×

ฟีโรโมนคืออะไร? ทำไมกลิ่นนี้ถึงได้ดึงดูดทั้งเพศหญิงและชาย

08.03.2021
  • LOADING...
ฟีโรโมนคืออะไร? ทำไมกลิ่นนี้ถึงได้ดึงดูดทั้งเพศหญิงและชาย

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • จากผลการวิจัยพบว่า สำหรับเพศชาย กลิ่นที่สร้างความสนใจทางเพศมากที่สุดเป็นกลิ่นเหงื่อของผู้หญิงที่อยู่ในช่วงไข่ตก ส่วนกลิ่นเหงื่อของหญิงที่กินยาคุมกำเนิดไม่ได้สร้างความสนใจให้พวกเขาเลย 
  • นอกจากเรื่องเซ็กซ์แล้ว การทำงานของฟีโรโมนยังเกี่ยวข้องกับความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก เมื่อแม่สามารถดมกลิ่นจากเสื้อผ้าแล้วแยกออกว่าชุดไหนเป็นของลูกตนเอง ส่วนลูกที่กินนมแม่ เมื่อได้กลิ่นฟีโรโมนจากรักแร้ของแม่ ก็สามารถแยกแยะออกว่าเต้าไหนเป็นของแม่ตน

สัตว์ต่างๆ จะแสดงออกถึงอาการติดสัดหรือฮีทเมื่อถึงช่วงฤดูผสมพันธุ์ เช่น แมวจะร้องหง่าวๆ หาคู่ ส่วนสุนัขตัวเมียจะมีมูกเลือดออกและอวัยวะเพศบวม สำหรับลิงบาบูนตัวเมียก้นจะเปลี่ยนเป็นสีแดงจัด วัวตัวเมียจะยืนกระวนกระวายส่งเสียงร้องมูมู มีมูกออกมาจากช่องคลอด แถมยังปล่อยกลิ่นที่อวัยวะเพศ จนสัตว์ตัวผู้ต้องเข้าไปดอมดม 

 

แต่สำหรับมนุษย์เราแล้ว เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนเท่าไรนักว่าอาการจะเป็นอย่างไร แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ พวกเขาเชื่อกันว่า มนุษย์ทั้งเพศหญิงและชายล้วนมีการสื่อสารถึงกันในช่วงไข่ตก ผ่านฮอร์โมนที่ชื่อ ฟีโรโมน (Pheromone) ซึ่งเป็นสารเคมีที่คนหรือสัตว์สร้างขึ้น วัตถุประสงค์คือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวกัน รวมไปถึงกระตุ้นความต้องการทางเพศ โดยทั่วไปฮอร์โมนจะอยู่ภายในและออกฤทธิ์ในร่างกายตนเอง ในขณะที่ฟีโรโมนเป็นฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ภายนอกร่างกาย ส่งผลไปยังผู้อื่น 

 

การออกฤทธิ์ของฟีโรโมน 

 

การออกฤทธิ์ของฟีโรโมน 

 

นพ.กุสตาฟ นักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ค้นพบฟีโรโมน ได้อธิบายว่า ฟีโรโมนเป็นสารที่เกาะติดกับไขมันที่ผิวหนังและรูขุมขน บริเวณจุดต่างๆ เช่น อวัยวะเพศ ทวารหนัก รักแร้ ขาหนีบ ซอกคอ ผิวหนัง น้ำปัสสาวะ ไม่มีกลิ่น แต่หากมีแบคทีเรียจึงเกิดกลิ่นเฉพาะ 

 

หลังจากนั้นได้มีหลักฐานระบุว่า ฟีโรโมนเกี่ยวข้องกับการตกไข่ หลังการทดลองของนักวิจัยชื่อ มาร์ธา แมคคลินต็อก ที่ได้ค้นพบปรากฏการณ์ ‘McClintock Effect’ หลังเก็บเหงื่อของผู้หญิงคนหนึ่งให้ผู้หญิงอีกคนดม แล้วพบว่า วิธีนี้สามารถเร่งให้ไข่ตกเร็วหรือช้ากว่าเดิมได้ ขึ้นอยู่ว่าเก็บเหงื่อของผู้หญิงอีกคนในช่วงเวลาไหน

 

แม้งานวิจัยนี้จะมีผู้แย้งว่าหลักฐานไม่ชัดเจน แต่ในชีวิตประจำวันเรามักพบว่า ผู้หญิงที่อยู่ใกล้ชิดกัน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะแม่-ลูก หรือรูมเมตที่อยู่ห้องเดียวกัน ประจำเดือนมักมาพร้อมกัน ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นฝีมือของฟีโรโมนนั่นเอง ถึงตอนนี้แม้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถฟันธงว่าฟีโรโมนคือฮอร์โมนชนิดใด แต่ก็เชื่อว่ามีอยู่จริง ดังที่เห็นได้จากงานวิจัยต่อไปนี้

 

  • ในปี 2013 มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ แคลิฟอร์เนีย ได้นำผ้าเปื้อนเหงื่อของผู้ชายขณะออกกำลังกายให้ผู้หญิงดม ซึ่งเหงื่อเหล่านี้มีฮอร์โมนเพศชายแอนโดรสเตโนน จากนั้นพบว่า เหงื่อนี้สามารถกระตุ้นฮอร์โมนคอร์ติซอลในเพศหญิงหลังดมเหงื่อ ทำให้ความต้องการทางเพศของฝ่ายหญิงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไข่ตก แต่หากให้เพศชายดมจะเป็นการเพิ่มความร่วมมือของเพศชาย ซึ่งเจ้าของงานวิจัยชิ้นนี้เชื่อว่าฮอร์โมนเหล่านี้อาจเป็นฝีมือของฟีโรโมน

 

  • งานวิจัยในปี 2004 ของมหาวิทยาลัยจีวาสกีลา ประเทศฟินแลนด์ ได้ให้ผู้หญิงเข้าร่วมทดลองจำนวน 81 คน แบ่งเป็นเพศหญิง 39 คนที่ไข่ตกตามธรรมชาติ ส่วนผู้หญิงอีก 42 คนกินยาคุมกำเนิดและไม่มีไข่ตก จากนั้นให้ทั้งหมดสวมเชิ้ตสองวัน ก่อนส่งให้ฝ่ายชายจำนวน 31 คน และหญิง 12 คน ดมเชิ้ตตัวนั้นๆ ผลพบว่า สำหรับเพศชาย กลิ่นที่สร้างความสนใจทางเพศมากที่สุดเป็นกลิ่นเหงื่อของผู้หญิงที่อยู่ในช่วงไข่ตก ส่วนกลิ่นเหงื่อของหญิงที่กินยาคุมกำเนิดไม่ได้สร้างความสนใจให้พวกเขาเลย ส่วนเพศหญิงก็มีความสนใจทางเพศคล้ายฝ่ายชาย แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

 

ความสนใจทางเพศ

 

ฟีโรโมนยังเกี่ยวข้องกับความผูกพัน 

 

มาถึงตอนนี้เราจึงพอสรุปได้ว่า เมื่อผู้หญิงไข่ตก ร่างกายจะขับฟีโรโมนออกมาเพื่อกระตุ้นความรู้สึกทางเพศของฝ่ายชาย ทำให้มีเพศสัมพันธ์ เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ ส่วนฝ่ายชายเองก็มีฟีโรโมนออกมาตามร่างกาย โดยเฉพาะรักแร้และตามผิวหนัง 

 

แต่นอกจากเรื่องเซ็กซ์แล้ว การทำงานของฟีโรโมนยังเกี่ยวข้องกับความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก เมื่อแม่สามารถดมกลิ่นจากเสื้อผ้าแล้วแยกออกว่าชุดไหนเป็นของลูกตนเอง ส่วนลูกที่กินนมแม่ เมื่อได้กลิ่นฟีโรโมนจากรักแร้ของแม่ ก็สามารถแยกแยะออกว่าเต้าไหนเป็นของแม่ตน

 

เราจึงสรุปได้ว่า ฟีโรโมนเป็นสารจากธรรมชาติไม่มีกลิ่น ส่วนใหญ่อยู่บริเวณจุดซ่อนเร้น หากอยากให้ทำงานได้ผล ต้องดูแลสุขอนามัย ไม่ให้มีกลิ่นของแบคทีเรีย ไม่กลบกลิ่นด้วยน้ำหอมกลิ่นต่างๆ หรือหมกหมม ซึ่งจะทำให้เกิดผลตรงกันข้าม (ลดความต้องการทางเพศ) แต่ถึงอย่างไร เราก็ยังมีสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศได้มากกว่าฟีโรโมน นั่นก็คือรูปร่างหน้าตา รอยยิ้ม ดวงตา น้ำเสียง บุคลิกภาพ ความสะอาด การแต่งกาย วิธีสื่อสาร หรือความเอาใจใส่ เพราะมนุษย์เรามักมองเห็นหรือสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ได้ก่อนกลิ่นฟีโรโมนจะโชยมาเสียอีก 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง: 

  • Porter RH, Cernoch JM, McLaughlin FJ. Maternal recognition of neonates through olfactory cues. Physiology & Behavior. 1983 Jan 31;30(1):151–4
  • Cernoch JM, Porter RH. Recognition of maternal axillary odors by infants. Child development. 1985 Dec 1:1593–8.
  • Kuukasjärvi S, Eriksson CJ, Koskela E, Mappes T, Nissinen K, Rantala MJ. Attractiveness of women’s body odors over the menstrual cycle: the role of oral contraceptives and receiver sex. Behavioral Ecology. 2004 Jul 1;15(4):579–84.
  • Schank JC. Do human menstrual-cycle pheromones exist?. Human Nature. 2006 Dec 1;17(4):449–70.
  • Poran NS. Cycle attractivity of human female odors. Adv. Biosci. 1994;93:555–560.
  • Navarrete-Palacios E, Hudson R, Reyes-Guerrero G, Guevara-Guzmán R. Lower olfactory threshold during the ovulatory phase of the menstrual cycle. Biological psychology. 2003 Jul 31;63(3):269–79.
  • Verhaeghe J, Gheysen R, Enzlin P. Pheromones and their effect on women’s mood and sexuality.Facts Views Vis Obgyn 2013; 5(3): 189–195. 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X