จากรายงานของ Moody’s Analytics ระบุว่า การลดช่องว่างของค่าจ้างที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในภาคแรงงานอาจช่วยหนุนเศรษฐกิจโลกให้เพิ่มขึ้นอีกราว 7% หรือ 7 ล้านล้านดอลลาร์
หากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างของผู้หญิงยังคงอยู่ในอัตราเท่ากับปัจจุบัน อาจต้องใช้เวลาถึง 132 ปี ก่อนที่โลกของเราจะสามารถปิดช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางเพศในเรื่องค่าแรง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- งานวิจัยชี้ ‘ค่าแรงผู้หญิง’ ยังน้อยกว่าผู้ชาย แม้ระดับการศึกษาและประสบการณ์จะเท่ากัน
- เงินเดือนมากสุดอาจไม่ใช่พนักงานที่ฉลาดที่สุด! งานวิจัยในสวีเดนชี้ ความสำเร็จในอาชีพเกิดจาก ‘ต้นทุนชีวิต’ หรือ ‘โชค’ มากกว่าความสามารถ
- ค่าจ้างไม่ใช่คำตอบเดียว! ปรากฏการณ์ ‘การลาออกครั้งใหญ่’ จะเกิดต่อไปในเอเชียแปซิฟิก หากงานที่ทำอยู่ไม่เติมเต็มและขาดจริยธรรม
รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า หากผู้หญิงเข้ามามีบทบาทต่อการบริหารมากขึ้น จะช่วยเพิ่มผลิตภาพให้กับเศรษฐกิจได้มากขึ้น
Dawn Holland และ Katrina Ell ระบุผ่านรายงานว่า “การปิดช่องว่างระหว่างเพศในภาคแรงงาน รวมทั้งในตำแหน่งบริหารในกลุ่มประเทศ OECD จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกขยายตัวได้อีกราว 7% หรือราว 7 ล้านล้านดอลลาร์”
การคำนวณดังกล่าวอิงจากสมมติฐานที่ว่า ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 25-64 ปี ในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งประกอบด้วย 38 ประเทศ ได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับเดียวกันกับผู้ชาย ณ ปี 2021
“แค่เพียงปัจจัยนี้จะทำให้ผลิตผลในกลุ่ม OECD เพิ่มขึ้นเกือบ 10% และทั่วโลกเพิ่มขึ้น 6.2%”
หนึ่งในปัจจัยที่เป็นต้นตอของปัญหาในเรื่องช่องว่างระหว่างค่าแรงของผู้หญิงกับผู้ชายคือ ‘ความรับผิดชอบต่อครอบครัวที่ถูกแบกรับไว้โดยผู้หญิง’ รวมทั้งการขาดคอนเนกชันเทียบเท่ากับผู้ชาย นอกจากนี้ผู้หญิงยังมีแนวโน้มที่จะเอ่ยขอเพื่อเลื่อนขั้นน้อยกว่า ทั้งๆ ที่ถูกคาดหวังว่าจะมีมาตรฐานการทำงานสูงกว่าผู้ชาย
“การเปลี่ยนแปลงในด้านบรรทัดฐานของสังคมเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาและซับซ้อน แต่ปัจจัยการเมือง เช่น การปรับเงื่อนไขการทำงานให้ยืดหยุ่น การให้สวัสดิการเพื่อดูแลลูก และการให้พ่อสามารถลาหยุดเพื่อดูแลลูก เหล่านี้จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น” Moody’s ระบุ
ด้านรายงานของธนาคารโลกฉบับล่าสุดระบุว่า ความไม่เท่าเทียมและอคติทางเพศที่ทำให้ผู้หญิงได้รับค่าจ้างต่ำกว่า ไม่ว่าจะเป็นผลจากงานที่ต่างกัน จำนวนชั่วโมงทำงานที่ต่างกัน ต่างเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดช่องว่างในเรื่องของค่าจ้างระหว่างชายและหญิง
ทั้งนี้ Moody’s ระบุว่า จำนวนผู้หญิงในกลุ่มประเทศ OECD ที่จบปริญญาโทหรือเทียบเท่ามีมากกว่าผู้ชาย แต่จำนวนผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางและอาวุโสยังคงน้อยกว่าผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญ
อ้างอิง: