ตลาดหุ้นกู้ในปี 2566 ถือว่ามีเรื่องให้ระทึกตลอดทั้งปี เพราะมีหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ หรือ Default Payment ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ผิดนัดชำระไปจำนวน 7 แห่ง มูลค่ารวมประมาณ 2.23 หมื่นล้านบาท
ช่วงกลางปี 2566 มีเคสโด่งดังทั้งของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK มีหุ้นกู้ 5 รุ่น มูลค่ารวม 9.2 พันล้านบาท ที่เกิดจากผลพวงของการทุจริตภายในบริษัท ส่งท้ายปลายปีด้วยเคสร้อนแรงของ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือ JKN มีหุ้นกู้ 7 รุ่น มูลค่ารวม 3.21 พันล้านบาท จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง จนทั้งสองบริษัทต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการกับศาลล้มละลายกลางเพื่อใช้เป็นทางออก
เริ่มต้นปี 2567 ตลาดหุ้นกู้ก็มีประเด็นให้ต้องระทึกอีกครั้ง หลังมีกระแสข่าวลือว่า บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยที่มีมูลค่างานสูงสุดเป็นอันดับ 1 ซึ่งมี ‘เจ้าสัวเปรมชัย กรรณสูต’ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และยังนั่งเก้าอี้ประธานบริหาร สะพัดออกมาว่าจะขอเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ไป 2 ปี จนล่าสุดวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ITD แจ้งขอเลื่อนจ่ายหนี้หุ้นกู้ 2 ปี ทั้ง 5 รุ่น วงเงินรวม 1.45 หมื่นล้านบาท แลกจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.25-0.50% โดยจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทุกชุดในวันที่ 17 มกราคมนี้ เพื่อขอมติผู้ถือหุ้นกู้ให้โหวตรับในเรื่องนี้เพื่อไม่ให้เกิดภาวะการผิดนัดชำระหนี้
เหตุที่ ITD อ้างถึงในการยืดหนี้ในรอบนี้คือ ช่วงปี 2566 มีปัจจัยภายนอกหลายประการที่กระทบการประกอบธุรกิจ เช่น สถานการณ์สงครามในต่างประเทศ ราคาวัสดุและน้ำมันที่สูงขึ้น และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ต้นทุนการทำงานเพิ่มสูงขึ้น
ปัจจัยการเมืองในประเทศที่ตั้งรัฐบาลล่าช้ากระทบกับโครงการภาครัฐต่างๆ ที่ชะลอตัวลงจากแผนงานเดิม ทำให้บริษัทซึ่งมีงานของภาครัฐเป็นจำนวนมากประสบปัญหาปริมาณงานลดลง ไม่เป็นไปตามประมาณการ ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจคาดหมายได้เหล่านี้ ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องเจรจากับเจ้าหนี้ต่างๆ ของบริษัท ทั้งเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขอผ่อนผันการชำระหนี้และเลื่อนการชำระหนี้ของบริษัทให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท
ขณะที่ดูงบการเงินของ ITD ช่วง 5 ปีย้อนหลังก็ถือว่าย่ำแย่ เพราะขาดทุนมาต่อเนื่อง ก่อนจะเริ่มมามีกำไรในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 แต่ทั้งปี 2566 ยังคงต้องลุ้นตัวเลขที่จะออกมาอีกครั้ง
ย้อนดูงบการเงิน 5 ปี ITD
- ปี 2562 ขาดทุน 37.34 ล้านบาท รายได้ 6.3 หมื่นล้านบาท
- ปี 2563 ขาดทุน 1.1 พันล้านบาท รายได้ 5.5 หมื่นล้านบาท
- ปี 2564 ขาดทุน 155.62 ล้านบาท รายได้ 6 หมื่นล้านบาท
- ปี 2565 ขาดทุน 4.76 พันล้านบาท รายได้ 6.8 หมื่นล้านบาท
- 9 เดือนแรกของปี 2566 มีกำไร 379.05 ล้านบาท รายได้ 5.3 หมื่นล้านบาท
สัญญาณเตือนล่วงหน้า ทริสเรทติ้งหั่นเครดิต ITD
เมื่อปลายปี 2566 ทริสเรทติ้งเพิ่งลดอันดับเครดิตองค์กรของ ITD เป็นระดับ BB+ จากเดิมที่ระดับ BBB- และลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทเป็นระดับ BB จากเดิมที่ระดับ BBB- ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิตคงที่ Negative หรือลบ สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นของบริษัทจากการที่บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างอ่อนแอและมีภาระหนี้สูง
ด้วยสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยในตลาดตราสารหนี้ ทำให้บริษัทหลายแห่งซึ่งรวมถึง ITD เองออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมได้ยากขึ้น ส่วนแผนการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของ ITD ออกไป เช่น โรงงานปูนซีเมนต์และหุ้นที่ถือในเหมืองแร่โพแทชอยู่ในระหว่างดำเนินการ
ส่วนกำหนดเวลาการทำธุรกรรมดังกล่าวก็ยังคงไม่มีความแน่นอน โดยแนวโน้มอันดับเครดิต Negative บ่งบอกว่าอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ ITD อาจได้รับการปรับลดลงต่อไปได้อีกในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า รวมถึงความอ่อนไหวต่อการแข่งขันที่รุนแรงของบริษัทและวงจรขึ้น-ลงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
นอกจากนี้ ITD มีภาระดอกเบี้ยของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2.2 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเกิดจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น
สภาพคล่องตัวเหลือเงินสด 4.6 พันล้านบาท
ITD ยังมีสภาพคล่องที่ตึงตัวอีกด้วย โดย ณ เดือนกันยายน 2566 มีสภาพคล่องของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือ 4.6 พันล้านบาท วงเงินสินเชื่อจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีก 8.2 พันล้านบาท และเงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านบาทต่อปี แต่ ITD มีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้ารวม 2.64 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2 พันล้านบาท เงินกู้จากธนาคาร 2.32 หมื่นล้านบาท และหนี้สินจากสัญญาเช่าและหนี้สินทางการเงินอื่นๆ อีก 1.2 พันล้านบาท ส่งผลให้ ITD เผชิญความยากลำบากในการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อนำไปใช้ทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิม
D/E Ratio พุ่ง 12 เท่า เสี่ยงเบี้ยวหนี้แสนล้าน
ด้านสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย วิเคราะห์ถึงปัญหาของ ITD ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นคือ งบดุลอาจแบกภาระหนี้สินที่มีอยู่จำนวนมากถึง 1.08 แสนล้านบาทไม่ไหว ขณะที่มีส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) อยู่ที่เพียง 8.5 พันล้านบาท มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio: D/E Ratio) พุ่งไปถึงระดับ 12 เท่า
โดยหากแยกก้อนหนี้ทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น แบ่งออกเป็นหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายมีสัดส่วน 50% หรืออยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยแยกออกเป็นหนี้หุ้นกู้ 1.45 หมื่นล้านบาท กับหนี้เงินกู้ธนาคารพาณิชย์อีกราว 3.6 หมื่นล้านบาท สัดส่วนอีก 50% ของหนี้จะเป็นเจ้าหนี้การค้าอีกราว 2.6 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นหนี้ซัพพลายเออร์
หากดูโครงสร้างทางการเงินของ ITD ที่มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (Interest Bearing Debt to Equity Ratio) อยู่ในระดับสูงมากกว่า 5 เท่า จึงมีความเป็นไปได้ยากที่ในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ของ ITD ในวันที่ 17 มกราคมนี้ จะโหวตอนุมัติให้เลื่อนจ่ายหุ้นกู้ไป 2 ปี และหากบริษัทไม่สามารถนำเงินมาคืนหนี้ได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน จนเกิดผิดชำระหนี้ ในที่สุดก็จะก่อความเสี่ยงให้หนี้ทั้งหมดของ ITD 1.08 แสนล้านบาท ซึ่งจะเกิดภาวะผิดนัดชำระทั้งจำนวน เพราะเข้าเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (Cross Default) ทันที ทำให้เจ้าหนี้ทุกรายจะมาขอทวงคืนหนี้ที่ยังไม่ครบกำหนดให้จ่ายคืนก่อนกำหนดด้วย อีกทางเลือกสุดท้ายในการหาเงินมาคืนหนี้คือการเพิ่มทุน ว่าตัวเจ้าของบริษัทจะยอมใส่เงินเพิ่มทุนมาคืนหนี้หรือไม่
ลามแบงก์เจ้าหนี้ส่อตั้งสำรอง 3.6 หมื่นล้านบาท
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันคาดว่าธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ของ ITD กำลังจับตาปัญหาที่เกิดขึ้น แต่การปล่อยกู้เป็นเรื่องสัญญาภายในที่ตกลงเงื่อนไขกันระหว่างสองฝ่าย ซึ่งไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียด แน่นอนว่าหากมีความเสี่ยงที่จะเกิดการผิดชำระหนี้ ธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดที่เป็นเจ้าหนี้ ITD ก็มีความเป็นไปได้ที่จะตั้งสำรองหนี้ทั้งหมด 3.6 หมื่นล้านบาทในงบการเงินไตรมาส 1/67 หากประเมินและวิเคราะห์แล้วว่าหนี้ของธนาคารมีความเสี่ยงที่จะเกิดการผิดชำระหนี้ในอนาคต
ด้าน บล.ธนชาต คาดว่าธนาคารใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) น่าจะมีสัดส่วนปล่อยกู้ให้กับ ITD
สุนทรกล่าวต่อว่า ปัญหาหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้รายอื่นๆ มองว่ามีความเสี่ยงเห็นได้อีกต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัทที่มีภาระหนี้สูง กระแสเงินสดมีปัญหา ธุรกิจมีปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากตลาดหุ้นปัจจุบันอยู่ในช่วงเปราะบางสูง ส่งผลให้ Roll Over ในหุ้นกู้กลุ่มเรตติ้ง BBB ลงมาทำได้ยาก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจไฟแนนซ์ และรับเหมาก่อสร้างกับอสังหาริมทรัพย์ ที่มีการออกหุ้นเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้จากข้อมูล ThaiBMA รายงานกลุ่มอุตสาหกรรมที่ออกหุ้นใหม่มูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก ช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2566 ดังนี้
- อันดับ 1 กลุ่มไฟแนนซ์ มูลค่า 1.67 แสนล้านบาท
- อันดับ 2 กลุ่มพลังงาน มูลค่า 1.36 แสนล้านบาท
- อันดับ 3 อสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 1.22 แสนล้านบาท
ดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบความสามารถจ่ายหนี้
สุนทรยังวิเคราะห์ต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหลักในตลาดหุ้นกู้ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องถึงปีนี้คือสถานการณ์ดอกเบี้ยที่ขึ้นมาในระดับสูง เนื่องจากการวิเคราะห์เพื่อพิจารณาการลงทุนในหุ้นกู้โดยปกติจะดูอัตราส่วนทางการเงินคืออัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) ดังนั้นด้วยภาวะดอกเบี้ยสูง ส่งผลให้เงินลงทุนจะเลือกไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากกว่า ไม่กล้าจะไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มองว่าเสี่ยง ซึ่งอาจชำระคืนหนี้ไม่ได้ในช่วงที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นจนพีค
อีกผลข้างเคียงที่อาจเกิดตามมานอกเหนือจากแวดวงตลาดทุนคือในภาคแรงงาน เพราะ ITD ถือเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่มีมูลค่างานก่อสร้างเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มีการใช้แรงงานจำนวนมาก และยังรับงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นจำนวนมากด้วย ดังนั้นมีโอกาสที่รัฐบาลอาจต้องเข้ามาดูแลปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งกลุ่มแรงงานที่อาจโดนผลกระทบและงานก่อสร้างภาครัฐที่อาจล่าช้าได้ด้วย
โดยจากการตรวจสอบของ THE STANDARD WEALTH พบว่า มูลค่างานก่อสร้างในมือ (Blacklog) ณ สิ้นไตรมาส 3/66 อยู่ที่ประมาณ 2.83 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของขนาดใหญ่ภาครัฐ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน และโครงการอื่นๆ อีกจำนวนมาก โดย ITD มีพนักงาน แรงงาน และถึงวิศวกร รวมกว่า 20,000 คน
ทางเลือกสุดท้ายเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ
ด้านแหล่งข่าวนักวิเคราะห์อีกแห่งกล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ ITD มีความเสี่ยงในการที่จะต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อใช้เป็นทางรอดสุดท้ายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คล้ายกับกรณีของ STARK กับ JKN เพื่อให้เกิดสภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic Stay) เข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูฯ ปรับโครงสร้างหนี้และการลดหนี้ (Hair Cut) เพราะสถานการณ์ปัจจุบันมีความเป็นไปได้ยากที่จะหาเงินมาคืนหนี้ได้สำเร็จ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้น ITD
ThaiBMA ระบุจับมือแบงก์ชาติ-คลังดูแลตลาดหุ้นกู้
สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ITD ที่ล่าสุดขอขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ไปอีก 2 ปีนั้น หน้าที่หลักของ ThaiBMA คือการประสานการทำงานร่วมกับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (Bond Holder Representative) กับผู้ออกหุ้นกู้ (Issuers) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยสื่อสารข้อมูลในการตัดสินใจหรือสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตามขั้นตอนปกติตลอดปี 2566 ที่มีจำนวนหุ้นกู้ที่มีปัญหาเพิ่มขึ้น
สำหรับโครงสร้างการทำงานของ ThaiBMA มีตัวแทนจากทั้ง ธปท. และกระทรวงการคลังร่วมเป็นคณะกรรมการ (บอร์ด) มาเป็นที่ปรึกษาในด้านตลาดตราสารหนี้ เพื่อประสานทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ในปี 2567 จะมีหุ้นกู้ครบอายุจำนวนมาก ถือเป็นเรื่องปกติในตลาดของหุ้นกู้เอกชนของไทย เพราะปัจจุบันตลาดหุ้นกู้เอกชนมีมูลค่าคงค้างรวมประมาณ 4.6 ล้านล้านบาท โดยหากหุ้นกู้เฉลี่ยอายุ 5 ปี ก็จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดราว 9 แสนล้านบาทต่อปี จึงเป็นเรื่องปกติเช่นกัน
ส่วนการจะออกหุ้นหรือไม่ออกเพื่อมาทดแทนของเดิม ขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจ ความจำเป็นของผู้ออกแต่ละราย และการตัดใจของแต่ละบริษัท เพราะโครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นก็อาจตัดสินใจไม่ออกหุ้นกู้มาทดแทนที่ครบอายุ หรืออาจตัดสินใจออกหุ้นกู้ต่อ อีกทั้งช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการออกหุ้นกู้ใหม่ประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี ดังนั้นการที่มีหุ้นกู้ครบกำหนดมากขึ้นจึงเป็นภาวะปกติ
อย่างไรก็ดี ในปี 2566 มีปัจจัยจากสภาวะตลาดดอกเบี้ยที่ยืนในระดับสูง รวมถึงมีตัวเลขของการผิดชำระหนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้น มีผลให้ตลาดมีความระมัดระวังมากขึ้นในการลงทุน ส่งผลให้บริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะต้องมีการบริหารจัดการโครงสร้างการเงินให้ยืดหยุ่นและเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อ แต่เชื่อว่าตลาดหุ้นกู้มีพัฒนาการที่ดี รวมถึงนักลงทุนเองก็มีความเข้าใจการลงทุนดีขึ้นและพิจารณาตัดสินใจความเสี่ยงได้ดีขึ้นจากอดีต
“ทั้งสองฝั่ง คือผู้ระดมทุนคงต้องทำการบ้านมากขึ้นในการอธิบายถึงแผนการใช้เงินจากการออกหุ้นกู้และการนำเงินมาชำระคืนหนี้ ส่วนผู้ลงทุนเองก็ต้องระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น ตัดสินใจบนความเสี่ยงได้ และมีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสมในพอร์ตลงทุน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จับตาหุ้นกู้ ITD ส่อเบี้ยวหนี้ ขอยืดจ่ายหนี้อีก 2 ปี ทั้ง 5 รุ่นวงเงินรวม 1.45 หมื่นล้านบาท
- จับตาหุ้นกู้ครบกำหนด ‘1 ล้านล้านบาท’ ปี 67 กระจุกในกลุ่ม ‘ไฟแนนซ์-อสังหา’ นักวิเคราะห์แนะจับตายอดขายรุ่นอายุ 1-2 ปี