×

นักเขียนก็ฟิตได้! แอบดูวิถีความฟิตแบบนักเขียนคนดังที่พิสูจน์ว่าอาชีพไหนก็ฟิตได้

12.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • นักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่นและอเมริกันสองท่านที่พอพูดชื่อ คุณต้องร้อง “อ๋อ” แม้ทั้งคู่จะมีอายุอานามไม่น้อย แถมงานยังรัดตัวไม่แพ้กัน แต่เหตุอันใดพวกเขายังคงรักษาระดับความฟิตได้อย่างดีเยี่ยม และเขาทำอย่างไรกัน THE STANDARD ไปไขความลับมาให้
  • การออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะหรือเวลามากมาย เพียง 30 นาทีต่อวัน ได้เหนื่อยนิดๆ หน่อยๆ ก็ช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้นได้แล้ว
  • แทนที่จะมองการออกกำลังกายเป็นงานอดิเรก แต่มองว่าเป็นงานหลักที่ได้สุขภาพที่ดีเป็นการตอบแทน แค่นี้คุณก็สุขภาพดีขึ้นได้

     อย่าปล่อยให้เวลาหรืออาชีพการงานมาเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณไม่ออกกำลังกาย ในเมื่ออาชีพที่ได้ชื่อว่าเนือยนิ่งมากที่สุดอย่างนักเขียนยังหาเวลามาเสียเหงื่อได้ THE STANDARD รวมกิจกรรมขยับร่างของเหล่านักเขียนคนดังมาไว้ให้แล้ว ดังนั้นคุณก็ทำได้ไม่ต่างกัน เห็นไหม

 

ฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนคนดัง/นักวิ่งตัวยง

 

ฮารูกิ มูราคามิ

     นักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่นที่แม้จะมีอายุอานามกว่า 68 ปี แต่เขายังคงรักษาระดับความฟิตได้อย่างดีเยี่ยม ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ลงนิตยสาร The Paris Review ไว้เมื่อปี 2004 ว่าการเขียนนิยายขนาดยาวก็ไม่ต่างจากการฝึกเอาตัวรอด ดังนั้นความแข็งแรงทางกายจึงเป็นสิ่งจำเป็นพอๆ กับความเข้าใจศิลปะ และอาชีพนักเขียนที่ต้องนั่งหลังคดหลังแข็งบนโต๊ะทำงานวันละหลายๆ ชั่วโมง

 

 

     กล้ามเนื้อที่ทำงานมีเพียงนิ้วมือและดวงตา หากปล่อยไว้นานไม่ช้าร่างกายต้องเสื่อมสภาพและน้ำหนักตัวพุ่งอย่างไม่ต้องสงสัย

     อดีตเจ้าของแจ๊ซบาร์ในกรุงโตเกียวจึงลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองด้วยการวิ่ง (มูราคามิเลือกทำกิจกรรมที่ไม่ต้องยึดติดกับใครและอยู่กับตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับนิสัยส่วนตัว นี่ไงคือสิ่งที่เราพยายามบอกมาตลอดว่าให้เลือกทำกิจกรรมที่ชอบ ไม่ใช่ทำเพราะตามใคร) โดยทุกวันนี้เขาตื่นตั้งแต่ตี 4 ทำงานรวดเดียว 5-6 ชั่วโมง จากนั้นเข้าโหมดออกกำลังกายด้วยการวิ่งวันละ 10 กิโลเมตร จำนวน 6 วันต่อสัปดาห์ (เป้าหมายคือวิ่งให้ได้ 60 กิโลเมตรต่อสัปดาห์) หรือว่ายน้ำ 1,500 เมตร หรือไม่ก็ทำทั้ง 2 อย่าง เพราะนอกจากการวิ่งแล้ว นักเขียนระดับ Best Seller ยังเล่นไตรกีฬา (ใครจะไปคิด!) แถมครั้งหนึ่งเคยพิชิตอัลตร้ามาราธอนระยะทาง 100 กิโลเมตร และยังเคยออกหนังสือเกี่ยวกับการวิ่งในชื่อภาษาอังกฤษว่า What I Talk About When I Talk About Running มาแล้วด้วยนะ

 

เราสามารถพบเจ้าของนิยายหวานชวนน้ำตาร่วงอย่าง นิโคลัส สปาร์กส์ ได้ในยิม (หากโชคดีอาจได้เจอ สกอตต์ อีสต์วูด อยู่ข้างๆ ด้วยแบบนี้)

Photo: Twitter @NicholasSparks

 

นิโคลัส สปาร์กส์

     ใครจะไปคาดคิดว่าเจ้าพ่อนิยายรักโรแมนติกนุ่มนิ่มอย่าง นิโคลัส สปาร์กส์ จะเสพติดการออกกำลังกาย? ชีวิตประจำวันของนักเขียนร่างใหญ่คนนี้คือตื่นมาออกกำลังกายแต่เช้า ซึ่งกินเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยหนึ่งในโปรแกรมสุดโหดของสปาร์กส์ ได้แก่การออกกำลังกายทั่วทุกส่วน เริ่มจากการทำท่าเบอร์พีส์ (Burpees) 100 ครั้ง ต่อด้วยชินอัพ (Chin Up) 75 ครั้ง บาร์ดิป (Bar Dip) 75 ครั้ง สควอต (Squat) พร้อมเวต 200 ครั้ง ลันจ์ (Lunge) กับดัมบ์เบล 100 ครั้ง วิดพื้นตบมืออีก 100 ครั้ง จากนั้นต่อด้วยการเล่นหน้าท้อง 100 ครั้ง (รวมกันหลายๆ ท่า) และทำท่าเดดลิฟต์ (Deadlift) ด้วยน้ำหนัก 135 ปอนด์ ก่อนจบด้วยการวิ่งบนเครื่องเทรดมิลล์ 4 ไมล์ ซึ่งทั้งหมดนี้เสร็จสิ้นไม่เกิน 08.45 นาฬิกาเป็นประจำทุกเช้า…

     เหตุที่สปาร์กส์มีวินัยในการดูแลตัวเอง เพราะเขาเป็นนักกีฬามาตั้งแต่สมัยเรียน แม้ปัจจุบันจะทำงานเป็นนักเขียนแต่เขาก็ไม่เคยมองข้ามประโยชน์ของการออกกำลังกาย และยังสามารถหาเวลามาทำกิจวัตรประจำวันที่คุ้นเคย ทั้งที่ในความเป็นจริงเขาอาจไม่ต้องการความฟิตระดับนั้นเลยก็ได้นี่สิ

 

 

ลืมข้ออ้าง แล้วลองดูสักต้ัง

     เคล็ดลับสู่ความสำเร็จของพวกเขา คุณอาจแย้งว่า “ก็ถ้ามีทั้งเงินและเวลา การหาเวลามาออกกำลังกายไม่ใช่เรื่องยากสิ” แต่ในความเป็นจริงแล้วนักเขียน 2 ท่านที่เรายกมาเป็นเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้น เพราะยังมีคนอีกหลายอาชีพที่ไม่ว่าตารางงานจะยุ่งหัวหมุนเพียงใดก็ยังสละเวลามาออกกำลังกายได้เสมอ เพราะการออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะหรือเวลามากมาย เพียง 30 นาทีต่อวัน จำนวน 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ขอเพียงได้เหนื่อยนิดๆ หน่อยๆ ก็ช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้นได้แล้ว

     หรือจะเลือกออกกำลังกาย 45 นาที จำนวน 3 วันต่อสัปดาห์แต่ให้หนักระดับเหนื่อยถึงเหนื่อยมาก ก็ให้ผลลัพธ์ไม่ต่างกัน (หลักการคือให้ออกแรง 150 นาทีต่อสัปดาห์) ส่วนใครที่อยากออกแรงแอดวานซ์มากขึ้น ลองใช้วิธีที่ดัดแปลงมาจาก HIIT (High Intensity Interval Training) แต่ปรับให้ปลอดภัยกับทุกคน (Modified Intensity Interval Training) เช่น วิ่ง 1 นาที (ในระดับที่คุณทนไหวไม่ต้องถึงขั้นวิ่งสุดแรง) สลับจ๊อกกิ้งหรือเดิน 1 นาที ทำซ้ำจนครบ 10 รอบ ใช้เวลาเพียง 20-30 นาที บวกวอร์มอัพกับคูลดาวน์อีกอย่างละ 5-10 นาที เบ็ดเสร็จใช้เวลาไม่เกิน 50 นาที ซึ่งข้อดีของ HIIT คือใช้เวลาน้อยแต่สามารถเบิร์นแคลอรีได้ต่อเนื่องมากกว่า

     กุญแจสำคัญอยู่ที่เราต้องเปลี่ยนจากความคิดที่ว่า ‘ว่างค่อยออก’ มาเป็น ‘หาเวลามาออก’

     เลือกเอาว่าจะตื่นเช้าขึ้นหรือเข้าฟิตเนสหลังเลิกงานแทนการสังสรรค์ (หลายคนที่ผู้เขียนรู้จักยอมแลกเวลาพักเที่ยงมาเข้าฟิตเนส ก่อนกลับไปทำงานต่อ เพื่อเรียกพลังฮึดทั้งกายและใจ) ทีนี้ลองจัดอันดับความสำคัญในชีวิตให้การออกกำลังกายย้ายมาอยู่อันดับต้นๆ ไม่ได้รั้งท้ายหลังว่างเว้นจากการทำกิจกรรมใดๆ ก็ตาม เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะได้ยินข้ออ้างว่าไม่มีเวลา ติดงานด่วน เพื่อนนัดกินข้าว ทำงานเหนื่อย รถติด ตื่นไม่ไหว หิว เดี๋ยวเหงื่อออก ฯลฯ

     ถ้าได้ลองปรับความคิดเสียใหม่ แทนที่จะมองการออกกำลังกายเป็นงานอดิเรก แต่มองว่าเป็นงานหลักที่ได้สุขภาพที่ดีเป็นการตอบแทน อย่างนี้อาจจะทำให้คุณอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนการใช้ชีวิตก็ได้ แค่เปลี่ยนมุมมองก็ฟิตได้แล้ว อยากลองไหมล่ะ?

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising