วันที่ 23 มกราคม 2568 เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่บังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นประเทศแรกในอาเซียนและประเทศที่ 3 ในเอเชีย และไทยจะกลายเป็นชาติที่ 38 ของโลกที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ในมุมของเศรษฐกิจกับธุรกิจ ‘สมรสเท่าเทียม’ จะมีผลมากหรือน้อยแค่ไหน
โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทย นอกจากจะช่วยยกระดับด้านความเท่าเทียมทางเพศของไทยแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะกับธุรกิจบริการในหลายสาขา
ทั้งนี้ จากการศึกษาของ Williams Institute สถาบันด้านการวิจัยในสหรัฐอเมริกา พบว่าภายหลังที่สหรัฐฯ บังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมทั่วประเทศในช่วงปี 2558-2562 สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นถึง 45,000 ราย
เจาะโอกาสธุรกิจได้อานิสงส์ ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’
ธุรกิจบริการที่จะมีโอกาสเติบโตจากการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีหลากหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่งงาน เช่น ธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพ ธุรกิจเช่าชุดแต่งงาน สิทธิในการสมรสจะช่วยเพิ่มความต้องการในการจัดงานเฉลิมฉลองการแต่งงานมากขึ้น
Wonders & Weddings บริษัทให้บริการจัดงานแต่งงานของไทยคาดการณ์ว่ายอดจองการจัดงานแต่งงานจะเพิ่มมากขึ้น โดยการจองจัดงานแต่งงานของกลุ่ม LGBTQIA+ จะคิดเป็น 25% จากยอดจองทั้งหมด การจัดงานแต่งงานถือเป็นการฉลองก้าวสำคัญ (Milestone) ในชีวิตของหลายคน ซึ่งกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศก็ต้องการเฉลิมฉลองช่วงเวลาสำคัญนี้เช่นกัน
บรรยากาศของคู่สมรสที่มาจดทะเบียนสมรสในวันที่ 23 มกราคม 2568 เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่บังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ
โดยจากข้อมูลของ Ipsos ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านตลาดข้ามชาติ ให้ข้อมูลว่าประชากร 9% ของไทยระบุตนเองว่าเป็นกลุ่ม LGBTQIA+ ซึ่งความต้องการในการจัดงานเฉลิมฉลองที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่งงานเติบโตอย่างมาก
ทั้งนี้ เพื่อคว้าโอกาสจากการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ไทยควรผลักดันในการเป็นศูนย์กลางการจัดงานแต่งงานของทุกเพศสภาพในเอเชีย เนื่องจากความพร้อมในด้านกฎหมาย ความเป็นเลิศในด้านการจัดงานและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องของไทย และการมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งทางด้านธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นสถานที่สำหรับการจัดงานแต่งงานและฮันนีมูน ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับไทยเป็นอย่างมาก
แนะภาครัฐอำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติ
หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทยครอบคลุมถึงการอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถจดทะเบียนสมรสได้ ภาครัฐต้องคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกในด้านการจดทะเบียนสมรส โดยเฉพาะในเรื่องเอกสาร วีซ่า ระยะเวลาในการดำเนินการ และสนับสนุนให้ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องในการจัดงานแต่งงานมีมาตรฐานและคุณภาพ เพื่อสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ดีให้กับคู่รักต่างชาติ เพื่อที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ไทยเป็นจุดหมายยอดนิยมของคู่รัก LGBTQIA+ ทั่วโลกในการแต่งงาน
สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหาร การมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQIA+ ในการเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยที่เป็นจุดหมายการเดินทางที่เป็นมิตร โดยข้อมูลจาก World Travel & Tourism Council ระบุว่า สัดส่วนของกลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ คิดเป็น 10% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คิดเป็น 16% ของค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 1.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ถือว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง ชอบเดินทางท่องเที่ยว สัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลาย ดังนั้นการมีกฎหมายที่รองรับและสภาพสังคมที่เป็นมิตรจะแสดงถึงการยอมรับและให้เกียรติกลุ่ม LGBTQIA+ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้รู้สึกปลอดภัยและสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น
บรรยากาศงาน Pride Month ที่จัดขึ้นในประเทศไทย
หนุนธุรกิจประกันภัย-การเงินโตเด่น
ธุรกิจประกันภัยและธุรกิจบริการทางการเงินเป็นอีกธุรกิจบริการที่จะเติบโตมากขึ้น กฎหมายสมรสเท่าเทียมสนับสนุนให้คู่รักหลากหลายเพศได้รับสิทธิในการดูแลชีวิตของคู่รัก สิทธิในการดูแลจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส การเป็นตัวแทนทางกฎหมาย และการสามารถรับมรดกจากคู่สมรสได้ ทำให้คู่รัก LGBTQIA+ สามารถทำประกันชีวิตให้กันและสามารถเป็นผู้รับผลประโยชน์ หรือสร้างความมั่นคงในฐานะครอบครัว เช่น การกู้เงินเพื่อซื้อบ้านร่วมกัน การถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินร่วมกัน ซึ่งการได้รับการรับรองจากรัฐจะช่วยสร้างความเชื่อถือให้กับธุรกิจประกันภัยและธุรกิจบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตจากความต้องการในการทำประกันภัยหรือการร่วมสร้างครอบครัวหรือธุรกิจร่วมกับคู่รัก
นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจอื่นๆ เฉพาะกลุ่ม เช่น ธุรกิจการให้คำปรึกษาและการวางแผนครอบครัวสำหรับคู่รักหลากหลายเพศ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงและนันทนาการ
โอกาสขยายตลาดซีรีส์วาย
โดยเฉพาะซีรีส์วาย ซึ่งสร้างรายได้ให้กับไทยเป็นอย่างมาก และยังสามารถสอดแทรกวัฒนธรรม สินค้า และบริการ ของไทยได้เป็นอย่างดี ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลก รวมถึงโอกาสในการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกอย่าง World Pride ซึ่งจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในระดับสากล และก่อให้เกิดรายได้ในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องของไทยได้อย่างมหาศาล
กฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้จะมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับไทย และมีส่วนเสริมในการผลักดันเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคบริการให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งกลุ่ม LGBTQIA+ เป็นกลุ่มผู้บริโภคศักยภาพที่มีกำลังซื้อสูง ไทยสามารถใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาภาคบริการของไทย เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่าง และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการไทยผ่านตลาดกลุ่มผู้บริโภค LGBTQIA+ มากขึ้น
Agoda ประเมิน สมรสเท่าเทียมกระตุ้น GDP เพิ่มขึ้น 0.3%
ภาพ: Agoda
ด้าน Agoda ออกรายงานในหัวข้อ ‘ผลกระทบด้านเศรษฐกิจของสมรสเท่าเทียมต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย’ ระบุว่า คาดว่าการประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทยน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ภายในระยะเวลา 2 ปี ดังนี้
- นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 4 ล้านคนต่อปี โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากปกติ
- ผลักดันค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวมากกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท (2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในแต่ละปี
- สนับสนุนงานเทียบเท่าเต็มเวลา (FTE) ภายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จำนวน 76,000 ตำแหน่งงานในแต่ละปี
- กระตุ้น GDP เพิ่มขึ้น 0.3% และสนับสนุนงานเทียบเท่าเต็มเวลาอื่นๆ อีกจำนวน 76,000 ตำแหน่งงานในเศรษฐกิจวงกว้างของไทย
นอกจากนี้ ไทยเป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นดินแดนที่เป็นมิตรสำหรับ ชุมชน LGBTQIA+ ยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนทั่วไป ทำไทยมีจุดยืนในฐานะผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ แนวคิดสมรสเท่าเทียมของไทยในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยเสริมสร้างชื่อประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ คาดว่าจะส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยในฐานะที่เป็นจุดหมายที่เป็นมิตรกับทุกคน เป็นการสร้างโอกาสการท่องเที่ยวสีรุ้ง เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจไทย
ภาพ: Agoda, ณาฌารัฐ ภักดีอาสา / THE STANDARD
อ้างอิง: