×
SCB Index Fund 2024
SCB Omnibus Fund 2024

‘Android ใช้ได้เมื่อไร แบรนด์สร้างแอ็กเคานต์เองได้ไหม’ สรุปประเด็นสำคัญจากทาวน์ฮอลล์ Clubhouse

15.02.2021
  • LOADING...
‘Android ใช้ได้เมื่อไร แบรนด์สร้างแอ็กเคานต์เองได้ไหม’ สรุปประเด็นสำคัญจากทาวน์ฮอลล์ Clubhouse

ยังคงเดินหน้าสร้างปรากฏการณ์ความสนใจจากผู้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ให้คนมาสนทนาในรูปแบบเสียงอย่าง ‘Clubhouse’ ซึ่งล่าสุดแอปฯ ของพวกเขากำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้งานทั่วโลก เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่กลายเป็นกระแสนิยมไม่ต่างกัน

 

แต่หลายคนก็ยังมีคำถามสงสัยค้างคาใจในหลายๆ ประเด็น ตั้งแต่ เมื่อไรผู้ใช้งานอุปกรณ์ Device บนระบบปฏิบัติการ Android ถึงจะใช้งานได้, แบรนด์จะสร้างแอ็กเคานต์ด้วยตัวเองสื่อสารกับผู้บริโภคได้ไหม, จะมีการปรับเพิ่มเสริมแต่งฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘การซ่อนสถานะของตัวเราระหว่างเข้าไปฟังในห้องสนทนาแต่ละห้อง’ เพื่อความเป็นส่วนตัว

 

THE STANDARD มีโอกาสได้เข้าฟังทาวน์ฮอลล์ของ Clubhouse ที่จัดขึ้นบนแอปพลิเคชัน Clubhouse เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยสองผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มอย่าง พอล เดวิสัน (Paul Davison) และ โรฮาน เซธ (Rohan Seth) ก่อนจะสรุปข้อมูลในแต่ละประเด็นที่น่าสนใจจากเซกชันการทาวน์ฮอลล์ในครั้งนี้ออกมาให้คุณได้อัปเดตกัน

 

Android จะใช้งานได้เมื่อไร?: เป็นประเด็นที่หลายคนตั้งคำถามกับแอปฯ นี้อยู่พอสมควร โดยพอลบอกเอาไว้ว่า ตอนนี้ทีมงานของ Clubhouse กำลังเร่งพัฒนาแอปฯ ให้ผู้ใช้งาน Android สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ โดยในช่วงสัปดาห์นี้ พวกเขาจะมี ‘วิศวกร Android’ คนแรกเข้ามาทำงานร่วมกับทีม ทั้งยังได้ประกาศรับสมัครวิศวกร Android เพิ่มเติมผ่านทาวน์ฮอลล์ในครั้งนี้อีกด้วย

 

นอกจากนี้ยังประกาศรับสมัครตำแหน่งอื่นๆ อีก เช่น iOS Engineer, Infrastructure Scaling Engineer, Product Designer & Product Manager รวมทีมเจ้าหน้าที่ฝ่าย Support

 

ซ่อนสถานะจากผู้ใช้งานคนอื่น: เวลาที่เราเข้าไปฟังบทสนทนาการเสวนาในห้องใดก็ตาม ตอนนี้หน้า UI ของแอปฯ Clubhouse ยังคงโชว์ให้เห็นชัดเจนเลยว่า ‘เราอยู่ในห้องนั้น’ ซึ่งผู้ใช้งานหลายคนเริ่มฟีดแบ็กมาแล้วว่าพวกเขารู้สึกถึงความไม่เป็นส่วนตัว โดยเฉพาะที่ผู้ใช้งานคนอื่นๆ หรือเพื่อนสามารถรับรู้ได้ว่าตัวเขาเองอยู่ในห้องไหน

 

ตรงนี้พอลยอมรับว่าตอนที่พัฒนาแอปฯ ขึ้นมา เขาก็ไม่ได้คิดถึงช่องโหว่ในประเด็นนี้เหมือนกัน โดยยอมรับว่าฟีดแบ็กที่ได้รับในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีและสมเหตุสมผลมากๆ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่นี้ให้ได้เมื่อไร โดยจะใช้วิธีการจัดลำดับความสำคัญในการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ตามคำขอ (Request) ที่ผู้ใช้งานคนอื่นๆ ส่งเข้ามา รวมถึงมองในแง่ที่ว่าฟีเจอร์ใหม่ๆ นั้นจะสร้างประโยชน์ให้กับตัวผู้ใช้งานได้มากน้อยแค่ไหน

 

ส่วนฟีเจอร์การเข้า-ออกจากห้องแบบเงียบกริบนั้น (Quietly) ในกรณีที่เราไม่ต้องการให้คนอื่นทราบว่าเราเข้ามาฟังในห้อง หรือให้เราขึ้นไปเป็นสปีกเกอร์ (ตอนนี้ยังปฏิเสธไม่ได้) ทางผู้ร่วมก่อตั้งแอปฯ บอกว่าเขาจะพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ขึ้นมาให้ผู้ใช้งานสามารถตอบปฏิเสธการขึ้นเป็นสปีกเกอร์ได้ในอนาคต (Decline Politely) หากเรารู้สึกไม่สะดวกใจ 

 

ฟีเจอร์การแปลภาษา: ในส่วนนี้พอลระบุว่า เขาเองก็เพิ่งคุยกับทีมงานในช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมาถึงวิธีการที่จะเพิ่มฟีเจอร์การแปลภาษาในห้องขึ้นมาให้กับผู้ใช้งานเพื่อความสะดวกเช่นกัน ซึ่งน่าจะเป็นไปในรูปแบบการทำให้เราสามารถแปลชื่อหรือหัวข้อสนทนาในห้องนั้นๆ ได้ (ยังไม่ข้ามสเตปไปถึงการแปลเสียงแบบเรียลไทม์) แต่จะได้เห็นเมื่อไร เร็วหรือช้า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าโปรไฟล์คนดังเป็นของจริง: วิธีการยืนยันตัวตนผู้ใช้งานคนนั้นๆ ว่าเป็นแอ็กเคานต์จริงหรือปลอมมีด้วยกันสองวิธี นั่นคือการเชื่อมแอ็กเคานต์ไปกับบัญชีผู้ใช้งาน Twitter และ Instagram แต่ในอนาคตจะมีการเพิ่มวิธีการอื่นๆ เข้าไป

 

แบรนด์เปิดบัญชีผู้ใช้งานตัวเองได้ไหม: พอลไม่แนะนำให้แบรนด์ใดๆ ก็ตามเปิดบัญชีผู้ใช้งาน Clubhouse ของตัวเอง เพราะเขาต้องการจะ ‘คงอัตลักษณ์’ ของการพูดคุยและการอินเทอร์แอ็กระหว่างผู้ใช้งานที่มีความเป็นมนุษย์สูงมากๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างแพลตฟอร์มเอาไว้ให้ได้นานที่สุด โดยระบุว่าหากผู้ใช้งานคนอื่นๆ พบเห็นการที่แบรนด์สร้างแอ็กเคานต์ของตัวเอง ก็สามารถรายงานบัญชี โปรไฟล์นั้นๆ ได้ทันที

 

แต่ก็แนะนำวิธีที่น่าสนใจที่แบรนด์จะสามารถทำได้ นั่นคือการตั้ง ‘คลับ (Club)’ ของตัวเองขึ้นมา เพื่อใช้ในการสื่อสารกับแฟนๆ ผู้บริโภค หรือคนที่สนใจในตัวแบรนด์ ซึ่งจะเป็นวิธีการที่ดีกว่า รวมถึงการจัดเซกชันเสวนาให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อตัวคนฟัง ซึ่งจะถือเป็นการสร้างเอ็นเกจเมนต์กับตัวแบรนด์ที่ดีกว่า (ต่อยอดไปสู่การหารายได้ด้วยการทำ Membership ได้ในอนาคต)

 

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจในระหว่างการให้ข้อมูลคือ การที่พอลยอมรับตรงๆ เลยว่าเขาและทีมงาน ‘ยังมีเรื่องต้องทำอีกมาก’ โดยเฉพาะการพัฒนาและปรับปรุงประสบการณ์การใช้งาน Clubhouse ให้ดีมากย่ิงขึ้น รวมถึงการ ‘สเกลอัพ’ แพลตฟอร์ม Clubhouse ให้อุดช่องโหว่ ปิดรอยรั่วการใช้งานได้โดนใจผู้บริโภคมากที่สุด ซึ่งตอนนี้ทีมงานของพวกเขาจะโฟกัสใน 4 ส่วนหลักๆ ประกอบไปด้วย

 

1. การพัฒนาแนวทางการเปิดรับผู้ใช้งานบน Clubhouse ให้เพิ่มมากขึ้น

 

2. การสเกลอัพโครงสร้างขั้นพื้นฐานของระบบ Support ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัย

 

3. การพัฒนาฟีเจอร์ Discovering เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานค้นหาห้องสนทนาที่มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะสนใจได้ด้วยตัวเอง (รวมถึงแนะนำคลับ-ผู้ใช้งานคนอื่นๆ, จัดอันดับห้อง และการปรับอัลกอริทึมการแจ้งเตือน)

 

4. การพัฒนาประสบการณ์การใช้งานในห้องสนทนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

 

“ในทุกๆ สัปดาห์มันกลายเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์มากๆ ผมรู้สึกทึ่งและตื่นเต้นที่ได้เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มของ Clubhouse ทั้งการที่ผู้คนลุกขึ้นมาจัดรายการโชว์เสวนาของตัวเองกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ใช้งานจำนวนมากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในบราซิล ไต้หวัน จีน อิตาลี ไต้หวัน ทั่วโลก

 

“แต่ในขณะเดียวกัน จากคำถามต่างๆ ที่ส่งเข้ามาในทาวน์ฮอลล์ครั้งนี้ก็พอจะสะท้อนให้เห็นถึง ‘ปัญหา’ อีกจำนวนมากที่พวกเรายังต้องสร้างและพัฒนา Clubhouse ให้ดีมากยิ่งขึ้นต่อจากนี้” พอลกล่าว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising