×

เกิดอะไรขึ้น เมื่อ Uniqlo ทุ่มการลงทุนในช่องทาง ‘อีคอมเมิร์ซ’ มากกว่า ‘ร้านค้าจริง’ ไปแล้ว

17.09.2020
  • LOADING...

ครั้งหนึ่ง ทาดาชิ ยาไน ผู้ก่อตั้ง Uniqlo แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เคยบ่นว่า ‘อีคอมเมิร์ซ’ ถือเป็นภาระที่ต้องแบกรับไว้ แต่มาวันนี้บริษัทของเขากำลังเพิ่มการลงทุนและขยับขยายโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการช้อปปิ้งออนไลน์ในญี่ปุ่น จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสหรัฐอเมริกา

 

การลงทุนโดย Fast Retailing ซึ่งเป็นเจ้าของ Uniqlo เป็นอีกภาพใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางบริษัทในแดนซามูไร ที่พยายามจับตลาดการค้าออนไลน์ หลังจากพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไป โดยมีการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวแปรหลัก 

 

Fast Retailing จะสร้างคลังสินค้าอัตโนมัติสำหรับอีคอมเมิร์ซในเมืองอิบารากิ จังหวัดโอซาก้า ภายในเดือนตุลาคมนี้ ด้วยเงินลงทุนหลายหมื่นล้านเยน เพื่อเพิ่มพื้นที่ที่สามารถส่งสิงค้าหลังเกิดคำสั่งซื้อได้ภายในสามวัน โดยคลังแห่งนี้จะรองรับการจัดส่งในโซนญี่ปุ่นตะวันตก และยังเป็นคลังสินค้าแห่งที่สองของบริษัทในญี่ปุ่น

 

ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2018 Fast Retailing ได้เริ่มดำเนินการคลังสินค้าอีคอมเมิร์ซที่ใช้ระบบอัตโนมัติในย่านอาริอาเกะ ริมอ่าวของโตเกียว เพื่อเป็นฐานในการจัดส่งสินค้าจากจีนและประเทศอื่นๆ ทั่วญี่ปุ่น การใช้เซนเซอร์หุ่นยนต์และเทคโนโลยีอื่นๆ ทำให้การดำเนินงานของคลังสินค้าแห่งนี้เกือบทั้งหมดเป็นอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นแผนกรับสินค้า การตรวจสอบ การจัดเก็บและการคัดแยก โดยคลังสินค้าในโอซาก้าจะดำเนินการอัตโนมัติเช่นเดียวกับคลังสินค้าในโตเกียว

 

Fast Retailing วางแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนยอดขายอีคอมเมิร์ซเป็น 30% ของยอดขายทั้งหมดในญี่ปุ่น หลังจากปีงบประมาณก่อนซึ่งสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2019 สัดส่วนยอดขายจากอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ราว 10% ด้วยกัน 

 

ทาดาชิ ยาไน ประธานของ Fast Retailing เคยกล่าวเอาไว้ว่า “อีคอมเมิร์ซมีขีดจำกัดด้านขีดความสามารถ และทำให้เกิดภาระหนักในด้านโลจิสติกส์และการจัดส่ง” แต่บริษัทกำลังทลายข้อจำกัดนี้ผ่านคลังสินค้าอัตโนมัติในโตเกียวและโอซาก้า โดยคลังสินค้าในโอซาก้าคาดว่าจะช่วยลดเวลาในการจัดส่งจากปัจจุบัน 5 วันเหลือ 3 วันหรือน้อยกว่าในภาคตะวันตกของญี่ปุ่น

 

Uniqlo เน้นการลงทุนในอีคอมเมิร์ซมากกว่าร้านค้าจริง โดยในปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนสิงหาคม มีการใช้จ่ายประมาณ 26,600 ล้านเยน หรือราว 7,880 ล้านบาทไปกับระบบคอมพิวเตอร์สำหรับอีคอมเมิร์ซ และการดำเนินงานอื่นๆ ซึ่งมากกว่า 80% ที่ใช้จ่ายเพื่อลงทุนในญี่ปุ่นเอง

 

Fast Retailing มีแผนจะใช้เงินรวม 1 แสนล้านเยน หรือเกือบ 30,000 ล้านบาท เพื่อสร้างคลังสินค้าอัตโนมัติ ไม่เพียงแต่ในโอซาก้า แต่ยังรวมถึงในจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสหรัฐอเมริกาด้วย

 

อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตในบางประเทศในเอเชียสูงกว่าในญี่ปุ่น และเว็บไซต์อาจกลายเป็นช่องทางที่สำคัญในการติดต่อกับลูกค้าในต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2019 สัดส่วนการขายอีคอมเมิร์ซในประเทศจีนอยู่ที่ประมาณ 20% ซึ่งสูงเป็นสองเท่าของญี่ปุ่น

 

นอกจากการสร้างคลังสินค้าอัตโนมัติในเอเชียแล้ว Uniqlo จะส่งเสริมบริการที่เรียกว่า Click and Collect ซึ่งลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ และไปรับสินค้าในร้านค้าใกล้เคียง บริการดังกล่าวเติบโตขึ้นในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด เนื่องจากลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาอยู่ในร้านค้า

 

นอกเหนือจากช่องทางออนไลน์แล้ว Fast Retailing จะเน้นพัฒนาร้านค้าขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มการรับรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับแบรนด์ Uniqlo โดยในปีนี้ได้เปิดร้านค้าขนาดใหญ่สามแห่งในโยโกฮามาและโตเกียว ซึ่งร้านดังกล่าวได้รวมเอาการขายแบบดิจิทัล ออฟไลน์ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ครอบครัวสามารถเพลิดเพลินกับการช้อปปิ้งด้วยกันได้ โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ร้านค้าขนาดใหญ่กว่า 1,300 ตารางเมตร คิดเป็น 30% ของร้าน Uniqlo ทั้งหมด

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X