×

BIMSTEC คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ ใครบ้างเป็นสมาชิก

02.04.2025
  • LOADING...
แผนที่ประเทศสมาชิก BIMSTEC 7 ประเทศและโลโก้องค์กรความร่วมมืออ่าวเบงกอล

‘บิมสเทค’ (BIMSTEC) คือ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1997 จาก ‘ปฏิญญากรุงเทพ’ (Bangkok Declaration) มีสมาชิกเริ่มแรก 4 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และไทย (BIST-EC) ก่อนที่เมียนมาจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 5 ในปีเดียวกันนั้น และเปิดรับเนปาลและภูฏานเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มอย่างเป็นทางการ (รวมมีสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ) พร้อมเปลี่ยนชื่อความร่วมมือเป็น BIMSTEC ตั้งแต่ปี 2004 

 

BIMSTEC มีสำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ที่กรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ โดยมีเลขาธิการคนปัจจุบันคือ อินทระ มณิ ปาณเฑย์ ซึ่งเป็นนักการทูตชาวอินเดีย อีกทั้ง BIMSTEC ยังครอบคลุมประชากรรวมราว 1.8 พันล้านคน (คิดเป็น 22% ของประชากรโลก) ขณะที่ GDP รวมของกลุ่มสมาชิก BIMSTEC (2022) อยู่ที่ราว 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็น 4.5% ของ GDP โลก)

 

สมาชิก BIMSTEC ทั้ง 7 ประเทศ มีพื้นที่ทางเศรษฐกิจและมรดกทางอารยธรรมร่วมกัน รวมถึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดผ่านทางการค้า วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนมาอย่างยาวนาน มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคแห่งนี้มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระดับโลก ปัจจุบัน BIMSTEC ปรับจำนวนสาขาความร่วมมือจาก 14 สาขาเป็น 7 สาขา ได้แก่

 

  1. การค้า การลงทุน และการพัฒนา
  2. สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  3. ความมั่นคง
  4. การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร
  5. การติดต่อระหว่างประชาชน
  6. วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
  7. ความเชื่อมโยง

 

BIMSTEC จัดการประชุมผู้นำขึ้นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2004 ขณะที่การประชุมผู้นำ ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโคลัมโบของศรีลังกาเมื่อปี 2022 มีการรับรองกฎบัตรบิมสเทค (BIMSTEC Charter) ซึ่งทำให้ BIMSTEC กลายเป็นองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มีโครงสร้างเป็นทางการมากขึ้น และช่วยให้สามารถดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาภูมิภาคอ่าวเบงกอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 2-4 เมษายนนี้ พร้อมตั้งเป้าประกาศ BIMSTEC Vision 2030 ซึ่งมุ่งเน้นให้ภูมิภาคอ่าวเบงกอลเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่มั่นคง เชื่อมโยงกัน และยั่งยืน

 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising