ระหว่างการแสดงวิสัยทัศน์และการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน และ เจ.ดี. แวนซ์ คู่ชิงรองประธานาธิบดีของทรัมป์ ต่างแสดงจุดยืนชัดเจนว่าต้องการให้เงิน ‘ดอลลาร์อ่อนค่าลง’ เพื่อสนับสนุนให้การส่งออกของสหรัฐฯ สามารถแข่งขันได้มากขึ้น และทำให้ภาคการผลิตในท้องถิ่นแข็งแกร่งขึ้น
โดยในการให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ระบุว่า ปัญหาใหญ่สุดที่กระทบต่อสหรัฐฯ คือ ‘เงินดอลลาร์ที่แข็งค่า’
“ผมคิดว่าการผลิตเป็นเรื่องใหญ่ และเรามีปัญหาเรื่องสกุลเงิน ดังที่คุณทราบ สกุลเงินตอนที่ผมเป็นประธานาธิบดี ผมต่อสู้อย่างเข้มแข็งและหนักหน่วงกับสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น”
พร้อมทั้งย้ำว่า “ปัญหาเรื่องสกุลเงินเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากความลึกของสกุลเงิน (The depth of the currency) ในขณะนี้ ดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่เงินเยนที่อ่อนค่าและหยวนที่อ่อนค่านั้นมีขนาดใหญ่มาก” ทรัมป์กล่าว
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เงินหยวนและเงินเยนแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบหลายเดือนหรือหลายปีหลายครั้ง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีท่าทีจะชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง
โดยการอ่อนค่าของเงินหยวนหรือเงินเยนทำให้ผู้ส่งออกของจีนและญี่ปุ่นได้ประโยชน์จากราคาสินค้าที่ถูกกว่าคู่แข่ง ทำให้มีรายได้ในรูปของสกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น ขณะเดียวกันการแข็งค่าของดอลลาร์ย่อมทำให้ผู้ส่งออกในสหรัฐฯ เสียประโยชน์จากราคาสินค้าที่แพงกว่าคู่แข่ง
ส่องมูลค่าเงินดอลลาร์ยุคไบเดน vs ทรัมป์ 1.0
ตามข้อมูลจาก TradingView แสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่ โจ ไบเดน ดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม 2021 จนถึงตอนนี้ (23 กรกฎาคม 2024) ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ (DXY) แข็งค่าราว 15.59% จากระดับ 90.23 มาอยู่ที่ราว 104.30
โดย พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การเคลื่อนไหวของดัชนีดอลลาร์ดังกล่าวเป็นผลมาจากช่วงเวลาที่ทรัมป์และไบเดนดำรงตำแหน่ง สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ และรอบดอกเบี้ยของ Fed ค่อนข้างแตกต่างกันอย่างมาก
“ย้อนกลับไปในช่วงปี 2016 เป็นช่วงที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลาดสามารถค่อยๆ รับรู้ได้ (Absorb) และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อนข้างดี เป็นตัวช่วยสนับสนุนดอลลาร์ แต่ช่วงเวลาที่ไบเดนดำรงตำแหน่งเป็นช่วงที่ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง (Aggressive) เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้รอบ (Cycle) ของการขึ้นดอกเบี้ยของทรัมป์และไบเดนค่อนข้างแตกต่างกันอย่างมาก”
ทั้งนี้ ตามหลักการแล้ว เมื่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เงินก็ไหลกลับเข้าไปในสหรัฐฯ โดยข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนของกระแสเงินทุนทั่วโลก (Global Capital Flows) ที่ไหลเข้าสู่สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า สู่ระดับ 41% ในปี 2023 จากระดับ 23% ระหว่างปี 2017-2019
กระนั้นตามรายงาน External Sector Report ของ IMF แสดงให้เห็นว่ากระแสเงินทุน (Capital Flows) ที่ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ในปี 2023 ไม่รวมจีน เพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.1 แสนล้านดอลลาร์ สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2018 (ก่อนโควิด) โดยแนวโน้มนี้น่าจะดำเนินต่อไปหากทรัมป์คว้าชัยเป็นประธานาธิบดีในปีหน้า
ทรัมป์จะทำให้ดอลลาร์อ่อนได้จริงหรือ?
Kevin Muir จาก The Macro Tourist กล่าวว่า “ผมไม่คิดแม้สักนิดเดียวว่าประธานาธิบดีจะไม่สามารถทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงได้” กล่าวคือ “บางครั้งเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สกุลเงินแข็งค่าขึ้น แต่คุณสามารถทำให้สกุลเงินอ่อนค่าลงได้ตลอดเวลาถ้าคุณต้องการจริงๆ”
ในบทความของ John Authers บรรณาธิการอาวุโสด้านการตลาดของ Bloomberg ระบุว่า จนถึงตอนนี้นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์แบ่งออกได้เป็น 5 ประการหลักๆ ได้แก่
- การตั้งกำแพงภาษีศุลกากร
- การลดอัตราดอกเบี้ย
- ดอลลาร์อ่อน
- ขยายการใช้จ่ายทางการคลัง
- การลดอัตราเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี Authers มองว่านโยบาย 4 ข้อแรก ไม่มีข้อใดที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในข้อ 5. ลดลงได้ โดยในแพลตฟอร์มของพรรครีพับลิกันก็แสดงให้เห็นถึงรายการมาตรการต่างๆ (A list of measures) ที่อาจกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อได้ ขณะที่มาตรการด้านภาษีศุลกากรและการขยายการใช้จ่ายทางการคลังก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มอัตราเงินเฟ้อและผลักดันเงินดอลลาร์ให้สูงขึ้นเช่นกัน
สอดคล้องกับ Jonas Goltermann รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์การตลาดจาก Capital Economics ที่กล่าวว่า “ปัญหาของทรัมป์คือเขาต้องการให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง แต่สิ่งที่เขาต้องการทำไม่มากก็น้อยล้วนหมายถึงเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น”
ทรัมป์ชนะ ดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่า ‘มากกว่า’ แฮร์ริสชนะ
สอดคล้องกับพูนที่มองว่าหากฝั่งเดโมแครตชนะ สถานการณ์ต่างๆ อาจไม่ต่างจากการบริหารของไบเดนในปัจจุบัน หรือหากไม่มีนโยบายอะไรมากระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้หวือหวาขึ้น ดอลลาร์ก็จะเคลื่อนไหวตามนโยบายของ Fed เหมือนเดิม
“หากแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง ดอลลาร์ก็มีโอกาสคงที่ (Flat) หรืออ่อนค่าลง ตามวงจรการลดดอกเบี้ยของ Fed และมีโอกาสที่จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน เนื่องจากนโยบายของเดโมแครตไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากนัก (Pro Growth) และไม่ได้มีนโยบายกดดันเศรษฐกิจประเทศอื่นมากเท่าทรัมป์ โดยนโยบายสงครามการค้าของเดโมแครตก็เป็นลักษณะที่เจาะจงมากกว่า จึงไม่ได้มีผลกดดันการค้าโลกหรือเศรษฐกิจอื่นเท่าทรัมป์”
ดังนั้นถ้าเทียบกันแล้วในบริบทระยะ 1-2 ปี หากแฮร์ริสชนะ ดอลลาร์มีโอกาส ‘อ่อนค่า’ ได้มากกว่า
จับตาผลกระทบ Trade War ทุบเศรษฐกิจประเทศอื่น หนุนดอลลาร์แข็ง
พูนยังมองว่าในช่วงแรกหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นในช่วงสั้นๆ แต่สุดท้ายหาก Fed เริ่มลดดอกเบี้ย และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ดูดีขึ้นอย่างโดดเด่น ดอลลาร์ก็จะอ่อนค่าในที่สุด
กระนั้นก็ต้องจับตาดูผลลัพธ์จากการดำเนินนโยบายของทรัมป์ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ มากแค่ไหน โดยหาก Trade War ทรัมป์ 2.0 สร้างผลกระทบเหมือนช่วงปี 2018 ที่ทรัมป์ทำสงครามการค้า (Trade War) จนทำให้เศรษฐกิจประเทศอื่นได้รับผลกระทบมากกว่า ดอลลาร์ก็อาจกลับมาแข็งค่าได้
ตลาดเกิดใหม่จ่อรับอานิสงส์ ยกเว้นบาทไทย
พูนกล่าวอีกว่า ด้วยแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ที่กำลังจะมาถึง จะเป็นผลดีต่อตลาดเกิดใหม่ (EM) และเอเชียอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ตลาดเกิดใหม่และเอเชียก็ยังมีความเสี่ยงอยู่หากทรัมป์ชนะ และสร้างความวุ่นวายให้กับการค้าและเศรษฐกิจเอเชีย
อย่างไรก็ดี เงินบาทของไทยอาจอ่อนไหว หรือมีความเสี่ยงต่อสงครามการค้ามากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากตอนนี้เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง และไม่ได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตจากสงครามการค้ายุคทรัมป์ครั้งที่แล้วเท่ากับประเทศคู่แข่งอื่นๆ
“ย้อนกลับไปช่วงปี 2017-2018 ตอนนั้นหลายที่วิเคราะห์ว่าบริษัทต่างๆ จะย้ายฐานการผลิต (Relocate) มาที่ไทย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เท่าไร แต่ไปเม็กซิโก อินเดีย และประเทศเพื่อนบ้านเราแทน ดังนั้นถ้ามี Trade War รอบใหม่ ไทยอาจไม่ได้ผลประโยชน์มากนัก เหมือนรอบที่ผ่านมา เนื่องจากรอบที่แล้วบริษัทต่างๆ ก็ไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศเหล่านั้นไว้แล้ว” พูนกล่าว
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2024-07-18/trump-s-weak-dollar-clashes-with-inflation-other-economic-priorities?sref=CVqPBMVg
- https://www.nytimes.com/2024/07/16/us/politics/trump-vance-us-dollar.html
- https://www.cnbctv18.com/market/currency/us-dollar-donald-trump-us-election-rupee-sensex-today-gold-price-today-19446306.htm