×

ตัวเลข ‘ผู้ป่วยรายใหม่’ บอกอะไรและไม่ได้บอกอะไร

15.04.2021
  • LOADING...
ตัวเลข ‘ผู้ป่วยรายใหม่’ บอกอะไรและไม่ได้บอกอะไร

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ถ้ามีใครถามว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง อาจประเมินได้ยาก เพราะ ‘ตัวเลข’ ผู้ป่วยรายใหม่เป็น ‘ยอด’ ผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบ เหมือนยอด ‘ภูเขาน้ำแข็ง’ ที่ยังมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือเข้าไม่ถึงการตรวจอีกจำนวนหนึ่งอยู่ใต้น้ำ
  • ‘ตัวเลข’ ผู้ป่วยรายใหม่ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อใหม่ในวันนั้นๆ เนื่องจากระยะฟักตัวของโควิด-19 เฉลี่ย 4-5 วัน + ระยะเวลาก่อนไปรับการตรวจหาเชื้อ เช่น ผู้ป่วยอาจสังเกตอาการที่บ้าน 1-2 วันถึงไปโรงพยาบาล + ระยะเวลาในการรายงานผล 1-2 วัน = ตัวเลขที่ ศบค. แถลงในวันนี้คือตัวเลขผู้ที่ได้รับเชื้อมาแล้ว 1-2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้
  • โดยสรุป ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่รายวันมีข้อจำกัด การประเมินสถานการณ์และผลของมาตรการทางสังคมโดยใช้ตัวเลขนี้ต้องคำนึงถึงที่มาของตัวเลข ทั้งระยะฟักตัว การตรวจหาเชื้อและการเข้าถึงบริการ รวมทั้งระบบรายงานจากระดับจังหวัดขึ้นมาที่ส่วนกลางด้วย ถึงแม้แนวโน้มตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าคงมาตรการทางสังคมไว้ในระดับที่เหมาะสม ก็จะทำให้กิจกรรม / กิจการทางเศรษฐกิจที่จำเป็นยังคงเดินหน้าต่อไปได้

หลังจากที่ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ของไทยเพิ่มขึ้นถึง 900 ราย มา 3 วัน เหมือนจงใจประกาศไม่ให้เกิน 1,000 แต่เมื่อวานนี้ (14 เมษายน 2564) เป็นวันแรกที่ตัวเลขทะลุไปอยู่ที่ 4 หลัก +1,335 ราย ตัดการติดเชื้อจากต่างประเทศออก 9 ราย (ใช่ครับ ตอนนี้ SQ/ASQ ก็ยังมีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศกักตัวอยู่) เหลือเป็นผู้ป่วยในประเทศ 1,326 ราย 

 

ตัวเลขนี้น่าตกใจ และเมื่อลากเส้นสายตาตามจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละวันแล้ว (รูปที่ 1) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เพราะความตื่นตัวของประชาชนที่เข้าไปขอรับการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล (ประมาณ 3 ใน 5 ราย ตรวจพบจากระบบบริการฯ) การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดของทีมสอบสวนโรคและการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน ตัวเลขนี้ย่อมเพิ่มขึ้น

 

รูปที่ 1: จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่รายวัน วันที่ 1-14 เมษายน 2564 (อ้างอิง: กรมควบคุมโรค)

รูปที่ 1: จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่รายวัน วันที่ 1-14 เมษายน 2564 (อ้างอิง: กรมควบคุมโรค)

 

สังเกตว่าในระยะหลังจะสัดส่วนของผู้ป่วยในต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพฯ อย่างเมื่อวานประมาณ 3 ใน 4 รายเป็นผู้ป่วยในต่างจังหวัด เพราะมีการระบาดเป็นคลัสเตอร์จำนวนมาก บางส่วนมีจุดเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ เช่น สถานบันเทิงกรุงเทพฯ ไปชลบุรี แต่อีกส่วนเกิดระหว่างต่างจังหวัดด้วยกันเอง เช่น สถานบันเทิงเชียงใหม่ไปพะเยา

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าหารด้วยประชากรตามทะเบียนบ้านแล้ว กรุงเทพฯ ยังมีอัตราป่วยมากกว่า คือ 35 ราย เทียบกับ 8 รายต่อประชากร 1 แสนคนในต่างจังหวัด

 

ข้อจำกัดของจำนวนผู้ป่วยรายวัน

ถ้ามีใครถามว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าประเมินยากอยู่เหมือนกัน เพราะ ‘ตัวเลข’ ผู้ป่วยรายใหม่เป็น ‘ยอด’ ผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบ เหมือนยอด ‘ภูเขาน้ำแข็ง’ ที่ยังมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือเข้าไม่ถึงการตรวจอีกจำนวนหนึ่งอยู่ใต้น้ำ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับช่วงแรกที่ไม่สามารถตรวจจับการระบาดในสถานบันเทิงได้

 

ถึงแม้จะมีการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชนเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังทำได้ในจำนวนที่จำกัด เช่น ข้อมูลการตรวจเชิงรุกในกลุ่มสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ ตรวจวันละประมาณ 1,000 คน ส่วนสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง บางเขน ตรวจได้วันละ 1,200 คน ในขณะที่การตรวจในโรงพยาบาลต่างๆ ก็ถูกจำกัดด้วยจำนวนเตียงผู้ป่วยที่รองรับได้

 

จำนวนผู้ป่วยจึงอาจคงที่และลดลงด้วยความอิ่มตัวของการตรวจหาเชื้อ หรือความเคร่งครัดในการป้องกันตัวเองของประชาชนที่เพิ่มขึ้น เพราะผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ 10 วันหลังจากเริ่มมีอาการ หากในระหว่างนี้เขาสวมหน้ากากและเว้นระยะห่างจากผู้อื่น (วันหยุดสงกรานต์ก็ลดการสัมผัสกันในที่ทำงาน) ไวรัสก็จะไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้

 

นอกจากนี้ ‘ตัวเลข’ ผู้ป่วยรายใหม่ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อใหม่ในวันนั้นๆ เนื่องจากระยะฟักตัวของโควิด-19 เฉลี่ย 4-5 วัน + ระยะเวลาก่อนไปรับการตรวจหาเชื้อ เช่น ผู้ป่วยอาจสังเกตอาการที่บ้าน 1-2 วันถึงไปโรงพยาบาล + ระยะเวลาในการรายงานผล 1-2 วัน = ตัวเลขที่ ศบค. แถลงในวันนี้คือตัวเลขผู้ที่ได้รับเชื้อมาแล้ว 1-2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้

 

ดังนั้นการประเมินผลของมาตรการควบคุมโรคจึงต้องประเมินเป็น ‘รายสัปดาห์’ ไม่ใช่ ‘รายวัน’ และควรใช้จำนวนผู้ป่วยตามวันที่เริ่มมีอาการในการประเมินมากกว่า ยกตัวอย่างรูปที่ 2 

 

รูปที่ 1: จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่รายวัน วันที่ 1-14 เมษายน 2564 (อ้างอิง: กรมควบคุมโรค)

รูปที่ 2: จำนวนผู้ป่วยรายใหม่รายวัน แยกตามวันที่เริ่มมีอาการหรือวันตรวจพบเชื้อ (สีแดงอ่อน) และวันที่แถลง (สีแดงเข้ม)

 

ผมสมมติให้เห็นภาพว่า ผู้ป่วยที่ ศบค. แถลงช่วงต้นเดือนเมษายน เริ่มมีอาการมาตั้งแต่ 1 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น เมื่อมีมาตรการในกรุงเทพฯ จะหยุดคนที่เริ่มมีอาการในขณะนั้นไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อ ซึ่งผลของการ ‘ตัดวงจร’ นี้จะเริ่มเห็นผลในอีก 1 สัปดาห์ถัดมาคือไม่พบผู้ที่มีอาการเพิ่ม ส่วนการปิดสถานบันเทิง 41 จังหวัดก็จะเห็นผลในช่วงหลังสงกรานต์

 

สังเกตว่ากราฟสีแดงอ่อนจะเริ่มชันขึ้นก่อนหน้ากราฟสีแดง ถ้ามีระบบเฝ้าระวังที่สามารถตรวจจับการระบาดได้ก่อน ก็น่าจะหยุดไม่ให้ขยายวงกว้างเป็นหลักร้อย-พันได้

 

สถานการณ์การระบาดรายจังหวัด

การระบาดระลอกใหม่ เดือนเมษายน 2564 กระจายไปแล้ว 74 จังหวัด เหลือจังหวัดระนอง, สตูล, ยะลา ที่ยังไม่พบผู้ป่วย แต่ความรุนแรงของสถานการณ์ในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน เหมือนกับทั่วโลกพบผู้ติดโควิด-19 บางประเทศมีการระบาดรุนแรง เช่น บราซิล แต่บางประเทศสามารถควบคุมได้ดี เช่น นิวซีแลนด์

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้นำเสนอ ‘แผนที่สถานการณ์’ เมื่อวันที่ 13 เมษายน โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่

 

  • ไม่พบผู้ติดเชื้อ
  • พบผู้ติดเชื้อจากจังหวัดอื่น (เทียบได้กับ Imported Case หรือผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ)
  • พบกลุ่มก้อนการติดเชื้อในครอบครัว 
  • พบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน 1-50 รายในพื้นที่ 
  • พบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน >50 รายในพื้นที่

 

และเน้นว่าไม่ใช่ ‘แผนที่มาตรการ’ ของ ศบค. ถึงแม้จะมีจำนวนระดับเท่ากันกับคือ พื้นที่เฝ้าระวัง, พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด, พื้นที่ควบคุม, พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ก็ตามที โดยรูปนั้นคล้ายกับรูปที่ 3 ซึ่งผมนำมาจากเฟซบุ๊กของแพทย์ท่านหนึ่ง แต่เป็นสถานการณ์ล่าสุดในวันที่ 13 เมษายนแทน 

 

รูปที่ 3: แผนที่ตามระดับการแพร่กระจายภายในจังหวัด

รูปที่ 3: แผนที่ตามระดับการแพร่กระจายภายในจังหวัด

 

สังเกตว่ามีการแบ่งระดับเพิ่มขึ้นเป็น 6 ระดับ ซึ่งพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน >100 รายในพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ชลบุรี, สมุทรปราการ, นราธิวาส (พบการระบาดในเรือนจำ), ประจวบคีรีขันธ์, สมุทรสาคร, ปทุมธานี และสระแก้ว ซึ่งต้องจับตามองว่า ศบค. จะมีมาตรการเพิ่มเติมใน 9 จังหวัดนี้หรือไม่ในสุดสัปดาห์นี้

 

แต่สำหรับประชาชนทั่วไป แผนที่นี้น่าจะทำให้บางจังหวัดสบายใจขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดสีเขียวและสีเหลือง เพราะยังไม่พบการระบาดในชุมชน และสถานการณ์น่าจะคงที่ต่อไปจากมาตรการทางด้านสาธารณสุขและมาตรการทางสังคม ได้แก่ การคัดกรองผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก และการลดกิจกรรมชุมนุม / สังสรรค์ที่ดำเนินการอยู่

 

โดยสรุป ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่รายวันมีข้อจำกัด การประเมินสถานการณ์และผลของมาตรการทางสังคมโดยใช้ตัวเลขนี้ต้องคำนึงถึงที่มาของตัวเลข ทั้งระยะฟักตัว การตรวจหาเชื้อและการเข้าถึงบริการ รวมทั้งระบบรายงานจากระดับจังหวัดขึ้นมาที่ส่วนกลางด้วย ถึงแม้แนวโน้มตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าคงมาตรการทางสังคมไว้ในระดับที่เหมาะสม ก็จะทำให้กิจกรรม / กิจการทางเศรษฐกิจที่จำเป็นยังคงเดินหน้าต่อไปได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X