×

ถอดรหัสความสำเร็จจากยุค 90 สู่ T-Pop กับการก้าวกระโดดของวงการเพลงไทยบนเวทีโลก

26.11.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ยุค 90 ยุคทองของเพลงไทย เป็นช่วงที่ศิลปิน ธงไชย แมคอินไตย์ และ ทาทา ยัง สร้างยอดขายอัลบั้มถึงหลักล้านอัลบั้มภายในเวลาไม่กี่เดือน และมีความแรร์ไอเท็ม ไม่ได้เห็นโชว์ได้ง่ายๆ ทำให้แฟนคลับคลั่งไคล้ศิลปินมาก
  • เส้นทางเพลงไทยจากอดีตเริ่มถูกเรียกว่า T-Pop ในปัจจุบัน โดยความสำเร็จส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศ และการจะออกไปโตในต่างประเทศก็เต็มไปด้วยความลำบาก เพราะแบรนดิ้งยังไม่แข็งแรงและไร้การสนับสนุนจากรัฐบาล
  • ปัจจุบันอุตสาหกรรมเพลงไทยมีมูลค่ากว่า 3,525 ล้านบาท โตขึ้นทุกปี มีค่ายเพลงใหม่เกิดขึ้นเต็มไปหมด แต่จะปั้นศิลปินให้ดังสู่เวทีโลกได้นั้นไม่ง่าย ค่ายต้องบริหารให้เก่งและมีเงินทุนจำนวนมาก

วันนี้วงการเพลง T-Pop เติบโตแบบก้าวกระโดด ฟังเสียงสะท้อนจากผู้บริหารค่ายเพลงว่า กว่าจะปลูกปั้นศิลปินให้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับจากฐานแฟนคลับยากแค่ไหน พร้อมวาดฝันนำพา T-Pop ไทยออกไปโตต่างประเทศ

 

จริงๆ แล้วกระแส T-Pop ในไทยเริ่มแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีนี้ เริ่มมาจากความโด่งดัง ของวงไอดอล BNK48 จากนั้นก็ตามมาด้วย 4EVE, PiXXiE, Pretzelle และอีกหลายวง วันนี้ THE STANDARD WEALTH พาล้วงลึกเส้นทางความสำเร็จจากยุค 90 สู่ยุค T-Pop ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดพร้อมบุกเวทีโลก ฟังจากปากผู้บริหารค่ายเพลงที่ปลูกปั้นศิลปินมาแล้วมากมาย

 

ชลากรณ์ ปัญญาโฉม เจ้าของค่ายเพลง XOXO Entertainment ฉายภาพว่า อุตสาหกรรมเพลงไทย ถ้าย้อนไปในช่วงยุค 90 ถือเป็นยุคทองของวงการเพลงป๊อปไทย ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ดีมากๆ ของการขายเทป ศิลปินที่มีชื่อเสียงจะขายเทปได้ประมาณ ​5 แสน – 1 ล้านตลับ เฉลี่ยราคาตลับละ 80 บาท

 

 

จากนั้นเริ่มเข้าสู่ช่วงของ CD ปลายๆ ยุค 90 ค่ายเพลงและศิลปินเริ่มมาเหนื่อยกันในช่วง MP3 เนื่องจากปกติการโปรโมตเพลงจะค่อยๆ เปิดตัวทีละเพลง แต่พอมี MP3 เราอัด CD แจกกัน หนึ่งแผ่นมี 100 เพลง รายได้ของคนทำเพลงก็หายไปกว่า 80% 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

แล้วมากระเตื้องขึ้นในช่วงปี 2005-2006 ยุคริงโทนเสียงรอสาย หลังจากนั้นอุตสาหกรรมก็เปลี่ยนรูปแบบไปเลย ถ้าเทียบกับก่อนปี 2000 รายได้ส่วนใหญ่ของค่ายเพลงมาจากการขายอัลบั้ม ก็เปลี่ยนมาเป็นแบบขายโชว์ ส่วนใหญ่ก็จะไปกับงานกลางคืนและงานเฟสติวัล แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าทุกวงจะทำได้

 

เมื่อมาในปี 2015-2020 ดีขึ้นจากการมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเข้ามา ทำให้มีรายได้จากลิขสิทธิ์ เปิดโอกาสให้ศิลปินทำเพลงกันเองได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องอาศัยค่ายเพลง พอสตรีมมิ่งคึกคักขึ้น ค่ายเพลงและศิลปินอิสระมากขึ้น ตลาดก็โตขึ้นเพราะคนทำเพลงกันง่ายจากช่องทางของตัวเอง

 

เพียงแต่ว่าโดยสัดส่วนรายได้จากสตรีมมิ่งเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมดนตรี T-Pop ยังน้อยอยู่มาก อย่างวงที่เหมาะกับผับบาร์ เฟสติวัล ยังเน้นงานแบบนั้นเพื่อหารายได้หลักผสมสตรีมมิ่งไป แต่ศิลปินที่เน้นสตรีมมิ่งเป็นหลักก็จะเป็นอีกแบบ

 

เมื่อเจาะลึกมาดูในแง่ของภาพรวมอุตสาหกรรมโลก จะเห็นว่าค่ายเพลงทั้งในไทยและต่างประเทศเริ่มสะสมเพลงไว้จำนวนมาก และก็ไปเก็บรายได้จากสตรีมมิ่ง ในส่วนนี้จะเป็นแหล่งรายได้ในอนาคต เท่าที่เห็นอุตสาหกรรมเพลงในญี่ปุ่นและเกาหลียังแข็งแรงและทำได้ดี ยกตัวอย่างเราทำเพลง 1 เพลงในสตรีมมิ่ง ต้องได้ยอดวิวหลักล้านถึงได้เงิน 1-3 หมื่นบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับศิลปินด้วย

 

ขณะที่เทปถ้าขาย 10 เพลง 3 แสนตลับ ก็ได้ 24 ล้านบาทแล้ว เห็นความแตกต่างชัดมาก ยิ่งในปัจจุบันต้นทุนในการทำเพลงแพงกว่าแต่ก่อนมากด้วย ดังนั้นศิลปินทุกวันนี้จึงพุ่งไปที่แฟนคลับ

 

ประเมินปี 2025 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของอุตสาหกรรม T-Pop

 

ในแง่ภาพรวม T-Pop ปัจจุบันเป็นที่รู้จักแล้วไม่ว่าคนจะนิยามไว้แบบไหนก็ตาม และเป็นที่จับตามากโดยเฉพาะตลาดในประเทศเริ่มกลับมาคึกคักขึ้น หากสังเกตจะเห็นว่างานคอนเสิร์ตและเฟสติวัลมีเพิ่มขึ้น ดนตรีหลากหลาย และศิลปินมีจำนวนมากขึ้น มีฐานแฟนคลับแบ่งๆ กันไป และศิลปินในต่างประเทศอย่าง เกาหลี, ฝรั่ง, ญี่ปุ่น และจีน ก็อยากเข้ามา

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าในปี 2025 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญว่าค่ายเพลงจะไปนอกประเทศกันแบบแข็งแรงและต่อเนื่องกันได้หรือไม่ ในแง่โกลบอลมันต้องมีความต่อเนื่องของการทำให้คนทั้งโลกเห็นเพลงและศิลปิน T-Pop ไม่อย่างนั้นมันจะหายไป เพราะในแง่ของคุณภาพศิลปินไทยมีมากพอที่จะออกไปแข่งบนเวทีโลกได้แล้ว ก็จะมีปัญหาแค่สเกลของเม็ดเงินในการทำมิวสิกวิดีโอ แต่ในเรื่องการทำดนตรีความต่างแทบไม่มากแล้ว

 

เป็นโจทย์ใหญ่ของค่ายเพลงต้องบริหารจัดการดีๆ วางแผนว่าจะพาศิลปินไปโตทั้งในประเทศ และออกไปต่างประเทศได้อย่างไร ส่วนศิลปินก็ต้องออกแรงกันมากขึ้น เพราะดูรวมๆ แค่คอนเสิร์ตอย่างน้อยน่าจะมีแค่ครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินที่ออกไปต่างประเทศ เราต้องทำให้คนในประเทศรักและต่างประเทศก็ต้องรักด้วย

 

จะปั้นศิลปินคนหนึ่งให้ดังได้ ไม่มีสูตรสำเร็จอะไรเลย

 

จริงๆ ต้องบอกว่าอุตสาหกรรม T-Pop ไม่มีสูตรสำเร็จ ความยากของศิลปินกลุ่มกับเดี่ยวต่างกัน ยกตัวอย่าง อิ้งค์ วรันธร ใช้เวลามากว่า 10 ปี ค่อยๆ ทำสะสมกันมาจนเริ่มได้รับการตอบรับจากฐานแฟนคลับ ลองนึกภาพการยืนอยู่คนเดียวแล้วต้องดึงคนดูจำนวนมากๆ ก็ท้าทายมาก

 

ส่วนศิลปินที่อยู่เป็นกลุ่มจะยากเรื่องจำนวน การบริหารจัดการยากขึ้น ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น และในแง่ค่ายเพลงไทยตอนนี้ส่วนใหญ่จะรู้ว่าต้องบริหารจัดการศิลปินในค่าย และมองหาวิธีไปตลาดต่างประเทศ จะไปรูปแบบไหนได้บ้าง ให้เหมือนกับที่ศิลปินต่างประเทศมาบ้านเรา

 

เช่นเดียวกับค่ายเพลง XOXO Entertainment ถึงวันนี้ทำเพลงมา 3 ปีแล้ว ยังไม่ถือว่าใหญ่มาก ปัจจุบันมีศิลปิน 3-4 กลุ่ม และมีวงที่เป็นที่รู้จักมีชื่อเสียงมากๆ อยู่ 2 วง ในปีหน้าจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง เพราะเรามีแผนจะปลูกปั้นศิลปินเพิ่มขึ้น และพยายามทำให้ศิลปินมีงานและมีรายได้ที่ดี

 

ไทยต้องแก้โจทย์จำกัดโควตาการเข้ามาของศิลปินต่างชาติ

 

แถวๆ ประเทศใกล้เคียงไทยเปิดรับศิลปินต่างชาติมากขึ้น เพียงแต่ยังไปไม่ได้ไกลเหมือนที่เกาหลีทำกัน ทั้งนี้ เวลาศิลปินเกาหลีมาบ้านเรา ถ้าดูเม็ดเงินดีๆ กลุ่มคนดูจ่ายกันมากพอสมควร ซึ่งก็ยอมรับได้เพราะด้วยตัวศิลปินและโปรดักชันก็ถือว่าดี แต่จะให้จ่ายบ่อยๆ ก็คงไม่ได้ไหวขนาดนั้น

 

จริงๆ เป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของวงการ เนื่องจากประเทศไทยเราไม่มีระบบโควตาเหมือนประเทศอื่นๆ ที่จำกัดการจัดงานดนตรีและภาพยนตร์ โดยศิลปินจากต่างประเทศจะกำหนดไว้เลยว่าใน 1 ปีสามารถจัดคอนเสิร์ตได้กี่ครั้ง แม้ไม่ได้ห้ามสุดโต่งแต่มีเปอร์เซ็นต์คุมไว้

 

แต่ถ้าประเทศไทยมีการแก้โจทย์เรื่องนี้จะดีมาก เพราะปัจจุบันสถานที่จัดคอนเสิร์ตบ้านเราไม่ได้มีมากพอ เมื่อถูกจองโดยคอนเสิร์ตต่างชาติไปเกินครึ่ง ศิลปินไทยก็ไม่เหลือสถานที่จัดงานแล้ว 

 

สิ่งที่ตามมาคือราคาพื้นที่ก็จะปรับขึ้นตามความต้องการของตลาด ต้นทุนสูงขึ้น ก็กระทบผู้จัดในประเทศ ที่ผ่านมาวงการเพลงมีพูดคุยกันเรื่องนี้ แต่เราไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ สิ่งที่ทำได้คือต้องดูแลค่ายเพลงตัวเองให้ดี

 

ศิลปินยุค 90 มีความเป็นแรร์ไอเท็ม ทำแฟนคลับคลั่งไคล้กว่ายุคปัจจุบัน

 

หทัย ศราวุฒิไพบูลย์ Executive Vice President-Idol Label ผู้รับผิดชอบดูแลค่าย G’NEST และ YGMM ในเครือ GMM Music แสดงความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ถ้าให้เทียบกระแสความดังของเพลง T-Pop ยุค 90 และในปัจจุบันต่างกัน แต่ก่อนยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ศิลปินจะมีความเป็นแรร์ไอเท็ม ไม่ใช่ว่าเราจะพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ต้องเฝ้าดูศิลปินเหล่านี้บนเวทีเท่านั้น ทำให้คุณค่าการรอคอยยิ่งทวีคูณมากขึ้น และทำให้คนกระหายอยากออกไปดูคอนเสิร์ตและอีเวนต์กัน

 

แต่ปัจจุบันช่องทางโซเชียลมีเดียหลากหลายขึ้น ทำให้เข้าถึงตัวศิลปินง่าย ด้วยการติดตามผ่านช่องทางโซเชียลของศิลปินที่ชื่นชอบ ที่ต่างกันอีกก็คือระบบการเทรนนิ่ง และการพัฒนาศิลปินปัจจุบันมีความเป็นสากลมากขึ้น 

 

 

หากย้อนกลับไปที่ผ่านมาในตลาดเมืองไทย ถ้าพูดถึงยุค 90 จะมีศิลปินเป็นวง และแนวทางของเทรนด์ สไตล์การเต้นยังเป็นแบบไทยคัลเจอร์อยู่ เต้นขยับตัว มีท่านิดหน่อย หลังยุคเริ่มมี Boy Group และ Girl Group แล้วการพัฒนาศิลปินยังไม่ได้มาตรฐานที่เป็นโกลบอลมากนัก แต่พอข้ามมาสู่ยุคการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย Boy Group และ Girl Group เริ่มมีมาตรฐานกันแล้ว 

 

ยกตัวอย่างสิ่งที่ GRAMMY ทำ บริษัทมีระบบการเทรนด์ศิลปินเหมือนนักกีฬา เรามองว่านี่คืออาชีพ แล้วสิ่งที่เด็กฝึกต้องทำเวลาแสดงคือต้องขึ้นไปทั้งร้องและเต้นได้ ต้องฝึกควบคุมสติ เอ็นเตอร์เทนคนดูตั้งแต่ช่วงที่เริ่มแสดง ต้องซ้อมจนร่างกายจำได้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ต้องทำในชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ และมันคือการเทรนสู่การเป็นศิลปินแบบมืออาชีพ

 

ปัจจุบันตลาด T-Pop ขยายตัวและมีฐานแฟนคลับเข้ามาสนับสนุนศิลปิน ที่เห็นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยเป็นหลัก

 

เปิด Key Success ของ T-Pop

 

มองว่า T-Pop ไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก เหมือนคลื่นที่กำลังขึ้น เราอยากเห็นทุกๆ งานคอนเสิร์ตที่เกิดขึ้นในไทยกลายเป็นคัลเจอร์ของศิลปินไทยไปเลย ทั้งหมดล้วนต้องมาจากการสนับสนุนของแฟนเพลง สปอนเซอร์ และหน่วยงานภาครัฐ สามารถทำให้เป็นระบบเดียวกันได้

 

ส่วน Key Success ที่ทำให้ T-Pop ประสบความสำเร็จหลักๆ เลยประกอบไปด้วย 1. ความสามารถพิเศษของศิลปิน 2. คุณภาพของงานส่วนโปรดักชัน และ 3. การฝึกเทรนนิ่ง จะทำให้ T-Pop สร้างความแตกต่างและแข็งแรงขึ้นมาได้ สิ่งสำคัญคือวินัย ถึงแม้จะเดบิวต์ไปแล้วแต่ยังต้องฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง

 

การบริหารค่ายเพลง ศิลปิน และเงินลงทุน ล้วนเป็นความท้าทาย

 

ถ้าพูดถึงการแข่งขันอาจไม่ใช่สิ่งที่ท้าทายเหมือนเดิมแล้ว แต่สิ่งที่ท้าทายมากเป็นเรื่องของการบริหารจัดการค่ายเพลงและศิลปินมากกว่า โฟกัสในสิ่งที่สามารถควบคุมได้และหาวิธีสร้างการเติบโต ทำให้ที่ผ่านมา GRAMMY เปิดโอกาสในการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อพัฒนาการทำงานให้เป็นสากลมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม GRAMMY จะเปิดออดิชันศิลปินใหม่ในทุกๆ ปี สุดท้ายแล้วสิ่งที่จะทำให้ T-Pop มีศักยภาพไปได้ไกลคือระบบการเทรนนิ่งซึ่งต้องใช้เวลานานมากและเม็ดเงินลงทุนสูง และการลงทุนกับการเทรนนิ่งไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เราลงไปจะได้กลับมา เพราะระหว่างทางอาจมีเด็กฝึกที่ไม่ผ่านด้วยเหตุผลต่างๆ ดังนั้นถ้าเราจะทำให้ T-Pop แข็งแรงได้จริงๆ ตลาดจะต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายส่วน โดยเฉพาะภาครัฐต้องจัดอีเวนต์ใหญ่พาศิลปินออกไปโชว์ความสามารถให้คนทั้งโลกได้เห็น

 

อนาคต T-Pop จะโตอย่างแข็งแกร่งและพร้อมออกไปบนเวทีโลกได้แน่

 

โดม-จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม ผู้บริหารค่ายเพลง LIT Entertainment กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้วในตลาดแมสอาจยังนึกภาพไม่ออกว่าเพลง T-Pop หน้าตาเป็นอย่างไร และคนในวงการอย่างค่ายเพลงมองว่าจะทำให้คนรู้จักได้ต้องใช้เวลา จนถึงปัจจุบันไม่คาดคิดว่าอุตสาหกรรมเพลง T-Pop จะเฟื่องฟูและโตได้เร็วขนาดนี้

 

ปัจจัยส่วนใหญ่มาจากค่ายเพลงและศิลปินขยับตัวพร้อมกันทั้งตลาด กระแสจึงแรงขึ้นและก้าวกระโดดขึ้นมากๆ เพราะถ้าย้อนกลับไปในแง่ของการขายหรือโฆษณาต่างๆ ลูกค้าที่จะใช้จ่ายเงินในการซื้อตัวศิลปินหรือซื้อความเป็น T-Pop ต่างจากช่วงเริ่มต้นที่ยังเห็นไม่มากนัก

 

 

ก่อนหน้านี้อาจไม่เชื่อในความเป็นแบรนดิ้งของ T-Pop แต่ทุกวันนี้เหมือนทุกคนให้ความสนใจและเชื่อว่าจริงๆ แล้วศิลปิน T-Pop รุ่นใหม่ๆ ทำได้และเกิดเป็นเทรนด์ขึ้นมา แต่กว่าจะเติบโตขึ้นมาได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นเพลงประเภทไหนก็ตาม หัวใจสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างสำเร็จได้คือคุณภาพของงาน ที่ทั้งตัวค่ายและศิลปินต้องทุ่มเทและพยายามพัฒนาตัวเอง หาเส้นทางใหม่ๆ ออกมาพิสูจน์ตัวตนอย่างต่อเนื่อง จากนั้นผลตอบรับที่ดีก็จะตามเอง

 

อย่างไรก็ดี อาจมีหลายปัจจัยที่ทำให้งานสำเร็จได้คือเรื่องของเม็ดเงินและเวลา กว่างานหนึ่งโปรเจกต์จะออกมาสมบูรณ์ได้มีองค์ประกอบหลายๆ อย่าง แต่สุดท้ายแล้วถ้าจะให้รู้สึกว่าสำเร็จแค่ไหน หรืออนาคตจะโตแค่ไหน ขึ้นอยู่ที่เราใส่ใจกับคุณภาพงานด้วย

 

ผู้บริหารค่ายเพลง LIT Entertainment กล่าวต่อว่า ความท้าทายในวงการเพลง T-Pop คือ ทุกค่ายเพลงพยายามงัด The Best ของตัวเองออกมา แปลว่าในแง่ของคนทำงานและศิลปินจะหยุดพัฒนาตัวเองไม่ได้ หรือเรียกง่ายๆ ว่าอย่าหยุดนิ่ง เพราะจะมีคนวิ่งแซงเราอยู่ตลอดเวลา

 

ส่วนในมุมของการปลูกปั้นศิลปินก็ค่อนข้างจะใช้เวลา ความยากและความง่ายก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความสามารถของศิลปิน ทั้งหมดต้องใช้ทั้งเงินลงทุนและเวลาจนกว่าจะได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่วางไว้ ในอนาคตเราคาดหวังว่า T-Pop จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และพร้อมที่จะเติบโตไปในระดับโลกได้แน่นอน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising