วานนี้ (31 ตุลาคม) ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย อิทธิ ศิริลัทธยากร และ อัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางลงพื้นที่บริเวณเขื่อนเพชร ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง และบริเวณสะพานดำ ถนนข้าวแช่ ตำบลคลองกระแซง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย
ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ตนเองและรัฐมนตรีช่วยทั้ง 2 ท่าน รวมถึงอธิบดีกรมชลประทาน และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีและติดตามความพร้อมการรับมือสถานการณ์น้ำท่วม โดยได้รับรายงานจากสำนักงานชลประทานที่ 14 กรมชลประทาน คาดว่าน่าจะเป็นข่าวดีสำหรับพี่น้องชาวเพชรบุรี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำท่วมหรือน้ำแล้งต่างๆ ก็จะไม่ต้องประสบปัญหานั้นแล้ว
ในปีนี้ปริมาณฝนน่าจะไม่สูงตามที่หลายคนคาดการณ์และกังวลไว้ก่อนหน้านี้ โดยปัจจุบันยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 อ่างยังสามารถกักเก็บได้เพิ่มอีกประมาณ 30% ดังนั้นหากมีพายุเข้ามาก็ยังเก็บกักได้ ทั้งนี้ กรมชลประทานแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้ประมาท และเตรียมแผนป้องกันหากเกิดภาวะที่ไม่คาดคิดขึ้น โดยมีขั้นตอนและบูรณาการงานต่างๆ กับท้องถิ่น แผนประชาสัมพันธ์ และเตรียมความพร้อมของเครื่องมือเครื่องจักรที่จะต้องใช้ ตรงนี้มีพร้อมทั้งหมดแล้ว
“ข่าวดีของชาวจังหวัดเพชรบุรีอีกหนึ่งเรื่องก็คือ ในปีนี้ปัญหาน้ำแล้งก็จะไม่มี เพราะปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้ยังเพียงพอที่จะให้พี่น้องชาวเพชรบุรีสามารถทำนาปรังได้อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นก็น่าจะคลายความกังวลว่าปีนี้เมืองเพชรไม่ท่วมและไม่แล้งอย่างแน่นอน” ศ. ดร.นฤมล กล่าว
นอกจากนี้ ศ. ดร.นฤมล ยังกล่าวถึงงบประมาณ 2,500 ล้านบาทเพื่อเยียวยาพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยว่า ในส่วนนี้อยู่ในการกำกับของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งน่าจะเป็นไปตามขั้นตอนที่จะสามารถจ่ายเงินให้กับเกษตรกรได้ในไม่ช้า ในส่วนของงบฟื้นฟูที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. ที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ก็ผ่านคณะอนุฯ ที่ดูรายละเอียดของโครงการฟื้นฟูที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอไปในเรื่องของการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
ขณะนี้ผ่านไปหลายขั้นตอนแล้ว เหลือแค่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (29 ตุลาคม) คาดการณ์ว่าจะมีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาแต่ว่าไม่ทัน จึงคาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีการนำเข้าพิจารณา ซึ่งถ้างบประมาณผ่านลงมาก็น่าจะทันใช้ในช่วงทำนาปรัง