ภายในเวลาเพียง 3 วัน มูลค่าของ บมจ.อาร์เอส (RS) หายไปกว่า 66% จากเกือบ 1.2 หมื่นล้านบาท ลงมาเหลือไม่ถึง 4 พันล้านบาท จากปัญหาด้านเครดิตและความน่าเชื่อของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนแทบหมดสิ้น
หลายคนอาจมีคำถามในใจว่าทำไมประเด็นที่ผู้บริหารของหุ้นไทยนำหุ้นไปจำนำ หรือแม้แต่การนำหุ้นไปเป็นหลักประกันบัญชีมาร์จิ้น หรือการถูกบังคับขายหุ้น (Forced Sell) ถึงมีออกมาให้เห็นต่อเนื่องในระยะหลัง
เช่นกรณีของหุ้นอย่าง YGG, WARRIX, EA, SCM หรือ THG แม้รายละเอียดของแต่ละกรณีอาจไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมีที่มาคล้ายกับสำนวนที่เรียกว่า ‘น้ำลดตอผุด’
แหล่งข่าววงการตลาดทุนบอกว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาลักษณะนี้กับผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนขึ้นต่อเนื่อง เป็นเพราะตลาดหุ้นไทยที่ร่วงลงมาต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และราคาหุ้นหลายตัวก็ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ผลที่ตามมาคือ มูลค่าของหลักประกัน ซึ่งก็คือหุ้นเหล่านี้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเจ้าหนี้ต้องเรียกหลักประกันเพิ่มเติม และเมื่อไม่สามารถเติมหลักประกันเข้าไปได้ ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่เหล่านี้ก็จะถูกบังคับขายหุ้นออกมา ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในกระดานและความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
แต่ผลกระทบไม่ได้จบเพียงแค่นั้น ความน่าเชื่อถือของผู้บริหารยังส่งผลกระทบต่อเครดิตของบริษัทอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทำให้บางบริษัทต้องประสบกับปัญหาสภาพคล่องตามไปด้วย และกลายเป็นว่าผู้ถือหุ้นทั้งหมดได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน
เฮียฮ้อจำนำหุ้น RS
ในกรณีของ RS มีกระแสข่าวว่า เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ซึ่งถือหุ้น RS อันดับ 1 ในสัดส่วน 22.32% หรือ 487 ล้านหุ้น นำหุ้นไปจำนำเพื่อแลกกับวงเงินกู้
แหล่งข่าวระดับสูงในตลาดทุนเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัญหาของหุ้น RS เป็นปัญหาส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่คือเฮียฮ้อ ที่นำหุ้น RS ไปใช้ค้ำประกันเงินกู้ส่วนตัว คาดว่าอาจมีวงเงินสูงถึง 4-5 พันล้านบาท ก่อนหน้านี้ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ย 12% คิดเป็นดอกเบี้ย 400 ล้านบาทต่อปี เพื่อนำมาใช้ส่วนตัว รวมถึงใช้ซื้อขายหุ้นบัญชี Margin Loan รวมทั้งลงทุนในตลาด TFEX
โดยการทำธุรกรรมจำนำหุ้นนั้น โดยทั่วไปจะมีนายหน้าที่เป็นบุคคลที่ทำหน้าติดต่อเสนอในการจัดหาเงินกู้ให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งที่ผ่านมานายหน้าบุคคลดังกล่าวดำเนินการในลักษณะนี้มาแล้วกับผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บจ. อื่นๆ โดยเป็นตัวกลางในการติดต่อเพื่อขอกู้เงินจากโบรกเกอร์
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของเฮียฮ้อ เบื้องต้นเท่าที่มีข้อมูล มีการกู้เงินจากโบรกเกอร์ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดาโอ (ประเทศไทย)
“ปัญหาของเฮียฮ้อเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับบริษัทอาร์เอส เกิดจากการนำหุ้น RS ไปใช้ค้ำประกันเงินกู้ด้วยดอกเบี้ยที่สูงถึง 12% จากวงเงินกู้ 4-5 พันล้านบาท เพื่อนำมาใช้ทำทุกอย่าง ซื้อขายหุ้นผ่าน Margin Loan มีการใช้ Single Stock เพื่อประคองหุ้น RS พอหุ้นไม่ขึ้นก็ไม่มีเงินหมุนต่อ ถึงจุดหนึ่งก็จ่ายไม่ไหว เลยต้องยอมให้โบรกเกอร์ยึดหุ้น RS ที่นำไปค้ำประกัน ซึ่งจะเห็นว่า บล.ดาโอ มีชื่อติดผู้ถือหุ้นใหญ่ใน RS มาจากการยึดหลักประกัน”
ผู้บริหาร บจ. จำนำหุ้น ผิดหรือไม่?
หลังจากเกิดปัญหาขึ้นกับหลายบริษัทจดทะเบียน หลายคนอาจมีคำถามว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้หรือไม่
รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมายและบริหารกิจกรรมเพื่อสังคม หัวหน้ากลุ่มงานกฎหมายและวินัย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกว่า การจำนำหุ้นที่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวเป็นสิทธิของผู้บริหารที่สามารถทำได้
แต่เมื่อเป็นผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนที่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วกระทบต่อผู้ลงทุนในวงกว้าง ซึ่งเป็นปัญหาที่เรามองเห็นอยู่และกำลังพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
หนึ่งในแนวทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคือ การเปิดเผยข้อมูลผู้บริหารที่นำหุ้นของตัวเองไปจำนำ เพื่อให้ผู้ลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน
ล่าสุด RS แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า จากการตรวจสอบของบริษัทฯ พบว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากธุรกรรมการเงินส่วนบุคคลของผู้บริหาร ซึ่งใช้หุ้นจำนวนหนึ่งเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสำหรับธุรกรรมทางการเงินส่วนบุคคล เมื่อราคาหุ้นปรับลดลง จึงเกิดการขายหลักทรัพย์ตามเงื่อนไข (Forced Sell) ขณะที่อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอกและกลไกตลาด
บริษัทขอยืนยันว่าธุรกรรมดังกล่าวที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน และสถานะการเงินของบริษัท รวมทั้งไม่มีปัจจัยภายในที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และบริษัทยังเดินหน้าไปตามวิสัยทัศน์และแผนกลยุทธ์ที่วางไว้
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของเสถียรภาพในการบริหารและความมั่นคงของบริษัท และอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อออกมาตรการและทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการตามหลักธรรมาภิบาล รวมถึงการปรับปรุงนโยบายบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันและเหตุการณ์อื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในอนาคต
นอกจากนี้ข้อมูลแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของผู้บริหาร (แบบ 59) พบว่า เฮียฮ้อขายหุ้น RSXYZ หรือ กิฟท์ อินฟินิท ซึ่งเป็นหุ้นอีกหนึ่งตัวที่ถืออยู่ โดยขายออกมาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 จำนวน 272,100 หุ้น ที่ราคา 0.87 บาท คิดเป็นมูลค่า 236,727 บาท โดยราคาหุ้นของ RSXYZ หรือเดิมคือ GIFT ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากจุดสูงสุดที่ 6.15 บาท เมื่อเดือนมีนาคม 2567 มาต่ำสุดที่ 0.80 บาท ส่วนราคาหุ้น RS ในอดีตเคยพุ่งขึ้นไปถึงประมาณ 16 บาทเมื่อปี 2561 ก่อนจะลดลงมาอยู่ที่เพียง 1.81 บาทในปัจจุบัน
ในมุมของผู้ลงทุน เชื่อว่าคงไม่อยากจะเห็นหุ้นที่ถือครองเผชิญกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้ และในอนาคตนอกจากการพิจารณาปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจของบริษัทแล้ว การลงทุนในหุ้นตัวใดก็อาจต้องพิจารณาผู้บริหารที่มุ่งทำธุรกิจเป็นหลัก เพื่อป้องกันความเสี่ยงในลักษณะนี้