อุ๊ย… ลืมไปว่าเมื่อเช้าก่อนออกไปทำงาน ปิดประตู ล็อกประตูบ้านเรียบร้อยแล้วหรือยัง
เอ… เมื่อตะกี้จะพูดอะไรนะ
อยู่ๆ ก็ลืมเฉยเลย ปากกา… ฉันเอาปากกาไปวางไว้ที่ไหน
ตายๆ… โทรศัพท์อยู่ที่ไหน… อ๋อ ถืออยู่ในมือ
เคยเป็นกันใช่ไหมครับ อาการหลงๆ ลืมๆ ไปชั่วขณะแบบนี้ เอ… นี่เป็นสัญญาณของโรคความจำเสื่อมหรือเปล่านะ หลายคนคิดว่าอาการหลงๆ ลืมๆ ลืมง่าย ลืมเก่ง เป็นอาการที่เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น บางคนก็เชื่อว่าอาการหลงลืม เป็นสัญญาณเตือนของอัลไซเมอร์หรือความจำเสื่อม หลายคนสังเกตว่าหมู่นี้เราหลงลืมบ่อยเหลือเกิน เรากำลังจะสมองเสื่อมแน่ๆ เลย… ความเข้าใจนี้ถูกต้องหรือเปล่า เรามีคำตอบให้ครับ
สมองกับความทรงจำ
สมองของคนเรามีระบบบันทึกความทรงจำที่ดีเยี่ยม ความจำคือการที่สมองรับรู้เรื่องราวต่างๆ และนำมาเข้ารหัสจัดเก็บเอาไว้อย่างเป็นระบบ เมื่อถึงเวลาจะใช้งานสมองก็ดึงออกมาได้ทันท่วงที เราแบ่งความจำของมนุษย์ออกเป็นสองแบบคือความทรงจำระยะสั้น (short-term memory) และความทรงจำระยะยาว (long-term memory)
ความทรงจำระยะสั้น: เป็นความจำเฉพาะหน้ากับเรื่องที่เกิดขึ้นตรงหน้า เช่น มีคนบอกหมายเลขโทรศัพท์ เราก็จะรีบจำแล้วจดเอาไว้ ผ่านไปวันสองวันเราก็ลืมเลขนั้นไปแล้ว เป็นต้น ความจำระยะสั้นเป็นข้อมูลชั่วคราวที่สมองของเราไม่นำไปจัดเก็บแบบถาวร ดังนั้น การที่เราจะลืมไปแล้วว่าเมื่อห้าวันก่อนเรากินอะไรเป็นอาหารมื้อเย็นจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
ความทรงจำระยะยาว: เป็นความจำที่สมองรู้ว่านี่คือเรื่องสำคัญ และมีการย้ายข้อมูลจากคลังชั่วคราวไปจัดเก็บเอาไว้อย่างเป็นระเบียบ ได้แก่ ประสบการณ์ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เรื่องราวการเรียนรู้ต่างๆ ความสามารถในการอ่านภาษา การจดจำสูตรคณิตศาสตร์ เป็นต้น
หลงๆ ลืมๆ
อาการหลงลืม (forgetting) : เกิดจากการที่สมองของเราไม่สามารถดึงเอาชุดข้อมูลที่จัดเก็บมาใช้ได้ การหลงลืมของคนส่วนมากมักเกิดกับความทรงจำระยะสั้นมากกว่าระยะยาว การที่คนเราจะเกิดการหลงลืมนั้น เนื่องมาจากสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น การถูกรบกวนโดยสิ่งอื่นๆ ทำให้สมองไม่สามารถดึงความจำมาได้ชั่วคราว เช่น การอดนอน, การดื่มเหล้ามากๆ จนแฮง, ฤทธิ์ของยาบางประเภท
การถูกกดเอาไว้โดยสภาวะอะไรบางอย่าง เช่น ความเครียด, สภาวะซึมเศร้า เป็นต้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว คุณคงพอจะมองเห็นว่าอาการหลงๆ ลืมๆ ที่เกิดขึ้นกับคนเรา มีทั้งการหลงลืมที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ เช่น การลืมว่าวางของไว้ที่ไหน การลืมชื่อของเพื่อนคนที่เราไม่ได้เห็นหน้ามานานเป็นสิบๆ ปี และการหลงลืมที่ผิดปกติ เช่น เห็นปากกาวางอยู่ตรงหน้า แต่นึกไม่ออกว่าของสิ่งนี้ใช้ทำอะไร
หากคุณมีอาการหลงลืมเกิดขึ้น แต่เป็นการหลงลืมที่เป็นปกติ ก็ไม่ต้องตกใจไปครับ ลองสำรวจตัวเองดูว่ามีสภาวะอะไรหรือเปล่าที่ทำให้คุณเป็นแบบนั้น แต่ถ้าการหลงลืมที่เกิดขึ้นนั้นผิดปกติไปมาก และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ก็คงถึงเวลาที่จะต้องพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา
จะทำอย่างไรเมื่อเกิดอาการหลงลืม?
หากคุณมีอาการหลงลืมเกิดขึ้น แต่เป็นการหลงลืมที่เป็นปกติ ก็ไม่ต้องตกใจไปครับ ลองสำรวจตัวเองดูว่ามีสภาวะอะไรหรือเปล่าที่ทำให้คุณเป็นแบบนั้น แต่ถ้าการหลงลืมที่เกิดขึ้นนั้นผิดปกติไปมาก และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ก็คงถึงเวลาที่จะต้องพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา
อย่างไรก็ตาม หากนั่นเป็นเพียงอาการหลงลืมโดยทั่วไป เรามีเคล็ดลับช่วยบริหารความจำให้ดีขึ้น โดย Dr. Keith L. Black ศัลยแพทย์สมองชื่อดัง ผู้ก่อตั้ง Keith’s Brain Institute มาฝากให้ลองนำไปปฏิบัติดังนี้ครับ
- ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ มีวิจัยทางการแพทย์หลายฉบับแสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายช่วยให้มนุษย์มีความจำที่ดีขึ้น เลือกวิธีออกกำลังกายที่คุณจะรู้สึกสนุกกับมัน ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือแม้แต่เต้นลีลาศ
- เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อร่างกาย คำพูดที่ว่า You are, what you eat ยังคงเป็นจริงเสมอ ผักใบเขียว ผลไม้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรขาดไปเลยในแต่ละมื้ออาหาร
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนให้ได้ต่อเนื่องอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง จะช่วยให้สมองของคุณได้ผ่อนคลาย และมีเวลาในการจัดระบบของข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมาในแต่ละวันได้เป็นอย่างดี
- ตรวจสุขภาพ และดูว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง เมื่อพบก็รีบจัดการควบคุมให้อยู่ในสภาวะปกติ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลต่อระบบความจำของร่างกายได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โคเลสเตอรอลสูง การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ อุบัติเหตุศีรษะกระทบกระแทกเป็นต้น
- จัดการบริหารความเครียดให้ได้ ความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายมีความจำที่แย่ลง และหากรู้สึกว่าตนเองอาจจะมีสภาวะซึมเศร้า รีบหาทางแก้ไขโดยด่วนครับ
- จัดเวลาให้ได้พบปะเพื่อนฝูง และมีกิจกรรมนอกบ้านอย่างเหมาะสม การเบื่อหน่ายสังคม แยกตัวอยู่ลำพังไม่เป็นผลอันดีต่อระบบความจำของร่างกายครับ
หากคุณมีอาการหลงๆ ลืมๆ บ่อยๆ ละก็… ลองทำตามคำแนะนำทั้งหกข้อข้างต้น เพียงไม่นานคุณจะพบว่าความจำกลับมาดีขึ้นอย่างแน่นอนครับ
เมื่อมาถึงตรงนี้ หากคุณเกิดลืมไปแล้วว่าคำแนะนำที่เรากำลังคุยกันอยู่มีอะไรบ้าง โปรดเลื่อนหน้าจอนี้ขึ้นไป แล้วเริ่มอ่านใหม่อีกครั้งได้เลยครับ
อ้างอิง:
- Hermann Ebbinghaus, Psychology: An elementary textbook. New York: Arno Press, 1906
- Keith L Black, CogGevity – Things everyone should do for Optimal Brain health. Black’s Brain institute, 2017
- อาการหลงลืมที่เราเห็นบ่อยๆ ในละครหรือภาพยนตร์คือการที่ตัวเอกประสบอุบัติเหตุ เมื่อฟื้นขึ้นมาแล้วจำไม่ได้ว่าตัวเองเป็นใคร ชื่ออะไร ในชีวิตจริงโอกาสจะเกิดเคสแบบนี้มีได้น้อยมากกว่า 1% ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมส่วนมากจะรู้ตัวว่าตัวเองคือใคร แต่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการจดจำเรื่องราวใหม่ๆ และการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากกว่า แต่เพราะว่าพล็อตเรื่องแบบนี้มันนำไปสู่ความสนุกสนานของผู้ชม เราก็เลยยังจะได้ชมหนังหรือละครที่ตัวเอกความจำเสื่อม จำไม่ได้ว่าตัวเองชื่ออะไร ตัวเองเป็นใคร กันต่อไป
- เรื่องราวของความจำเสื่อมครั้งโด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ คือในปี ค.ศ. 1920 กลางดึกของคืนวันหนึ่ง มีการพบหญิงสาวลึกลับไร้ชื่อเสียงเรียงนาม เธอพยายามจะฆ่าตัวตายที่เบอร์ลิน หญิงสาวอ้างตัวว่าเป็นแกรนด์ดัชเชส อนาสตาเชีย พระธิดาองค์สุดท้องของพระเจ้าซาร์ นิโคลัสแห่งรัสเซีย ที่หนีรอดจากการถูกสังหารหมู่ในปี ค.ศ. 1918 มาได้ ในยุคสมัยที่การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลยังทำได้ไม่ละเอียด จึงมีผู้คนทั้งเชื่อและไม่เชื่อ สุดท้ายหลังจากสตรีผู้นั้นเสียชีวิตไปในปี ค.ศ. 1984 มีการตรวจสอบ DNA ในภายหลัง และพบว่าเธอคือหญิงสาวสามัญชนชื่อ แอนนา แอนเดอร์สัน ไม่ใช่แกรนด์ดัชเชส อนาสตาเชีย อย่างที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด