×

‘เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3’ แม้สร้างผลดีต่อธุรกิจโรงแรม แต่หากใครทำการตลาดดีและโปรโมชันแรงก็คว้าประโยชน์ไป

24.09.2021
  • LOADING...
เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3

นับเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลเลือกกระตุ้น ‘ภาคการท่องเที่ยว’ ซึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักของประเทศด้วยการจัดทำ ‘โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3’ และ ‘โครงการทัวร์เที่ยวไทย’

 

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ‘เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3’ น่าจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศและทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมกลับมาคึกคักขึ้นอีก

 

เพราะอย่างเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 1 และ 2 ก็ทำให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวและพักผ่อนมากขึ้น อย่าง MINT ที่มีโรงแรมในไทย 24 แห่ง จากกว่า 500 แห่งทั่วโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กว่า 20-30% ซึ่งหากเป็นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ อัตราการเข้าพักก็จะเต็มหรือเกือบเต็มอยู่หลายโรงแรม

 

“อัตราเข้าพักเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเจอโควิดระลอก 3 ทำให้ตัวเลขลดลงมาเหลือราว 10 กว่าๆ เพราะผู้คนไม่เดินทาง ดังนั้นการมีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 น่าจะเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้คนกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีการฉีดวันซีนที่กระจายไปได้เยอะแล้ว ทำให้เราเชื่อว่าอัตราการเข้าพักน่าจะไม่ต่ำกว่า 2 รอบแรก”

 

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ MINT ยกตัวอย่างว่า การฉีดวัคซีนที่ก้าวหน้าในยุโรปได้ทำให้ธุรกิจโรงแรมกลับมาฟื้นอีกครั้ง โดยอัตราการเข้าพักได้เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จาก 20% กว่าๆ ในช่วงเดือนพฤษภาคม มาเป็น 60% แล้ว 

 

“ดังนั้นเมื่อคนไทยได้ฉีดวัคซีนเยอะขึ้น และประกอบกับการที่ประเทศไทยกำลังจะขยายพื้นที่เปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นในช่วงปลายปี จะเป็นสิ่งที่เข้ามากระตุ้นให้ธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ” 

 

เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา (THE STANDARD)

 

กระนั้นนอกจากปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว ชัยพัฒน์ก็ได้แสดงความคิดเห็นว่า อยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในด้านอื่นๆ เช่น การช่วยเหลือในด้านภาษี ให้ขยายเวลาการนำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิเป็นระยะเวลา 10 ปี แทนที่จะเป็น 5 ปี

 

และการลดอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งถือเป็นการให้ส่วนลดกับผู้บริโภคโดยตรงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ ตลอดจนให้เงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เหมือนกับที่รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปทำอยู่

 

เยียวยาให้มีรายได้

ขณะที่ เอกสิทธิ์ คุณาดิเรกวงศ์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี ให้มุมมองกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ตอนที่รัฐทำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 1 ก็กระตุ้นภาคธุรกิจโรงแรมได้จริงๆ เพราะอัตราการเข้าพักของโรงแรมทั้งประเทศในเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ 25.14% ดีขึ้นไปเรื่อยๆ จนเดือนพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ 35% แต่พอเดือนธันวาคมที่มีระลอกใหม่ก็ลดลงจนถึง 10% ก่อนจะเริ่มฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง โดยเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ 21.5%

 

“ถ้าไม่มีเราเที่ยวด้วยกันอัตราการเข้าพักจะอยู่ที่ 20% ต้นๆ แต่พอมีโครงการก็ดันขึ้นไปถึง 30% กว่าๆ แม้จะไม่ได้ทำให้ธุรกิจโรงแรมมีกำไรเพราะต้องมีอัตราเข้าพักไม่น้อยกว่า 50% แต่อย่างน้อยโครงการนี้ก็ทำให้ธุรกิจโรงแรมมีรายได้เข้ามาบ้าง”

 

โครงการเฟส 3 นี้จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมคึกคักแค่ไหนก็ต้องดูกันต่อไป เพราะอย่างในเดือนกรกฎาคม 2564 ที่มีการล็อกดาวน์ก็ทำให้อัตราการเข้าพักของทั้งประเทศเหลือ 3% ขณะเดียวกันเอกสิทธิ์ก็มองว่าโรงแรมที่ได้รับประโยชน์น่าจะเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ แบบสามารถขับรถส่วนตัวไปเที่ยวเองได้ เช่น พัทยา หัวหิน และเขาใหญ่

 

โดยภาคธุรกิจจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ได้นั้นต้องอาศัยการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งมีการประเมินว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวของไทยอยู่ที่ 3 แสนคน, 14 ล้านคน, 34 ล้านคน และ 40 ล้านคน ในปี 2564-2567 ตามลำดับ

 

“ในปี 2562 รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 19% ของ GDP โดย 1 ล้านล้านบาท มาจากนักท่องเที่ยวชาวไทย และอีก 2 ล้านล้านบาท มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้นแม้รัฐจะใส่เงินเข้าไปกระตุ้น แต่หากต้องการให้ฟื้นจริงๆ คงต้องรอนักท่องเที่ยวต่างชาติ”

 

เอกสิทธิ์ระบุว่า ความท้าทายของการท่องเที่ยวไทยในขณะนี้คือ เมื่อเปิดประเทศแล้วจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ถือเป็นกลุ่มหลักของการท่องเที่ยวไทย (ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.9 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน 11 ล้านคน สร้างเงินสะพัด 5.79 แสนล้านบาท) จะเดินทางเข้ามาในไทยมากน้อยแค่ไหน

 

เพราะทางการจีนเองก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าอยากกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศก่อน ดังนั้นหากเปิดให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศอาจเป็นการขัดนโยบายกันเอง อีกอย่างจีนกำหนดที่จะฉีดวัคซีน mRNA ที่จะผลิตเองให้กับชาวจีนก่อน ซึ่งหากยังไม่ได้ฉีดก็จะเป็นความเสี่ยงให้กับการท่องเที่ยวของไทยเช่นกัน เพราะไม่รู้ว่าจะมีชาวจีนเดินทางเข้ามาในช่วงไหน

 

ขณะที่นักท่องเที่ยวจากยุโรปรวมถึงรัสเซีย (กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รองจากจีน ปี 2562 มีนักท่องเที่ยวรวม 6.7 ล้านคน เงินสะพัด 4.77 แสนล้านบาท) นั้นด้วยความที่ค่อนข้างไกลกับไทย ดังนั้นถ้าราคาไม่ดีจริง เงื่อนไขเยอะ ก็อาจจะทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ลังเลที่จะไม่มา หรือเบนเข็มไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายนนี้เช่นกัน 

 

“นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะไปตุรกีหรือมัลดีฟส์ที่เปิดไปก่อนแล้วก็ได้ และหากเงื่อนไขไม่เยอะก็อาจไปเวียดนามได้ ซึ่งเวียดนามนั้นมีปลายทางที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว”

 

เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3

ภาพ: ธนดล ปิติ (THE STANDARD)

 

เป็นผลดีต่อโรงแรมที่ทำการตลาดดีและลดราคา 

ด้าน มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย ให้ความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 นั้นอาจจะเป็นประโยชน์กับโรงแรมที่ทำการตลาดดีหรือยอมที่จะลดราคาลงไปเยอะ ซึ่งจะทำให้แต่ละโรงแรมได้อานิสงส์ไม่เท่ากันอยู่แล้ว

 

“สมัยก่อนโรงแรมหรูจะไม่ค่อยลดราคาเท่าไร เพราะมองว่าจะไปกระทบกับแบรนดิ้งของตัวเอง แต่วันนี้ทุกโรงแรมต่างทำทุกทางเพื่ออยู่รอด ซึ่งบางแห่งยอมลดราคาลง 50% เป็นอย่างน้อย”

 

นายกสมาคมโรงแรมไทยมองว่าต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปีกว่าธุรกิจโรงแรมจะกลับมาทำ ‘กำไร’ อีกครั้ง ดังนั้นในระหว่างนี้หากมีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4-5 เพิ่มเข้ามาอีกก็จะเป็นผลต่อดีต่อธุรกิจโรงแรม ซึ่งจะทำให้มีรายได้ที่เข้ามาจุนเจือให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

 

นอกจากนี้ มาริสาก็แสดงความเห็นว่า อยากให้รัฐปลดล็อกให้สามารถประชุมในจำนวน 100-200 คนได้ ซึ่งตอนนี้สามารถจัดได้ไม่เกิน 50 คนเท่านั้น ด้วยรายได้จากการจัดประชุมสัมมนาถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้หลักของโรงแรมบางแห่ง อย่างโรงแรมในเมืองรองบางที 70% เป็นรายได้จากการประชุมบวกกับห้องพักด้วยซ้ำ 

 

สำหรับรายละเอียดโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 คือรัฐสนับสนุนค่าโรงแรม 40% (ไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน) สนับสนุนคูปองอาหาร 600 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 40% (ไม่เกิน 2,000 บาท หรือ 3,000 บาท โดยดูตามเงื่อนไขของแต่ละจังหวัด) ส่วนโครงการทัวร์เที่ยวไทยนั้น รัฐสมทบเงินให้ 40% ของราคาแพ็กเกจท่องเที่ยว หรือไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X