×

เสียงสะท้อนธุรกิจเอกชนไทย แม้เชื่อภาษีสหรัฐฯ 36% ไม่ใช่จุดจบ แต่เตือนหากเจรจาก่อนเส้นตายไม่สำเร็จ ‘ลำบากแน่’

14.07.2025
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ไทยเจอประกาศจัดเก็บภาษีสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ สูงถึง 36% แม้จะยังไม่ใช่ตัวเลขสุดท้าย แต่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อภาคธุรกิจไทยอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเวียดนามที่เสียภาษีแค่ 20%
  • เสียงสะท้อนจากธุรกิจรายใหญ่ มาม่า และ SNNP ต่างมั่นใจว่าไทยยังมีโอกาสต่อรองก่อนถึงเส้นตาย 1 ส.ค. ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเสนอแนวทางเพิ่มอำนาจการเจรจาด้วยการนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐฯ หรือใช้กลไกโควตานำเข้าแบบจำกัด
  • แต่สุดท้ายถ้าต่อรองไม่ได้ ไทยเสียเปรียบด้านภาษีแน่ และสุดท้ายอาจเสียฐานการผลิตให้ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ซึ่งมีแรงงานหนุ่มสาวและต้นทุนต่ำกว่า จนนักลงทุนต่างชาติเทใจไปลงทุนมากขึ้น

ข่าวการปรับขึ้นภาษีส่งออกไปสหรัฐฯ ถึง 36% ได้สร้างความกังวลให้กับภาคธุรกิจไทยไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อก่อนหน้านี้หลายฝ่ายต่างกำลังรอฟังข่าวดี ทำให้เกิดคำถามสำคัญขึ้นมาว่าตัวเลขนี้เป็นที่สิ้นสุดแล้ว หรือยังพอมีโอกาสสำหรับการเจรจาต่อรองอีกครั้งก่อนถึงเส้นตาย

 

อย่างไรก็ตาม เสียงจากภาคส่วนต่างๆ เช่น หอการค้าไทย ยังมองว่านี่ยังไม่ใช่บทสรุปสุดท้าย และยังมีช่องทางในการเจรจาเชิงรุก โดยเสนอให้ใช้การนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐฯ มาเป็นข้อต่อรองเพิ่มเติม สอดคล้องกับมุมมองของผู้ผลิตอย่าง ‘มาม่า’ ที่ยังเชื่อมั่นในทีมเจรจาของรัฐบาล

 

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ความกังวลในระยะยาวก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขันของไทยเมื่อเทียบกับเวียดนามซึ่งได้เปรียบเรื่องภาษีอย่างชัดเจน นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการอย่าง ‘ศรีนานาพร’ เป็นห่วง และอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตในอนาคตได้

 

‘มาม่า’ เชื่อมั่นฝีมือรัฐบาลไทย คาดถึงวันไฟนอลภาษีส่งออกสหรัฐฯ จะต่ำกว่า 36% 

 

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ‘มาม่า’ ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หลังจากได้รับข่าวว่าไทยโดนสหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้าส่งออก 36% ก็ค่อนข้างตกใจ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบอกให้รอฟังข่าวดี แต่เท่าที่ดูข่าวฝั่งรัฐบาลก็ให้ความเชื่อมั่นว่าอัตราภาษีที่ไทยเราโดน 36% เป็นเพราะยังยื่นข้อเสนอไม่หมด ให้รอขีดเส้นตาย 1 ส.ค. นี้

 

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) 

 

ทางมาม่าเองก็จับตาดูอยู่ แม้ในส่วนของบริษัทจะกระทบน้อย แต่ถ้าอุตสาหกรรมอื่นได้รับผลกระทบ สุดท้ายก็จะมีผลต่อกำลังซื้อโดยรวมด้วย



“เราเชื่อว่ารัฐบาลไทยมีไพ่ในมือหลายใบและมีความเชี่ยวชาญในการเจรจา มีนโยบายชัดเจนก่อนไปต่อรองจะลดภาษีเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับคนไทยเราเอง ซึ่งคาดว่าถ้าถึงวันไฟนอลแล้ว อัตราภาษีน่าจะดีขึ้นกว่านี้” พันธ์ระบุ

 

ในมุมของการส่งออกสินค้า สัดส่วนที่มาม่าส่งออกไปสหรัฐฯ ถือว่าน้อยมาก เนื่องจากปัจจุบัน ‘มาม่า’ มีพอร์ตรายได้จากการส่งออกประมาณ 30% โดยส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ถึง 10% ซึ่งตัวเลขส่งออกจะอยู่ยุโรปและเอเชียมากกว่า

 

“จริงๆ แล้วกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถ้าส่งออกพอโดนบวกค่าภาษีค่าโน้นค่านี้ ราคาที่ตั้งขายยังอยู่ในโพสิชันที่สู้กับคู่แข่งได้ แต่เมื่อไรก็ตามถ้าวางขายแล้วแพงกว่าคู่แข่ง ก็ต้องพยายามชูจุดขายความเป็นไทยเข้าสู้”

 

สำหรับประเด็นที่ทรัมป์เรียกร้องให้เกิดการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ผ่านการผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงภาษี พันธ์มองว่าถ้าไทยยอมสุดๆ โดยเปิดตลาดแบบเสรีจะกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นมากกว่า ตลาดบะหมี่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ 

 

“สิ่งที่มาม่าเป็นห่วงคือเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ เม็ดเงินที่จะลงระบบไปกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศและความเชื่อมั่นของไทยในสายตานักลงทุนมากกว่า”

 

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไทยยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันโรงงานมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 7 ล้านซองต่อวัน โดยบางหมวดสินค้าพรีเมียมของมาม่าผลิตไม่ทันขาย ทำให้ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้เปิดไลน์ผลิตสินค้าเพิ่ม

 

 

ส่วนตลาดต่างประเทศได้ชะลอแผนลงทุนขยายโรงงานในฮังการีไปแล้ว เนื่องจากนโยบายด้านแรงงานของฮังกาไม่สอดคล้องต่อการทำธุรกิจ รวมถึงต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้น ทำให้การลงทุนไม่คุ้มค่าความเสี่ยงที่ประเมินไว้

 

สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทยแนะใช้ ‘วัตถุดิบสหรัฐฯ’ เพิ่มพลังเจรจา

 

ด้าน วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทยและนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย แสดงความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า แม้อัตราภาษีส่งออกสินค้าจากไทยไปยังสหรัฐฯ พุ่งสูงถึง 36% จะสร้างแรงกระทบอย่างหนักต่อภาคธุรกิจ แต่ยังมีความหวังว่าอาจมีการพิจารณาใหม่อีกครั้ง ก่อนที่มาตรการจะมีผลอย่างเป็นทางการ

 

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทยและนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย

 

ก่อนหน้านี้ทีมงานจากฝั่งไทยเพิ่งเดินทางกลับจากการหารือกับสหรัฐฯ และได้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมส่งให้ฝ่ายสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา หมายความว่ายังมีโอกาสที่เอกสารรอบใหม่ของไทยจะถูกนำมาพิจารณาก่อนตัดสินใจขั้นสุดท้าย

 

อย่างไรก็ตาม ไทยไม่สามารถรอความหวังจากเอกสารเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องเร่งเดินหน้าเจรจาเชิงรุก ทั้งในประเด็นภาษีและแนวทางอื่นๆ ที่อาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาษี 36% ให้ได้มากที่สุด

 

ในมุมของอุตสาหกรรมอาหารไทย ยังมีโอกาสเชิงบวกจากการนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐฯ เช่น Ingredients เฉพาะทาง หรือ Functional Ingredients ซึ่งสามารถนำมาใช้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ฟิวเจอร์ฟู้ดเพื่อส่งออกไปยังตลาดอื่นทั่วโลก แม้สหรัฐฯ จะยังไม่ใช่ตลาดใหญ่ของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ แต่ตลาดนี้มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%

 

ทั้งนี้ ทางฝั่งรัฐบาลไทยควรเร่งสำรวจข้อมูลจากสมาคมการค้าต่างๆ เพื่อหาโอกาสใช้วัตถุดิบสหรัฐฯ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะช่วยเพิ่มน้ำหนักในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ได้อีกทางหนึ่ง

 

“การเจรจาครั้งนี้ ไทยไม่ได้ยื่นข้อเสนอแบบเวียดนามที่พร้อมลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% ทุกประเภท สหรัฐฯ เองก็ให้เหตุผลว่า ต้องการปกป้องเกษตรกรในประเทศ แต่ไทยก็ต้องปกป้องเกษตรกรของตัวเองเช่นกัน ซึ่งเป็นจุดที่ต้องหาความเข้าใจร่วมกัน”

 

หนึ่งในทางเลือกที่อาจใช้ในการเจรจา คือการแลกเปลี่ยนผ่านกลไกอื่น เช่น การปรับลดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) หรือการใช้แนวทางเดียวกับข้อตกลง FTA ที่เคยทำไว้กับประเทศอื่นๆ เพื่อสร้างสมดุลในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ โดยอาจมีโควตานำเข้าแบบจำกัดแนบมาด้วย เช่น อนุญาตให้สหรัฐฯ ส่งออกสินค้าเกษตรเข้ามาได้ในปริมาณจำกัด เพื่อไม่กระทบต่อเกษตรกรไทย

 

โอกาสน้อยมากที่ไทยจะลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% ทั้งหมด

 

วิศิษฐ์กล่าวต่อไปว่า ความเป็นไปได้ที่ไทยจะลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% ทั้งหมดนั้นยังต่ำมาก และแม้เวียดนามจะดูเหมือนทำได้ แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่าลดจริงหรือไม่ และมักมีเงื่อนไขพ่วงอย่างโควตาการนำเข้าเสมอ

 

เช่น การลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ ให้เหลือ 0% แต่จะส่งสินค้าประเภทนี้มาได้แค่จำนวน 1 ล้านตันเท่านั้น ซึ่งก็คือไม่ว่าประเทศไหนก็ต้องเลือกไม่ให้กระทบกับเกษตรกรในประเทศอยู่แล้ว

 

“ท้ายที่สุด ไทยยังมีความหวังว่าอัตราภาษีส่งออกไปสหรัฐฯ อาจต่ำกว่าที่ประกาศไว้ 36% แต่ถ้ายังเป็น 36% ไทยจะแข่งขันกับประเทศอื่นลำบาก โดยเฉพาะประเทศคู่แข่งทางการค้าที่ได้รับอัตราภาษีส่งออกสหรัฐฯ ต่ำกว่าไทย” วิศิษฐ์ระบุ

 

SNNP หวั่นระยะยาวไทยเสี่ยงเสียฐานการผลิตให้เวียดนาม

 

ขณะที่ วิโรจน์ วชิรเดชกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจในประเทศ บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง หรือ SNNP กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า บริษัทส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ด้วยสัดส่วนที่น้อยมาก หรือราว 1% จึงไม่ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีดังกล่าว 

 

แต่ถ้าสุดท้ายแล้วอัตราภาษีส่งออกสหรัฐฯ สูงกว่าประเทศคู่แข่งทางการค้า จะทำให้ไทยเสียเปรียบในแง่ของการแข่งขันและจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโตได้ช้าลง จากนั้นกำลังซื้อจากที่ลดลงไปแล้วยิ่งจะลำบากกันมากขึ้น โดยเฉพาะรากหญ้า 

 

วิโรจน์ วชิรเดชกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจในประเทศ บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง 

 

ขณะเดียวกันระยะยาวไทยจะลำบาก เพราะบางอุตสาหกรรมอาจย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนามที่เจออัตราภาษีแค่ 20% ยิ่งไปกว่านั้นเวียดนามยังมีความได้เปรียบของจำนวนประชากรแรงงานวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก ต่างจากไทยที่มีแต่สูงวัย ทำให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนอย่างมาก

 

สำหรับศรีนานาพร ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาได้เข้าไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มในเวียดนาม เน้นผลิตและส่งออกไปยังประเทศในแถบอาเซียน รวมถึงจีน แต่เมื่อเวียดนามได้อัตราภาษีส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ในระดับแค่ 20% ก็ถือว่าเป็นสัญญาณบวกให้กับบริษัทในการขยับขยายธุรกิจในอนาคต

 

จากเสียงสะท้อนทั้งหมดเป็นที่ชัดเจนว่า กำแพงภาษี 36% เป็นมากกว่าตัวเลข แต่คือบททดสอบครั้งสำคัญของเศรษฐกิจไทย ทุกสายตาจึงจับจ้องไปยังผลการเจรจารอบสุดท้ายอย่างใกล้ชิด เพราะผลลัพธ์ที่จะออกมา ไม่เพียงแต่จะชี้ชะตาความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในภูมิภาค แต่ยังเป็นตัวกำหนดทิศทางและอนาคตของฐานการผลิตไทยในทศวรรษข้างหน้านี้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising