สหรัฐอเมริกาประกาศว่าจะจัดส่ง ‘ระเบิดลูกปราย’ (Cluster Munitions) หรือ ‘คลัสเตอร์บอมบ์’ ให้กับยูเครนตามคำขอ ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน เนื่องจากคลัสเตอร์บอมบ์ถูกมองว่าเป็นอาวุธร้ายแรงที่ปัจจุบันถูกแบนในกว่า 120 ประเทศ
คลัสเตอร์บอมบ์คืออะไร อันตรายอย่างไร?
ระเบิดลูกปรายหรือคลัสเตอร์บอมบ์ เป็นระเบิดที่บรรจุลูกระเบิดขนาดเล็กๆ ไว้ภายในจำนวนมาก วิธีการใช้ทำได้หลายวิธี คือ สามารถทิ้งลงจากเครื่องบิน ขีปนาวุธ หรือยิงโดยปืนใหญ่จากพื้นดินสู่พื้นที่เป้าหมายก็ได้ โดยคลัสเตอร์บอมบ์จะระเบิดกลางอากาศเพื่อปล่อยลูกระเบิดย่อยให้กระจายเป็นวงกว้าง
จากมุมมองด้านการทหาร ระเบิดลูกปรายมีประสิทธิภาพอย่างน่ากลัวเมื่อใช้โจมตีกองทหารราบที่ประจำการอยู่ในสนามเพลาะหรือหลุมที่ถูกขุดเพื่อเป็นที่มั่นในการต่อสู้ ตลอดจนที่ประจำอยู่ตามป้อมค่ายต่างๆ
อย่างไรก็ดี ความอันตรายของอาวุธชนิดนี้คือ ระเบิดลูกปรายมีความคลาดเคลื่อนผิดพลาดจากเป้าหมายและไม่ระเบิดในอัตราที่สูง หรือ ‘Dud Rate’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าระเบิดตกลงบนพื้นที่เปียกหรือนุ่ม
รายงานของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ระบุว่า ระเบิดลูกปรายที่ถูกนำมาใช้ในความขัดแย้งล่าสุดนั้น มีอัตราระเบิดด้านสูงถึง 40%
นั่นหมายความว่าลูกระเบิดขนาดเล็กอาจตกค้างบนพื้นดิน และอาจระเบิดขึ้นได้ในภายหลังเมื่อถูกหยิบหรือเหยียบ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ แม้ว่าจะผ่านไปอีกยาวนานหลายปีหรือหลายสิบปี ประชาคมระหว่างประเทศจึงพิจารณาเห็นว่า ระเบิดลูกปรายเป็นอาวุธที่ส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมสูง
กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า การใช้คลัสเตอร์บอมบ์ในพื้นที่ที่มีประชากรอยู่อาศัยเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดย 60% ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดลูกปรายนั้น ถูกระเบิดในขณะทำกิจกรรมประจำวัน นอกจากนี้ 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตจากระเบิดลูกปรายเป็นเด็ก
ระเบิดลูกปรายถูกแบนในกี่ประเทศ?
กว่า 120 ประเทศ รวมถึงสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปราย (Convention on Cluster Munitions: CCM) ซึ่งห้ามใช้ ห้ามผลิต ห้ามโอน และห้ามสะสม รวมทั้งต้องทำลายระเบิดลูกปรายที่มีในคลัง เก็บกู้ และทำลายระเบิดลูกปรายที่ตกค้างอยู่
ข้อมูลจาก Cluster Munition Coalition ระบุว่า นับตั้งแต่มีการประกาศใช้อนุสัญญาเมื่อปี 2008 คลังระเบิดลูกปรายทั่วโลกถูกทำลายไปแล้ว 99%
ระเบิดลูกปรายถือเป็นอาวุธที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะเด็กๆ เนื่องจากลูกระเบิดมีลักษณะเหมือนของเล่นชิ้นเล็กๆ ที่ถูกทิ้งไว้ในบริเวณบ้านพักอาศัยหรือไร่นา และมักถูกหยิบขึ้นมาด้วยความอยากรู้อยากเห็น
กลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกระเบิดลูกปรายว่า ‘สิ่งน่ารังเกียจ’ หรือแม้กระทั่งระบุว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม
ยังมีประเทศใดบ้างที่ใช้ระเบิดลูกปราย?
อาวุธชนิดนี้ถูกใช้เป็นครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่สอง และมีอย่างน้อย 15 ประเทศใช้ระเบิดลูกปรายหลังจากนั้น ได้แก่ เอริเทรีย เอธิโอเปีย ฝรั่งเศส อิสราเอล โมร็อกโก เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ตามข้อมูลของ Reuters
Reuters รายงานว่า สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดลูกปรายประมาณ 260 ล้านลูกใน สปป.ลาว ระหว่างปี 1964-1973 แต่จนถึงขณะนี้เก็บกู้ระเบิดไปไม่ถึง 400,000 ลูก หรือคิดเป็นเพียง 0.47% ของทั้งหมด และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 11,000 คนจากระเบิดเหล่านี้
ขณะที่รัสเซียและยูเครนต่างก็ใช้ระเบิดลูกปรายห้ำหั่นกันนับตั้งแต่ที่สงครามระหว่างสองประเทศเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022
รัสเซียใช้ระเบิดลูกปรายในพื้นที่ที่มีชาวยูเครนอาศัยอยู่ ตามการรายงานของ The Guardian ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนยูเครนใช้ระเบิดชนิดนี้ในปฏิบัติการทวงคืนดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครองไป ตามรายงานของ Human Rights Watch
ทั้งสองประเทศไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปราย เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวเช่นกัน
มีรายงานว่าระเบิดลูกปรายของรัสเซียมีอัตราระเบิดด้านอยู่ที่ 40% หมายความว่าระเบิดจำนวนมากตกค้างบนพื้นดิน และอาจเป็นอันตรายต่อพลเรือนในภายหลัง ในขณะที่อัตราระเบิดด้านโดยเฉลี่ย เชื่อว่าอยู่ที่เกือบ 20%
อย่างไรก็ดี เพนตากอนประเมินว่าคลัสเตอร์บอมบ์ของสหรัฐฯ มีอัตราระเบิดด้านไม่ถึง 3%
ทำไมยูเครนจึงร้องขอคลัสเตอร์บอมบ์?
กองกำลังของยูเครนใช้กระสุนปืนใหญ่จนร่อยหรอเต็มที เนื่องจากการต่อสู้ที่รุนแรงและยืดเยื้อยาวนานทำให้ต้องใช้กระสุนมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสมรภูมิทางตอนใต้และตะวันออกของยูเครนนั้น ปืนใหญ่กลายเป็นอาวุธหลัก ขณะที่ชาติพันธมิตรตะวันตกของเคียฟไม่สามารถให้การสนับสนุนเครื่องกระสุนได้เพียงพอต่อความต้องการ
ด้วยเหตุที่ขาดแคลนกระสุนปืนใหญ่ดังกล่าว ยูเครนจึงร้องขอให้สหรัฐฯ จัดส่งระเบิดลูกปรายให้ เพื่อนำไปใช้พุ่งเป้าโจมตีทหารราบของรัสเซียที่ประจำการอยู่ตามสนามเพลาะ รวมทั้งเพื่อเอาชนะความเสียเปรียบด้านกำลังคนและปืนใหญ่
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายสำหรับวอชิงตัน ที่ต้องเผชิญเสียงคัดค้านจากบรรดา ส.ส. และ ส.ว. พรรคเดโมแครต ตลอดจนนักสิทธิมนุษยชน การอภิปรายดำเนินไปอย่างน้อย 6 เดือน
ก่อนหน้านี้ วอชิงตันต้านทานคำขอของเคียฟ โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับการใช้อาวุธ และบอกว่าไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธลูกปรายในการสู้รบ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณถึงท่าทีที่เปลี่ยนแปลงเมื่อไม่นานมานี้ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเพนตากอนกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า กองทัพสหรัฐฯ เชื่อว่าระเบิดลูกปราย “จะมีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการโจมตีหลุมที่ทหารรัสเซียขุดเพื่อใช้เป็นฐานที่มั่น”
แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัสเซียและยูเครนหยุดใช้คลัสเตอร์บอมบ์ และเรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดสนับสนุนอาวุธที่มี “การทำลายล้างอย่างกว้างขวาง” ให้กับเคียฟ เนื่องจาก “ระเบิดลูกปรายที่รัสเซียและยูเครนใช้ต่อสู้กันอยู่นั้น กำลังสังหารพลเรือนทั้งในขณะนี้และหลังจากนี้ต่อไปอีกหลายปี” แมรี แวร์แฮม รักษาการผู้อำนวยการด้านอาวุธของ Human Rights Watch กล่าว แม้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อ้างว่า ระเบิดลูกปรายที่สหรัฐฯ จัดหาให้ยูเครนจะมีอัตราระเบิดด้านลดลงก็ตาม
การตัดสินใจของสหรัฐฯ จะส่งผลอะไรตามมา?
ผลกระทบที่ตามมาทันทีคือการทำลายจุดยืนทางศีลธรรมของวอชิงตันในสงครามครั้งนี้
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้สหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเสแสร้ง เนื่องจากก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เองเคยออกโรงวิพากษ์วิจารณ์การใช้ระเบิดลูกปรายของรัสเซีย
ยิ่งไปกว่านั้น การตัดสินใจจัดหาคลัสเตอร์บอมบ์ให้เคียฟอาจทำให้วอชิงตันขัดแย้งกับพันธมิตรตะวันตกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการแตกแยกใดๆ ในกลุ่มพันธมิตรนั้น เป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ต้องการอย่างที่สุด
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง: