รูธ ก็อตเทสแมน (Ruth Gottesman) หญิงม่ายวัย 93 ปี อดีตศาสตราจารย์และภรรยาของนักการเงินชื่อดังแห่งวอลล์สตรีท บริจาคเงินจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท) ให้กับวิทยาลัยแพทย์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein College of Medicine) ในเขตบรองซ์ นิวยอร์ก โดยระบุว่าเงินบริจาคนี้จะนำไปใช้เป็นทุนการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ทุกคนตลอดหลักสูตร
การบริจาคครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในการบริจาคเพื่อการศึกษาที่มูลค่าสูงสุดในสหรัฐอเมริกา และน่าจะเป็นครั้งที่มีมูลค่าสูงสุดสำหรับวิทยาลัยการแพทย์โดยเฉพาะ
ทรัพย์สินมหาศาลนี้มาจาก เดวิด ก็อตเทสแมน ผู้ล่วงลับ สามีของรูธ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม ‘แซนดี้’ เขาเป็นลูกศิษย์ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับตำนาน และเป็นผู้ลงทุนยุคบุกเบิกใน Berkshire Hathaway บริษัทโฮลดิ้งที่บัฟเฟตต์ก่อตั้ง
การบริจาคครั้งนี้โดดเด่นทั้งในแง่ของมูลค่าที่สูงมาก และด้วยการมุ่งเป้าไปยังสถาบันการแพทย์ในเขตบรองซ์ ซึ่งเป็นเขตที่ยากจนที่สุดในนิวยอร์กซิตี้ โดยบรองซ์มีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูง และได้รับการจัดอันดับให้เป็นเขตที่สุขภาพของประชากรย่ำแย่ที่สุดในรัฐนิวยอร์ก
ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มหาเศรษฐีจำนวนมากมักบริจาคเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ให้กับวิทยาลัยแพทย์และโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงในแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นเขตที่มั่งคั่งที่สุดของเมือง
ดร.ก็อตเทสแมน ระบุว่า เงินบริจาคของเธอจะช่วยให้แพทย์จบใหม่สามารถเริ่มต้นประกอบวิชาชีพได้โดยไม่ต้องมีภาระหนี้สินจากค่าเล่าเรียนทางการแพทย์ ซึ่งมักจะสูงเกิน 200,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 7 ล้านบาท) นอกจากนี้ เธอยังหวังว่าทุนการศึกษานี้จะเปิดโอกาสการเรียนแพทย์ให้กว้างขึ้น โดยรวมถึงผู้ที่ไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนที่สูงลิ่วได้
ดร.ก็อตเทสแมน มีประวัติการทำงานยาวนานที่วิทยาลัยแพทย์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียง โดยเริ่มงานในปี 1968 ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายจิตวิทยาการศึกษา นอกจากนี้ เธอยังเป็นสมาชิกคณะกรรมการอำนวยการของไอน์สไตน์มาอย่างยาวนาน และดำรงตำแหน่งประธานคนปัจจุบัน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เธอสนิทสนมกับ ดร.ฟิลิป โซอัวร์ กุมารแพทย์ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ดูแลวิทยาลัยแพทย์และโรงพยาบาลในเครือ (Montefiore Medical Center) ความสัมพันธ์และความไว้วางใจนี้มีบทบาทสำคัญเมื่อเธอตัดสินใจว่าจะจัดสรรทรัพย์สินที่สามีทิ้งไว้ให้เธออย่างไร
ในการให้สัมภาษณ์กับ The New York Times เมื่อวันศุกร์ (23 กุมภาพันธ์) ที่วิทยาเขตไอน์สไตน์ในย่านมอร์ริสพาร์ก ดร.โซอัวร์ และ ดร.ก็อตเทสแมน ได้พูดคุยเกี่ยวกับการบริจาค ความเป็นมาเบื้องหลัง และความหมายของทุนการศึกษานี้ต่อนักศึกษาแพทย์ของไอน์สไตน์
จุดเริ่มต้นมิตรภาพ: เที่ยวบินที่เปลี่ยนชีวิต สู่การบริจาคที่เปลี่ยนวงการแพทย์
ในช่วงต้นปี 2020 ดร.รูธ ก็อตเทสแมน และ ดร.ฟิลิป โซอัวร์ ได้นั่งข้างกันบนเที่ยวบินเช้า 6 โมงไปยังเวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา นั่นเป็นครั้งแรกที่ทั้งคู่ได้ใช้เวลาหลายชั่วโมงร่วมกัน
พวกเขาคุยกันถึงวัยเด็กของแต่ละคน ฝ่ายหญิงเติบโตในบัลติมอร์ ส่วนฝ่ายชายในไนจีเรีย ราว 30 ปีต่อมา ทั้งคู่พบว่ามีหลายสิ่งที่คล้ายคลึงกัน โดยทั้งสองคนมีปริญญาเอกด้านการศึกษา และใช้เวลาทำงานให้กับสถาบันเดียวกันในเขตบรองซ์เพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่ขาดแคลน
ดร.โซอัวร์เล่าเรื่องราวการย้ายมาที่นิวยอร์กโดยไม่รู้จักใครในรัฐนี้ เขาทำงานเป็นแพทย์ในชุมชนเซาท์บรองซ์หลายปีก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของวิทยาลัยแพทย์ ขณะเดินออกจากสนามบิน ดร.โซอัวร์ยื่นแขนประคอง ดร.ก็อตเทสแมน ซึ่งขณะนั้นอายุเกือบ 90 ปี แต่เธอปฏิเสธและบอกให้เขา “ระวังตัวเองเถอะ” เขานึกถึงช่วงเวลานั้นพร้อมกับเสียงหัวเราะเบาๆ
ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา โควิดทำให้โลกหยุดชะงัก สามีของ ดร.ก็อตเทสแมน ซึ่งอายุ 90 กว่าปีติดเชื้อไวรัสตัวใหม่ ส่วนตัวเธอเองก็มีการติดเชื้อแต่ไม่รุนแรง ดร.โซอัวร์จึงส่งรถพยาบาลไปที่บ้านของก็อตเทสแมนในเมืองไรย์ รัฐนิวยอร์ก เพื่อนำตัวพวกเขามาที่โรงพยาบาลมอนติฟิโอเร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในบรองซ์
ในช่วงหลายสัปดาห์ถัดมา ดร.โซอัวร์เริ่มขับรถไปตรวจเยี่ยมทั้งคู่ที่บ้านทุกวัน โดยสวมชุดป้องกันเต็มรูปแบบ ขณะที่สามีของ ดร.ก็อตเทสแมนฟื้นตัว “มิตรภาพของเราพัฒนาขึ้นจากตรงนั้น ผมใช้เวลาเกือบ 3 สัปดาห์เยี่ยมพวกเขาที่ไรย์แทบทุกวัน” เขากล่าว
3 ปีที่แล้ว ดร.โซอัวร์ขอให้ ดร.ก็อตเทสแมนเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการของวิทยาลัยการแพทย์ เธอเคยทำงานนี้มาก่อน แต่ด้วยวัยของเธอทำให้เธอแปลกใจที่ได้รับการทาบทาม การแสดงความไว้วางใจครั้งนั้นทำให้เธอระลึกถึงนิทานเรื่องสิงโตกับหนู เธอบอกกับ ดร.โซอัวร์ว่าตอนที่สิงโตเลือกไว้ชีวิตหนู หนูบอกเขาว่า “สักวันฉันอาจได้ช่วยเหลือคุณก็ได้นะ”
ในนิทานสิงโตหัวเราะเยาะ “แต่ฟิลไม่ได้หัวเราะเยาะ ‘ฮ่า ฮ่า ฮ่า’” เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้ม
เงินทุนและเป้าหมาย: มรดกที่ต่อยอดโอกาสทางการแพทย์
สามีของ ดร.ก็อตเทสแมนเสียชีวิตในปี 2022 เมื่ออายุ 96 ปี “เขาเหลือพอร์ตหุ้น Berkshire Hathaway ไว้ให้ฉันแบบที่ฉันเองก็ไม่รู้มาก่อน” เธอกล่าว คำสั่งที่ได้รับนั้นเรียบง่าย “ทำอะไรก็ได้ที่เธอคิดว่าเหมาะสมแล้วกัน”
มันเป็นภาระอันหนักอึ้งจนเธอเลือกจะไม่คิดถึงมันในช่วงแรก แต่ลูกๆ กระตุ้นให้เธออย่ารอช้าเกินไป
พอเธอหันมาจัดการกับมรดก เธอรู้ทันทีว่าต้องการทำอะไร “ฉันอยากให้ทุนการศึกษานักศึกษาแพทย์ของไอน์สไตน์ เพื่อที่พวกเขาจะไม่ต้องจ่ายค่าเทอม” และมีเงินทุนพอที่จะทำเช่นนั้นไปได้เรื่อยๆ
หลายปีที่ผ่านมาเธอได้สัมภาษณ์ผู้สมัครเข้าเรียนวิทยาลัยแพทย์ไอน์สไตน์มากมาย ค่าเล่าเรียนต่อปีนั้นสูงถึง 59,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 2 ล้านบาท) และหลายคนจบการศึกษาพร้อมหนี้ก้อนโต
อ้างอิงจากข้อมูลของวิทยาลัย เกือบ 50% ของนักศึกษาแพทย์ติดหนี้หลังจบมากกว่า 200,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 7 ล้านบาท) ขณะที่วิทยาลัยแพทย์อื่นๆ ในนิวยอร์กซิตี้ มีแพทย์ที่จบใหม่พร้อมหนี้ระดับนี้ไม่ถึง 25%
เกือบครึ่งหนึ่งของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 ของไอน์สไตน์เป็นชาวนิวยอร์ก และเกือบ 60% เป็นผู้หญิง ขณะที่ประมาณ 48% ของนักศึกษาแพทย์ปัจจุบันเป็นคนผิวขาว, 29% เป็นคนเอเชีย, 11% เป็นคนเชื้อสายฮิสแปนิก และ 5% เป็นคนผิวดำ
ด้วยทุนนี้ นักศึกษาแพทย์ในอนาคตจะไม่ต้องเริ่มต้นเส้นทางอาชีพพร้อมภาระหนี้สิน นอกจากนี้เธอยังหวังว่าทุนนี้อาจช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ใฝ่ฝันจะเป็นหมอจากหลากหลายฐานะสามารถสมัครเข้าเรียนได้
“เรามีนักศึกษาแพทย์ที่ยอดเยี่ยม แต่ทุนนี้จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาอื่นๆ ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจเป็นอุปสรรค จนทำให้พวกเขาไม่กล้าแม้แต่จะคิดฝันเรียนแพทย์” เธอกล่าว
“นั่นคือสิ่งที่ทำให้ฉันดีใจมากเกี่ยวกับการบริจาคครั้งนี้ ฉันมีโอกาสที่จะไม่เพียงแค่ช่วยฟิล แต่ยังช่วยมอนติฟิโอเรและไอน์สไตน์ ในแบบที่จะเปลี่ยนแปลงพวกเขาไปเลย ฉันรู้สึกภาคภูมิใจและถ่อมตนมากที่สามารถทำสิ่งนี้ได้”
ดร.ก็อตเทสแมนไปพบกับ ดร.โซอัวร์ในเดือนธันวาคม เพื่อแจ้งว่าเธอจะบริจาคเงินจำนวนมาก เธอเล่าเรื่องสิงโตกับหนูให้เขาฟัง และอธิบายว่า นี่แหละคือช่วงเวลาของหนู
“ถ้ามีใครบอกว่าจะมอบเงินมากพอที่จะเปลี่ยนโฉมคณะแพทย์ได้ คุณจะทำอะไร” เธอถาม
ดร.โซอัวร์ตอบว่าอาจมีสัก 3 อย่างที่ทำได้
“หนึ่งคือ ปลดภาระค่าเล่าเรียนสำหรับนักศึกษา”
“นั่นเลยค่ะ ที่ฉันอยากทำ” เธอตอบแทรก ทำให้เขาไม่ต้องกล่าวถึงไอเดียที่เหลือ บางครั้ง ดร.ก็อตเทสแมนก็สงสัยว่าสามีผู้ล่วงลับจะคิดอย่างไรกับการตัดสินใจของเธอ
“ฉันหวังว่าเขายิ้มอยู่ ไม่ได้ขมวดคิ้วนะ” เธอกล่าวพร้อมหัวเราะเบาๆ “แต่เขานั่นแหละที่เปิดโอกาสให้ฉันทำสิ่งนี้ได้ และฉันคิดว่าเขาคงมีความสุข อย่างน้อยฉันก็หวังให้เป็นเช่นนั้น”
อย่างไรก็ตามไอน์สไตน์จะไม่ใช่คณะแพทย์แห่งแรกที่ยกเลิกค่าเล่าเรียน ในปี 2018 มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) ประกาศให้ทุนการศึกษาแบบไม่ต้องจ่ายค่าเทอมแก่นักศึกษาแพทย์ และพบว่าจำนวนผู้สมัครเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากนั้น
ไม่ต้องตั้งชื่อทุนเป็นการตอบแทน
ดร.ก็อตเทสแมน ไม่เต็มใจนักที่จะให้ใช้ชื่อของเธอคู่กับการบริจาคครั้งนี้ “ไม่มีใครต้องรู้หรอก” ดร.โซอัวร์เล่าถึงคำพูดช่วงแรกๆ ของเธอ เขายืนกรานว่าเรื่องราวชีวิตของเธออาจสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น “เรามีคนที่ทุ่มเทเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นโดยไม่ต้องการรางวัลหรือการยกย่องเลย”
ดร.โซอัวร์ ตั้งข้อสังเกตว่าราคาค่าเปลี่ยนชื่อคณะแพทย์หรือโรงพยาบาลอาจอยู่ที่ราวๆ 1 ใน 5 ของเงินที่เธอบริจาค ปัจจุบันชื่อของ Cornell Medical College และ New York Hospital มีนามสกุลของ แซนฟอร์ด วีลล์ อดีตผู้นำของ Citigroup อยู่ด้วย ขณะที่โรงพยาบาลของ NYU ก็เปลี่ยนชื่อเป็น Langone Medical Center ตามนามสกุลของ เคน แลนโกน ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Home Depot ทั้งคู่ต่างเคยบริจาคเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเงื่อนไขการบริจาคของ ดร.ก็อตเทสแมน คือ วิทยาลัยแพทย์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์จะไม่เปลี่ยนชื่อเดิม โดย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพอนุญาตให้ใช้ชื่อของเขาตั้งแต่ตอนก่อตั้งวิทยาลัยแพทย์แห่งนี้ในปี 1955
เธอตั้งข้อสังเกตว่าชื่อเดิมนั้นยอดเยี่ยมอยู่แล้ว “เรามีชื่อ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งนั่นระดับพระกาฬเลยนะ”
ภาพ: Watchara Phomicinda / MediaNews Group / The Press-Enterprise via Getty Images
อ้างอิง: