×

World Economic Forum เปิดโผ 10 อันดับเทคโนโลยีเกิดใหม่มาแรง! ประจำปี 2023

28.06.2023
  • LOADING...
World Economic Forum

World Economic Forum เปิดตัวรายงาน ‘Top 10 Emerging Technologies’ ประจำปี 2023 โดยนำเสนอ 10 เทคโนโลยีใหม่ที่น่าจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ได้แก่

 

1. แบตเตอรี่แบบยืดหยุ่นได้ (Flexible Batteries)

ในอนาคตของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ กำลังจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เห็นได้จากพัฒนาการอย่างรวดเร็วของอุปกรณ์สวมใส่ต่างๆ, หน้าจอคอมพิวเตอร์พับได้, สมาร์ทโฟนพับได้ ไปจนถึง Smart Clothing

 

ดังนั้น อุปกรณ์เหล่านั้นจึงต้องการแหล่งพลังงานที่ยืดหยุ่นได้เช่นกัน ทำให้แบตเตอรี่แบบแข็งปัจจุบันอาจกลายเป็นอดีตไปในไม่ช้า และถูกแทนที่ด้วยแบตเตอรี่ ซึ่งทำจากวัสดุน้ำหนักเบา บาง สามารถบิด งอ หรือยืดหยุ่นได้ง่าย

 

โดยมีวิจัยประเมินว่า มูลค่าตลาดแบตเตอรี่แบบยืดหยุ่นทั่วโลกจะขยายตัวอีก 240.47 ล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 2022-2027 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ราว 22.79% ในช่วงเวลาดังกล่าว

 

ปัจจุบันหลายบริษัทกำลังพัฒนาและจำหน่ายเทคโนโลยีดังกล่าว เช่น LG Chem, Samsung SDI, Apple, Nokia, Front Edge Technology และ STMicroelectronics นอกจากนี้ ผู้เล่นรายใหม่ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ตามการพัฒนาของเทคโนโลยี

 

2. Generative AI

สำหรับปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการ ‘สร้างใหม่’ จากชุดข้อมูลที่มีอยู่ด้วยอัลกอริทึม หรือ Generative AI กำลังเป็นอีกเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ เนื่องจากการปรากฏตัวของ ChatGPT และถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ 

 

3. เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel)

เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) เป็นอีกเทคโนโลยีที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ท่ามกลางกระแสการคมนาคมสีเขียว ซึ่งรวมไปถึงความนิยมการใช้รถ EV ทำให้หลายฝ่ายเห็นความจำเป็นของ SAF มากขึ้นในฐานะเชื้อเพลิงที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 2-3% ของการปล่อยทั่วโลกในแต่ละปี

 

รายงานยังระบุว่า แม้ปัจจุบัน SAF จะถูกใช้ในสัดส่วนไม่ถึง 1% ของความต้องการเชื้อเพลิงเครื่องบินทั่วโลก แต่สัดส่วนดังกล่าวจำเป็นจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 13-15% ภายในปี 2040 เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยสถานการณ์น่าจะกำลังดีขึ้น เนื่องจากการสร้างโรงงานผลิตของ SAF ที่เพิ่มขึ้น

 

4. Designer Phages

สำหรับเฟจ (Phages) ซึ่งมีความหมายในภาษาละตินว่า นักกินแบคทีเรียนั้น เป็นหนึ่งในไวรัสที่เลือกทำลายแบคทีเรียบางชนิดในร่างกายของมนุษย์เพื่อรักษาโรคได้ เป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนศัตรูให้พันธมิตร

 

สำหรับตัวอย่างของ Designer Phages หรือเฟจที่สามารถกำหนดเป้าหมายได้  ได้แก่ การรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับไมโครไบโอม (Microbiome) เช่น กลุ่มอาการฮีโมไลติกยูรีมิก (Hemolytic Uremic Syndrome: HUS) ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ยาก แต่ร้ายแรง ซึ่งส่งผลต่อไตและการแข็งตัวของเลือด ซึ่งเกิดจากเชื้ออีโคไลบางชนิด

 

5. Metaverse เพื่อสุขภาพจิต (Metaverse for Mental Health)

Metaverse หรือโลกเสมือนที่เปิดให้ผู้คนเข้าไปทำกิจกรรมหรือมีปฏิสัมพันธ์กัน ผ่านการใช้เทคโนโลยี AR และ VR มีแนวโน้มที่จะถูกใช้ประโยชน์เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ มากขึ้น โดยในรายงานของ WEF ระบุว่า Metaverse จะช่วยต่อสู้กับวิกฤตสุขภาพจิตที่กำลังเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ได้

 

ปัจจุบัน Metaverse กำลังถูกนำไปใช้ในการรักษาสุขภาพจิตในหลายวิธี ไม่เพียงแต่เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยผ่านการรักษาทางไกลเท่านั้น ตัวอย่างเช่น บริษัท DeepWell Therapeutics ที่สร้างวิดีโอเกมเพื่อรักษาอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวล และบริษัท TRIPP ซึ่งสร้าง ‘Mindful Metaverse’ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนผ่านการเจริญสติ (Mindfulness) และการทำสมาธิ (Meditation) เป็นต้น

 

6. เซ็นเซอร์ติดพืช (Wearable Plant Sensors)

ตามรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า การผลิตอาหารของโลกจะต้องเพิ่มขึ้น 70% เพื่อเลี้ยงประชากรทั้งโลกให้เพียงพอ ภายในปี 2050 ดังนั้น นวัตกรรมทางเทคโนโลยีด้านการเกษตรจะเป็นก้าวสำคัญในการเสริมความแกร่งด้านความมั่นคงด้านอาหารของโลก

 

โดยเฉพาะเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ติดพืช (Wearable Plant Sensors) ซึ่งกำลังกลายเป็นวิธีตรวจสอบสุขภาพและคุณภาพของพืชที่ง่ายดายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้สุขภาพของพืชผลต่างๆ ดีขึ้น และมีผลผลิตมากขึ้น

 

โดยเซ็นเซอร์เหล่านี้จะเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ไม่รบกวนพืช และสามารถติดเข้ากับพืชต่างๆ เพื่อการตรวจสอบอุณหภูมิ ความชื้น และระดับสารอาหารได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรควบคุมการใช้น้ำ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และตรวจหาสัญญาณเริ่มต้นของโรคได้ดีขึ้น

 

7. Spatial Omics

ทั้งนี้ โอมิกส์ (Omics) คือการศึกษาสิ่งมีชีวิตแบบองค์รวม หรือการศึกษาสิ่งมีชีวิตแบบทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับสารพันธุกรรม (DNA), กระบวนการคัดลอกรหัสสารพันธุกรรม (RNA), การแปลรหัสพันธุกรรมออกมาเป็นโปรตีน และการศึกษาไปจนถึงระดับสารชีวเคมี สารชีวโมเลกุล และสารเมตาบอไลท์ (Metabolite) ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสิ่งมีชีวิต

 

ดังนั้น Spatial Omics จึงอาจให้คำตอบแก่นักวิจัยได้เพิ่มขึ้น ด้วยการรวมเทคนิค ‘การถ่ายภาพขั้นสูง’ เข้ากับความเฉพาะเจาะจงและความละเอียดของการจัดลำดับ DNA วิธีการที่เกิดขึ้นใหม่นี้ช่วยทำให้นักวิจัยค้นพบความลึกลับของสิ่งมีชีวิตได้มากขึ้น และดูรายละเอียดเซลล์ และเหตุการณ์ทางชีววิทยาที่ไม่สามารถสังเกตได้ก่อนหน้านี้ในรายละเอียดที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

8. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สื่อระบบประสาทแบบยืดหยุ่นได้ (Flexible Neural Electronics)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างคลื่นสมองและคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ภายนอกอื่นๆ หรือ Brain-Machine Interfaces (BMI) เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ และถูกนำมาใช้ในหลายกรณี เช่น การรักษาผู้ป่วยโรคลมบ้าหมู และแขนขาเทียมที่เชื่อมต่อกับระบบประสาท ทำให้เกิดการจินตนาการเกี่ยวกับศักยภาพในการควบคุมเครื่องจักรด้วยความคิดมากขึ้นเรื่อยๆ

 

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวยังมีความท้าทาย ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ที่ทำจากวัสดุแข็ง โดยสิ่งเหล่านี้ยังทำให้เกิดแผลเป็นในระยะยาว และทำให้ผู้ใช้รู้สึกไม่สบายอย่างมาก เนื่องจากอุปกรณ์นั้นๆ ไม่สามารถงอหรือปรับให้เข้ากับการเคลื่อนไหวของสมองได้อย่างยืดหยุ่น

 

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยได้พัฒนาวงจรเชื่อมต่อสมองบนวัสดุที่เข้ากันได้ทางชีวภาพ ซึ่งมีความอ่อนนุ่มและยืดหยุ่น เพื่อลดการเกิดแผลเป็นและการเคลื่อนตัวของเซ็นเซอร์ นอกจากนี้ยังสามารถบรรจุเซ็นเซอร์ได้มากพอที่จะกระตุ้นเซลล์สมองหลายล้านเซลล์ในคราวเดียว ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าแบบแข็งอย่างมาก

 

9. คลาวด์คอมพิวติ้งแบบยั่งยืน (Sustainable Computing)

ขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลง มนุษย์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็กำลังพึ่งพาข้อมูลมากขึ้น ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าและการปล่อยความร้อนของศูนย์ข้อมูล (Data Center) สำหรับเทคโนโลยี Cloud Computing มากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางการขยายตัวของ Metaverse, AI และอื่นๆ 

 

อย่างไรก็ตาม WEF คาดว่า ในทศวรรษหน้า ศูนย์ข้อมูลที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และ Sustainable Computing น่าจะมีความก้าวหน้าอย่างมาก

 

10. การดูแลสุขภาพที่ใช้ AI (AI-Facilitated Healthcare)

การระบาดของโควิด-19 เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างระบบสาธารณสุขที่น่าเชื่อถือมากขึ้น ทำให้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นหนึ่งแนวทางสำคัญในการจัดการกับความท้าทายต่างๆ เช่น ความล่าช้าที่ผู้ป่วยจำนวนมากประสบ เมื่อพยายามเข้ารับการรักษาพยาบาลผ่านระบบ

 

ตัวอย่างเช่น บริษัท Medical Confidence ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ CloudMD ที่ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อจัดความต้องการการรักษาของผู้ป่วยให้เหมาะสมกับความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้ช่วยลดเวลารอการรักษาได้อย่างมาก โดยในบางกรณี จากเวลาหลายเดือนเหลือเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น

 

นอกจากนี้ AI ยังมีประโยชน์ในทางการแพทย์ด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การอำนวยความสะดวกในการระบุรายละเอียดที่สำคัญทางรังสี หรือภาพ CT ที่แพทย์อาจมองข้ามได้ และการรวบรวมข้อมูลที่มีคุณภาพ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างข้อมูลเชิงลึก เป็นต้น

 

World Economic Forum

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X