×

สะสมนาฬิกาได้กำไรจริงไหม? จากมุมมองของนักสะสมตัวจริง

30.07.2023
  • LOADING...
สะสมนาฬิกา

นาฬิกาหรูคือของสะสมที่ทำราคาได้หวือหวามากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเคยทำสถิติราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในตลาดมือสองเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว แต่หลังจากนั้นก็ดูเหมือนว่าราคาจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงเรื่อยๆ จากเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัว และอุปทานในตลาดมือสองยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีต จนทำให้ราคาของนาฬิกาแบรนด์ยอดนิยมอย่าง Rolex, Patek Philippe และ Audemars Piguet (AP) อยู่ใกล้ระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีในตลาดรีเซล 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดการสะสมนาฬิกายังคงหอมหวานในเมืองไทย มีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามาลงทุนสะสมเป็นจำนวนมาก แต่จะทำกำไรได้อย่างที่คาดหวังหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

 

สะสมนาฬิกา

 

ในงาน Horological Society of Gaysorn ซึ่งรวบรวมนาฬิกาหรูจากแบรนด์ดังและคอลเล็กชันส่วนตัวของนักสะสมนาฬิกาตัวจริงโดยเกษรวิลเลจ THE STANDARD WEALTH ได้พูดคุยกับ 2 นักสะสม ถึงมุมมองของตลาดนักสะสมนาฬิกาในเมืองไทยและปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแวดวงนาฬิกาหรูของโลก 

 

สะสมนาฬิกา

กิตติโชค อัศดรศักดิ์ นักสะสมนาฬิกาแบรนด์ Rolex 

 

กิตติโชค อัศดรศักดิ์ ชื่นชอบนาฬิกา Rolex ตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น จากการได้เห็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมักจะสวมนาฬิกาแบรนด์นี้เสมอ โดยเริ่มต้นจากเป็นเจ้าของ Rolex Datejust เรือนแรกในราคาหลักแสนบาท จนปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของคอลเล็กชันนาฬิกา Vintage Daytona Tropical ที่ประเมินค่าไม่ได้ และสวมใส่ Rolex Comex ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนาฬิกาที่หายากในหมู่นักสะสม 

 

“ผมคิดว่านักสะสมยุคใหม่ต่างจากยุคเก่าที่การมองคุณค่านาฬิกา คนยุคนี้อาจซื้อมาเพราะมองว่าเหมือนสกุลเงินของเขา สามารถซื้อ-ขายทำกำไรได้ แต่ในยุคของผมเป็นยุคของแพสชัน ผมสะสมนาฬิกาวินเทจเป็นแพสชันของเราอย่างหนึ่ง นาฬิกาโบราณพวกนี้เริ่มจากที่เราซื้อ 4-5 แสนบาท กระโดดเป็น 2-3 ล้าน แบบที่นาฬิกาใหม่ทำไม่ได้ ซึ่งผมไม่ได้หวังว่าจะเก็งกำไรมากๆ แล้วขายทิ้ง แต่มองว่าอนาคตเมื่อส่งต่อให้ลูกหลานก็จะเป็นของที่มีคุณค่ามากๆ ซึ่งในอนาคตถ้าหากเขาอยากจะส่งไปประมูลในบริษัทใหญ่ก็น่าจะได้ราคาค่อนข้างดี”

 

สะสมนาฬิกา

 

สำหรับเขา การซื้อ-ขายนาฬิกาเป็นในรูปแบบการต่อยอดเพื่อซื้อรุ่นที่แพงกว่าและหายากกว่า มากกว่าการทำกำไรในระยะสั้น “ในส่วนของผมคือคนทำธุรกิจอย่างอื่นและสะสมจากความชอบ ซื้อมาใส่สวยๆ มีน้อยเรือนมากๆ ที่จะไม่ใส่เลย เพราะมันเหมือนไม่ได้ชื่นชมนาฬิกา แต่คนยุคนี้อาจซื้อมาเพื่อเก็บและทำกำไร”  

 

เขามองว่าตอนนี้ตลาดนาฬิกาเป็นเรื่องของเงินต่อเงิน ซึ่งถ้าหากมีเงินลงทุนมากก็อาจได้กำไร ทำให้มีผู้ขายนาฬิกาหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นในตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

“บางคนมีเงินลงทุน 10 ล้าน ซื้อนาฬิกาสัก 20 เรือน ถ้าเขาเก่งขายได้ทุกวัน ก็อาจจะทำกำไรได้ หรือบางคนกล้าได้กล้าเสียอาจแค่ขาดทุน 20,000 บาท อนาคตอาจจะกำไร 300,000 บาทก็ได้ อะไรเกิดก็ขึ้นได้ตลอดเวลาเหมือนคริปโตเคอร์เรนซี” 

 

อย่างไรก็ตามความเชื่อที่ว่า ซื้อนาฬิกา Rolex แล้วมีกำไรแน่นอนก็อาจไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป เขายกตัวอย่าง Rolex GMT Sprite นาฬิกาเม็ดมะยมซ้าย ขอบสีเขียว-ดำที่เปิดตัวในตลาดด้วยราคา 1 ล้านบาท ทุกวันนี้ร่วงลงมาที่ 6-7 แสนบาท ซึ่งก็อยู่ที่จังหวะการเข้าซื้อ ไม่ต่างจากการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ 

 

“อย่างคนเล่นหุ้นต้องเข้าให้ถูกตัว ก็เหมือนนาฬิกาควรรู้ว่า Rolex รุ่นนี้ควรเข้าเมื่อไรด้วยเหมือนกัน”

 

สำหรับปรากฏการณ์ราคานาฬิกาหรูในตลาดมือสองปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา กิตติโชคมีความเห็นว่า เกิดขึ้นจากอุปทานที่มากขึ้นของกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่ซื้อเอาไว้เก็งกำไรและปล่อยขายหลังเปิดเมือง 

 

สะสมนาฬิกา

 

“ถ้าไม่รวมปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นราคาของ Rolex วิ่งขึ้นอย่างเดียว ซึ่งตลาดใหญ่คือตลาดจีนที่มีประชากรเป็นพันล้าน ถ้าคนคลั่งนาฬิกามีสัก 20 ล้านคน และคลั่งจริงๆ แบบซื้อทุกรุ่นแค่ 2 ล้านคน ซึ่ง Rolex ผลิตแค่ปีละประมาณ 1 ล้านเรือน อย่างไรก็ไม่พอ และคนจีนมักซื้อนาฬิกาในลักษณะของสินทรัพย์ถือแทนเงินสด เมื่อธุรกิจประสบปัญหาในช่วงโควิดก็เริ่มเอามาขาย ราคาจึงเริ่มไหลลง แต่ก็ยังแพงกว่าราคาขายปลีกอยู่ดี”

 

Subdial Watch Index ของ Bloomberg ที่ติดตามนาฬิกามือสองที่มีการซื้อ-ขายมากที่สุด 50 เรือน รายงานว่า ราคามีการปรับตัวลดลงประมาณ 19% ในช่วง 12 เดือน และราคานาฬิกาที่มีความต้องการสูงยังคงลดลงประมาณ 1% ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ส่วนดัชนีตลาดโดยรวมของ WatchCharts ซึ่งติดตามการซื้อ-ขายนาฬิกาสวิสยอดนิยม 60 เรือน ราคาร่วงลงกว่า 6% นับตั้งแต่ต้นปี 2023 และเกือบ 17% จากปีที่แล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม นาฬิการุ่นยอดนิยมหลายเรือนยังคงมีราคาที่สูงกว่าร้านค้าขายปลีก โดย Rolex 89 รุ่น หรือ 79% มีราคาสูงกว่าร้านค้าปลีก Patek Philippe อยู่ที่ 43 รุ่น คิดเป็น 48% ของทั้งหมด ส่วน AP อยู่ที่ 34 รุ่น คิดเป็น 71% ของทั้งหมด

 

การเข้าถึงยากของนาฬิกาหรูรุ่นยอดนิยมก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้ราคาในตลาดมือสองพุ่งสูงขึ้น โดยอาจต้องใช้ระยะเวลารอคอยนานหลายปีกว่าจะได้เป็นเจ้าของ โดยเฉพาะในแบรนด์ยอดนิยมต่างๆ 

 

สะสมนาฬิกา

ฐิติ ตยางคานนท์ นักสะสมนาฬิกาแบรนด์ Audemars Piguet

 

“มันก็เป็นความจริงว่า กำไรแน่นอนถ้าสามารถซื้อได้จากหน้าร้าน ขึ้นอยู่กับว่าจะได้มาหรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่ก็ไม่ขายกันง่ายๆ โดยเฉพาะแบรนด์ที่ป๊อปปูลาร์ ทำให้ต้องซื้อ-ขายในตลาดมือสอง” ฐิติ ตยางคานนท์ ให้ความเห็น เขาคือนักสะสมอีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบนาฬิกา ด้วยอาชีพวิศวกรจึงชอบเรื่องกลไกเป็นพิเศษ โดยเริ่มสะสมตั้งแต่นาฬิกา Swatch, TAG Heuer, Rolex จนมาถึงนาฬิการะดับ Holy Trinity (3 แบรนด์ผู้ผลิตนาฬิกาหรูที่ยอดเยี่ยมที่สุดจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์) อันได้แก่ Patek Philippe, Vacheron Constantin และ Audemars Piguet  

 

สะสมนาฬิกา


“ส่วนตัวผมแทบไม่ค่อยได้ขาย แต่ติดตามราคาอยู่บ้าง ปกติราคาก็ขึ้นอย่างน้อยก็ตามอัตราเงินเฟ้อ และส่วนใหญ่จะมากกว่าด้วย ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาก็จะขึ้นอยู่ประมาณ 10% สำหรับราคาหน้าร้าน เพราะฉะนั้นเมื่อราคาพื้นฐานขึ้น เจอกับดีมานด์ที่มากกว่าซัพพลายมหาศาล ก็ยิ่งดันให้ราคาขึ้นไป รุ่นที่ฮิตๆ อาจมีราคาคูณสอง” 

 

สะสมนาฬิกา

 

นอกจากราคาที่เพิ่มขึ้น นาฬิกาก็อาจได้ประโยชน์ในเรื่องสภาพคล่องที่ขายได้ในตลาดโลกผ่านบริษัทการประมูลใหญ่ๆ อย่างไรก็ตาม การสะสมนาฬิกาเพื่อทำกำไรอย่างเดียวอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยความผันผวนของตลาดที่แทบไม่ต่างจากสกุลเงินดิจิทัล

 

“ผมคิดว่าถ้าซื้อเพื่อมาใส่แล้วเอ็นจอยก็ไม่ขาดทุนหรอก แต่ถ้าคิดว่าเพื่อมาทำกำไรก็เรียกว่าไม่ง่ายนะ ลงทุนอย่างอื่นอาจจะง่ายกว่า”

 

สำหรับมือใหม่ที่อยากเข้ามาสะสมนาฬิกา ฐิติให้คำแนะนำว่า “ซื้อเรือนที่ชอบและต้องใจเย็น ค่อยๆ สร้างโปรไฟล์ ผมคิดว่าการซื้อสิ่งที่เราชอบ ถึงจะไม่ได้กำไรเป็นตัวเงิน แต่อย่างน้อยๆ ก็ได้กำไรทางจิตใจอยู่ดี” 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising