้ตั้งห้องสนทนาในประเด็นที่ส่อไปในเชิงการต่อต้านชาวยิว 

 

โดย Bloomberg ระบุในประเด็นนี้ว่า สตาร์ทอัพผู้พัฒนา Clubhouse ทั้งเซธและเดวิสันยังต้องทุ่มงบลงทุนอีกมหาศาล เพื่อสร้างฟีเจอร์ให้น่าเชื่อถือและมีความปลอดภัยมากกว่านี้ รวมถึงการหาวิธีคัดกรองคอนเทนต์ที่จะไม่ส่อไปในเชิงการคุกคาม หรือสร้างผลกระทบเชิงลบกับกลุ่มคนอื่นๆ โดยอาจจะเลือกใช้วิธีการว่าจ้างโมเดอเรเตอร์คอนเทนต์ขึ้นมาดูแลงานด้านนี้โดยตรง

 

ขณะที่เมื่อวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จีนก็เพิ่งแบนการใช้งานแพลตฟอร์ม Clubhouse ไปหมาดๆ สืบเนื่องจากการที่มีผู้ใช้งานในประเทศจำนวนมากได้เข้าร่วมบทสนทนากับชาวฮ่องกง ไต้หวัน ในประเด็นที่รัฐบาลจีนดำเนินการกับชาวอุยกูร์, การผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของฮ่องกงโดยรัฐบาลจีน, การแยกตนเป็นอิสระของไต้หวัน ฯลฯ จนส่งผลให้ Clubhouse ถูกสั่งบล็อกทันทีในช่วงค่ำวันนั้น

 

ทั้งหมดจึงเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นกับ Clubhouse โดยตรง และเกิดกลายเป็นประเด็นที่เราต้องติดตามกันให้ดีว่า ทั้งเซธและเดวิสันจะจัดการอย่างไรกับประเด็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างไปจากปัญหาการจัดการคอนเทนต์ Hate Speech ที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรุ่นพี่ของพวกเขาทั้ง Facebook หรือ Twitter ต้องเผชิญสักเท่าไร

 

 

พลิกโฉมหน้าธุรกิจอีเวนต์สัมมนา ‘แพลตฟอร์มสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์ของชุมชนผู้ใช้งาน’ ที่ทำให้ Facebook อยากทำตาม?

 

ไม่ต่างจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ได้รับอานิสงส์บวก มีผู้ใช้งานพุ่งพรวดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจากช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก และการที่ผู้คนไม่สามารถพบปะกันได้ตามสถานที่สาธารณะเหมือนเช่นปกติ เพราะ Clubhouse ก็ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงต้นปีที่แล้วเช่นกัน 

 

แต่จุดต่างคือ เนื่องจาก Clubhose ‘วางตัว’ เองอยู่ในตลาดที่ค่อนข้างพรีเมียมกว่า มีรูปแบบแพลตฟอร์มที่แตกต่างจากโซเชียลมีเดียอื่นๆ โดยเฉพาะการที่มุ่งจับกลุ่มชุมชนผู้ใช้งานที่มีความสนใจเฉพาะทาง ไม่ใช่ประเด็นในกระแสหลัก นั่นจึงทำให้ในระยะยาว Clubhouse ได้รับความนิยมค่อนข้างมากและยั่งยืนเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

 

และก็เพราะว่า Clubhouse มีรูปแบบแพลตฟอร์มที่คล้ายจะเป็นการจัดงานอีเวนต์สัมมนาแบบจำลอง (Virtual) ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีผู้คนจำนวนมากเข้ามาตั้งประเด็นพูดคุยในเรื่องราวต่างๆ ตามความสนใจที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็ทำให้ความนิยมของมันยิ่งเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

Bloomberg เองก็ให้ความเห็นในทิศทางที่ไม่ต่างกัน โดยระบุว่า เพราะ Clubhouse เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถมอบความสะดวกสบาย ‘ช่วยลดแรงเสียดทาน’ ให้กับผู้ใช้งาน ในการที่จะช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นได้พบปะกับผู้คนใหม่ๆ ผ่านบทสนทนาอย่างใกล้ชิด และการเป็นผู้ฟัง ผู้เข้าร่วมงานประชุมคอนเฟอเรนซ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับงานสัมมนาแบบจำลอง (Conference-like Events)

 

นี่จึงเป็นโอกาสและช่วงเวลาที่ ‘เหมาะสม’ ซึ่งเราก็เริ่มเห็นผู้ผลิตคอนเทนต์จำนวนมากเริ่มกระโดดเข้ามาจับจองเปิดห้องใน Clubhouse เพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ของตัวเองกันเป็นจำนวนมากแล้ว และในอนาคตหากมีผู้ใช้งานจำนวนมากบนแพลตฟอร์ม มันก็น่าจะต่อยอดไปสู่การทำรายได้ และการที่เอเจนซี แบรนด์ต่างๆ เริ่มเห็นโอกาสในการทำการตลาด โฆษณาบนแพลตฟอร์มนี้กันมากขึ้นในอนาคต

 

ในอีกทางหนึ่ง เราก็อาจจะตีความได้ว่า นี่คือวิวัฒนาการครั้งต่อไปของรูปแบบโซเชียลมีเดียและคอนเทนต์ ที่ก่อนหน้านี้ ‘พอดแคสต์’ ดูเหมือนจะมาแรง แต่วันนี้ ความเชื่อดังกล่าวอาจจะไม่จีรังแล้วก็ได้ เมื่อ Clubhouse เริ่มเข้ามาช่วงชิงคะแนนความนิยมจากผู้ใช้งานได้มากขึ้น

 

Tae Kim นักเขียนของ Bloomberg ได้ให้ความเห็นในมุมมองส่วนตัวของเขาในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ตั้งแต่ที่ได้ลองติดตั้งแอปฯ Clubhouse ลงบนสมาร์ทโฟน เขาก็สังเกตเห็นว่าตัวเองใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้นานมากกว่าแอปฯ โซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่อยู่บนสมาร์ทโฟน แซงหน้าทั้ง TikTok, Twitter หรือ Instagram

 

“นี่คือสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นว่า แอปฯ โซเชียลมีเดียที่อิงการสนทนาด้วยเสียงมันน่าดึงดูดมากเพียงไร รวมถึงยังเป็นการตัดสินกิจกรรมความสนใจของเพื่อนๆ ของผมในชุมชน Clubhouse อีกด้วย

 

แต่ผมก็ตั้งข้อสังเกตว่า หาก Clubhouse เปิดให้ใช้งานได้แบบสาธารณะขึ้นมาเมื่อไร ผู้ใช้งานก็น่าจะเติบโตขึ้นระดับหลายสิบล้านรายได้ไม่ยาก และเมื่อนั้นยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียเจ้าอื่นๆ ก็น่าจะต้องเริ่มรู้สึกกังวลกันแล้ว”

 

ไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ความเห็นของ Kim ถูกเผยแพร่ผ่านหน้าเว็บไซต์ Bloomberg มาวันนี้ก็เริ่มมีข่าวแล้วว่าโซเชียลมีเดียหลายเจ้าเริ่มเห็นโมเดลความสำเร็จของ Clubhouse และเริ่มลงมาจับตลาดนี้กันมากขึ้น ตัวอย่างเช่นการที่ Twitter เองก็อยู่ในระหว่างการทดลองฟีเจอร์ ‘ห้องแชตเสียง’ ที่มีชื่อว่า ‘Spaces’ กันแล้ว

 

ขณะที่ The New York Times ก็ได้รับรายงานจากแหล่งข่าววงในที่ระบุมาว่า ยักษ์ใหญ่มหาอำนาจบนโลกโซเชียล Facebook ก็เริ่มพัฒนาฟีเจอร์ห้องแชตสนทนาเสียงของตัวเองแล้ว ซึ่งความน่าเชื่อถือของข่าวลือในครั้งนี้ก็มีน้ำหนักอยู่พอสมควร ถ้าดูจากประวัติที่ผ่านมาๆ ของพวกเขา

 

โดยรายงานระบุว่า บุคลากรระดับสูงของ Facebook ได้สั่งให้พนักงานของพวกเขาลองมองหาลู่ทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งปัจจุบันโปรเจกต์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาแล้ว

 

เอมิล ฮัสเคล (Emilie Haskell) โฆษกหญิงของ Facebook ให้ข้อมูลกับ The New York Times เพียงแค่ว่า บริษัทของเธอได้เชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยการผ่านทั้งเทคโนโลยีเสียงและวิดีโอมานานหลายปี และยังคง ‘เสาะแสวงหา’ หนทางใหม่ๆ ในการพัฒนาประสบการณ์รูปแบบนี้ให้กับผู้คนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝั่ง Clubhouse ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ เพิ่มเติมในประเด็นนี้

 

ในอดีตที่ผ่านมา Facebook เองก็เคยรุกฆาตดึง WhatsApp, Instagram หรือแพลตฟอร์ม VR อย่าง Oculus ที่ดูเหมือนจะมีศักยภาพมากพอจะเป็นคู่แข่งของพวกเขามาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทมาแล้ว 

 

รวมถึงยังเคยลงไปเล่นในเกมเดียวกับแอปฯ Snapchat โดยตรง ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์อย่าง Stories ใน Instagram และยังประกาศศึกกับ TikTok แบบอ้อมๆ ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ Reels และเตรียมปรับหน้า UX ใน Instagram ให้เป็นการปัดขึ้นปัดลงแทน (คล้ายกับ TikTok) เพื่อหาทุกวิถีทางในการต่อกรกับคู่แข่งหน้าใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาในตลาด

 

นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นว่า Clubhouse ได้รับความสนใจมากแค่ไหน

 

ไม่เพียงเท่านั้น การเกิดขึ้นของ Clubhouse ยังเป็นสัญญาณที่บอกเราว่า โลกของเทคโนโลยีพร้อมจะดิสรัปต์ตัวเองได้เสมอในทุกๆ เสี้ยววินาที 

 

เช่นเดียวกัน หากเราสามารถสร้างสรรค์บริการหรือผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนได้ทุกจุด โดยที่ฟีเจอร์หรือรูปแบบต่างๆ ไม่จำเป็นจะต้องมีความซับซ้อนให้ยากมากมาย เราก็สามารถจะดึงดูดผู้ใช้งานจำนวนมากให้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ได้สบายๆ

 

บทความที่เกี่ยว:

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X