WHA เปิดเแผน 5 ปี ทุ่มงบลงทุน 78,700 ล้านบาท ใช้ลุยขยายธุรกิจ ตั้งเป้ารายได้รวมแตะ 1 แสนล้านบาท
จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) กล่าวว่า พร้อมสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์แบบ 100% โดยมองภาพใหญ่ว่าแลนด์บริดจ์ไม่ใช่เพียงแค่การลงทุนสร้างท่าเรือใน 2 ฝั่ง ระหว่างจังหวัดชุมพรกับจังหวัดระนอง หรือเป็นการลงทุนด้านโลจิสติกส์เท่านั้น แต่จะเป็นการสร้างภาพรวมอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นมาได้ เป็นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) หรือเปรียบเหมือนเป็นโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ 2 ของไทย ส่งผลให้มี Raw Material จากทั่วโลกต้องส่งผ่านมายังประเทศไทย จึงเป็นโอกาสที่ดีในการสร้าง Industry Sector ในการผลิตและใช้เป็นฐานการส่งออก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศไทย
ทั้งนี้ โลเคชันที่ตั้งของประเทศไทยถือเป็น Strategic ของโลก ด้วยภูมิประเทศประเทศไทยที่ถือเป็นศูนย์กลางของโลก ส่งผลให้เริ่มเห็นการเคลื่อนย้ายฐานทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนไทย รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมองหาพื้นที่ Safe Zone เพื่อใช้ลงทุนเป็นฐานการผลิตโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย
WHA วางเป้ารายได้ 5 ปี แตะ 1 แสนล้าน
สำหรับแผนธุรกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2567-2571) บริษัทเตรียมงบลงทุนไว้ประมาณ 78,700 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายธุรกิจในกลุ่ม ซึ่งแบ่งออกเป็นเงินลงทุนปีนี้ประมาณ 21,000 ล้านบาท และตั้งเป้า EBITDA เติบโตมากกว่า 40% รวมถึงผลักดันรายได้รวมในช่วง 5 ปี เพิ่มสู่ระดับ 1 แสนล้านบาท
โดยแผนธุรกิจของ WHA ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้ารายได้จะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก จากปี 2566 ที่ทำได้ 17,200 ล้านบาท เนื่องจากทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์, นิคมอุตสาหกรรม, สาธารณูปโภค และดิจิทัล ยังมีแนวโน้มการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะลูกค้าจากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวดี ซึ่งปัจจุบันบริษัทก็กำลังรอเซ็นสัญญากับลูกค้ารายใหญ่อยู่เป็นจำนวนหลายราย
ขณะที่เป้าหมายของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในปี 2567 ตั้งเป้ายอดขายที่ดินรวมประมาณ 2,275 ไร่ ซึ่งแบ่งเป็นยอดขายนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยจำนวน 1,650 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามราว 625 ไร่ ซึ่งมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มเป้าหมายเหมือนปี 2566 ที่สามารถทำยอดขายที่ดินสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 2,767 ไร่ และสูงกว่าเป้าหมายช่วงต้นปีถึง 58%
ขณะที่บริษัทมีแผนพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมใหม่และขยายนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยรวม 7 โครงการ บนพื้นที่รวมเกือบ 10,000 ไร่ ในช่วง 4 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรวมกว่า 52,000 ไร่ ในปี 2570 โดยบริษัทยังคงมุ่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ พร้อมทั้งขยายขีดความสามารถให้ครอบคลุม 6 องค์ประกอบสำคัญ คือ Smart Services, Smart Mobility, Smart Communication, Smart Power, Smart Water และ Smart Security ภายใต้การบริหารจัดการโดยศูนย์ควบคุมกลางและต่อยอดการเป็น Total Solutions Partner ให้กับลูกค้าด้วยการให้บริการที่เกี่ยวเนื่อง
ขณะที่ด้านธุรกิจโลจิสติกส์ บริษัทวางเป้าส่งมอบโครงการและสัญญาใหม่เพิ่มขึ้น 200,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นในประเทศไทย 165,000 ตารางเมตร และประเทศเวียดนาม 35,000 ตารางเมตร ซึ่งคาดว่าสินทรัพย์รวมภายใต้กรรมสิทธิ์และการบริหารจะเพิ่มถึงระดับ 3,145,000 ตารางเมตร
รวมถึงยังมีแผนการขายสิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART และ WHAIR รวมทั้งสิ้นประมาณ 213,000 ตารางเมตร มูลค่าประมาณ 5,290 ล้านบาท ภายในช่วงปลายปี 2567
ด้านธุรกิจสาธารณูปโภค ตั้งเป้ายอดการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำรวมที่ 178 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งแบ่งเป็นภายในประเทศ 142 ล้านลูกบาศก์เมตร และในเวียดนาม 36 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 14% จากปีก่อน จากการขยายการให้บริการน้ำทุกประเภทในโครงการนิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ ของ WHA และนอกนิคมอุตสาหกรรมของ WHA รวมถึงความต้องการน้ำของลูกค้าในเวียดนามที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงบริษัทยังตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสะสมที่ลงนามแล้วเป็น 1,000 เมกะวัตต์ (MW) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 858 MW ซึ่งจะมาจากพลังงานหมุนเวียน 453 MW โดยเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ราว 283 MW
ส่วนธุรกิจดิจิทัล เตรียมยกระดับองค์กรในทุกมิติเพื่อบรรลุเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็น Technology Company ในปี 2567 โดยทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลต่างๆ การสร้างผลิตภัณฑ์ และมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า เสริมศักยภาพของระบบนิเวศทางธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับโครงการ Green Logistics โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชันที่รวมบริการต่างๆ (Super Driver App) สำหรับลูกค้ายานยนต์ไฟฟ้าภาคธุรกิจ เช่น การบริหารยานพาหนะ, การวางแผนเส้นทาง และการเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น